‘ตำรวจไทยผู้ไม่เกรงกลัว’ คือชื่อสารคดีชิ้นล่าสุด – และน่าจะพอบอกได้ด้วยว่าเป็นคำยกย่อง – ของรายการ 101 East โดยสำนักข่าว Al Jazeera ที่เกี่ยวกับเส้นทางการทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาของ ‘พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์’ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และหัวหน้าทีมสอบสวนในขณะนั้น จนนำมาสู่การลี้ภัยของตัวเขาเอง
“มันไม่ใช่แค่ตำรวจน้ำดีหนึ่งคนติดตามจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์เท่านั้น แต่นี่จะเป็นเรื่องราวที่คลาสสิกมากๆ ของการที่มีชายหนึ่งคนลุกขึ้นเผชิญหน้ากับเผด็จการและผู้มีอำนาจ” พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และอีกหนึ่งคนสำคัญที่พยายามเปิดโปงเรื่องราวที่ปวีณต้องเจอ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้กับ Al Jazeera
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเส้นทางชีวิตของปวีณจึงน่าศึกษา เพราะเป็นตัวอย่างชั้นดีที่สะท้อนให้เห็นภาพมุมกลับว่า แม้จะตั้งใจทำหน้าที่ด้วยความสุจริต แต่หากผู้มีอำนาจไม่ถูกใจ ก็อาจจะต้องลงเอยด้วยผลลัพธ์อย่างการลี้ภัยในต่างแดน – ดังที่ตัวเขาเองก็เคยตัดพ้อว่า ‘รางวัลของการทำเพื่อประเทศชาติ’ กลับกลายเป็นการลี้ภัย ที่เขาต้องทำเพื่อเอาชีวิตรอด
The MATTER จึงขอนำเรื่องราวชีวิตและการทำงานของ ‘พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์’ ทั้งที่มีการเปิดเผยในเอกสารคำให้การเพื่อขอลี้ภัยกับออสเตรเลีย และบทสัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ โดยเฉพาะกับ Al Jazeera มาสรุปให้อ่านกันอีกครั้ง
1.
ปวีณ พงศ์สิรินทร์ วัย 64 ปี เกิดเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2501 เริ่มเข้าสู่อาชีพตำรวจหลังจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเมื่อปี 2525 และใช้เวลาราชการส่วนใหญ่ในภาