หลายคนอาจเคยเห็นตอม่อร้างๆ ริมถนนวิภาวดี-รังสิต แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ ‘โครงการโฮปเวลล์’ ที่ตอนหลังถูกล้อเลียนว่าเป็น hope fails หรือ hopeless แต่นึกไม่ออกหน้าตาของมันเป็นอย่างไร
และเชื่อว่า หลายคนก็น่าจะเคยได้ยินการเชื่อมโยงโครงการนี้เข้ากับนักการเมืองชื่อดังจำนวนหนึ่ง ทั้งมนตรี พงษ์พานิช, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ไปจนถึงสุเทพ เทือกสุบรรณ
The MATTER จะขอพาทุกคนนั่งไทม์แมชชีนกลับไปดูกันว่า ตอม่อร้างๆ ที่เห็น เคยเป็นความหวังอันสุกสกาวของคนกรุงเทพฯ ในยุคหนึ่งได้อย่างไร ก่อนที่ฝันนั้นจะสิ้นสุดลงในเวลาไม่นาน พร้อมกับคำเรียกขานตามหน้าสื่อ เรื่อง ‘ค่าโง่หมื่นล้าน’ ในเวลาต่อมา
โครงการโฮปเวลล์ ความจริงแล้วเป็นภาษาปาก ที่เรียกกันจากชื่อบริษัท Hopewell ที่ได้รับงานนี้ แต่ชื่อโครงการจริงๆ ก็คือ ‘โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร’ ลักษณะของโครงการก็คือ การสร้างทางยกระดับ 3 ชั้นคร่อมไปบนทางรถไฟ ชั้นบนสุดเป็นทางด่วน ชั้นกลางเป็นทางรถไฟชุมชน และชั้นล่างเป็นทางรถไฟเดิมของ รฟท. เพื่อลดจุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟ แก้ปัญหาจราจรติดขัด มีระยะทาง 60 กิโลเมตร ใช้งบในการก่อสร้างราว 8 หมื่นล้านบาท
แบ่งเป็น
- ช่วงที่ 1 ยมราช-ดอนเมือง ระยะทาง 18.8 กิโลเมตร (กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2538)
- ช่วงที่ 2 ยมราช-หัวลำโพง-หัวหมาก และ มักกะสัน-แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร (กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2539)
- ช่วงที่ 3 ดอนเมือง-รังสิต ระยะทาง 7 กิโลเมตร (กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2540)
- ช่วงที่ 4 หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ และ ยมราช-บางกอกน้อย ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร (กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2541)
- ช่วงที่ 5 วงเวียนใหญ่-โพธินิมิตร และ ตลิ่งชัน-บางกอกน้อย ระยะทาง 9.1 กิโลเมตร (กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2542)
ข้อดีของโครงการนี้ก็คือ บริษัท โฮปเวลล์ ประเทศไทย จำกัด ของกอร์ดอน วู นักธุรกิจชาวฮ่องกง จะเป็นผู้ออกแบบและจ่ายเงินลงทุนเองทั้งหมด กำหนดเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 8 ปี นับจากเริ่มต้นสัญญาสัมปทานปลายปี 2534 (อายุสัมปทานทั้งหมด 30 ปี) นอกจากนี้ ยังมีสัญญาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนให้ทางการไทยเป็นเงินรวมกว่า 5.38 หมื่นล้านบาท แลกกับการที่บริษัทโฮปเวลล์ฯ จะได้รายได้จากค่าโดยสารรถไฟชุมชนและค่าทางด่วน, หาประโยชน์จากที่ดิน รฟท. กว่า 2 พันไร่, ได้รับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และได้รับการยกเว้นภาษี สำหรับดอกเบี้ยและเงินกู้ระยะยาว ฯลฯ
ฟังดูดีใช่ไหม? เอกชนลงทุนและได้ผลประโยชน์ตอบแทนแบบสมน้ำสมเนื้อ ภาครัฐก็ได้เงินหลายหมื่นล้านบาท แถมยังได้แก้ไขปัญหาจราจร
แต่ภาพฝันในเวลานั้นก็กลายเป็นแค่ฟองสบู่ที่แตกไปในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อทางการไทยเวนคืนที่ดินก่อสร้างส่งมอบให้ล่าช้า ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวจนบริษัทโฮปเวลล์ฯ เริ่มประสบปัญหาสภาพคล่อง จนโครงการเดินหน้าแบบติดๆ ขัดๆ ล่าช้ากว่าที่ควรเป็นอย่างมาก
ก่อนจะพบจุดอ่อนสำคัญภายหลัง ว่ามีการร่างสัญญาสัมปทานให้ภาครัฐเสียเปรียบ คือ ภาครัฐบอกเลิกสัญญาไม่ได้..แต่เอกชนทำได้ จนกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้ต้องเสีย ‘ค่าโง่’ ให้บริษัทโฮปเวลล์ฯ ในเวลาต่อมาถึงกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท !
อย่างที่ไล่มาข้างต้น คือการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ ทั้ง 5 ช่วง ควรจะแล้วเสร็จภายในปี 2542 แต่จนใกล้ถึงเด๊ดไลน์ก็ปรากฎว่า การก่อสร้างมีความคืบหน้าเพียง 13.7% เท่านั้น เป็นเหตุให้รัฐบาลไทยในขณะนั้น ต้องยกเลิกสัญญาสัมปทานในที่สุด
ซึ่งวันที่ยกเลิกสัญญาสัมปทาน คือวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2541
สำหรับรายชื่อนักการเมือง 3 คนที่มักถูกเอ่ยถึงเมื่อกล่าวถึงโครงการโฮปเวลล์
- มนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม ระหว่างปี 2531-2533 (รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) ผลักดันให้เปิดประมูลโครงการ
- สุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.คมนาคม ระหว่างปี 2539-2540 (รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) เป็นผู้เสนอให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการ
- สุเทพ เทือกสุบรรณ รมว.คมนาคม ระหว่างปี 2540-2543 (รัฐบาลชวน หลีกภัย) เป็นเซ็นยกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการ
หลังรัฐบาลบอกเลิกสัญญาสัมปทาน บริษัทโฮปเวลล์ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกระทรวงคมนาคมและ รฟท. ต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดในปี 2551 ให้ทางการไทยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยปีละ 7.5% (รวมเป็นเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท) จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
กลายเป็น ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แทบจะทุกฉบับ !
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐไทยก็ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ที่มีคำตัดสินออกมาในปี 2557 ให้ยกเลิกคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ด้วยเหตุผลทางเทคนิคกฎหมาย เพราะบริษัทโฮปเวลล์ฯ ยื่นฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด คือรัฐบาลไทยบอกเลิกสัญญาสัมปทาน ช่วงต้นปี 2541 มีเวลาในการยื่นฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการตามกฎหมาย คือภายใน 5 ปี หรือต้องไม่เกินต้นปี 2546 แต่บริษัทโฮปเวลล์ฯ ยื่นฟ้องช่วงปลายปี 2547
จึงน่าสนใจว่า ศาลปกครองสูงสุดจะอ่านคำตัดสิน ‘คดีค่าโง่โฮปเวลล์’ ไปในทางใดกันแน่ แต่ที่แน่ๆ นี่คือ final judgement จริงๆ อุทธรณ์หรือฎีกาไม่ได้แล้ว
จะต้องใช้เงินภาษีนับหมื่นล้านบาทไปจ่ายค่าโง่โครงการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือที่สุดแล้วบริษัทโฮปเวลล์ฯ จะแพ้ฟาล์ว ไม่ได้เงินไปแม้แต่บาทเดียว – อีกไม่นานจะได้รู้ผลกันแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
– ไทยรัฐ [1] [2] ย้อนทามไลน์โครงการ และภาพประกอบ
– สนุกดอทคอม ภาพประกอบ
– วิกิพีเดีย รายละเอียดทั่วไปของโครงการ
– คมชัดลึก รายละเอียดการก่อสร้าง 5 ช่วงของโครงการ
– สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สรุปมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด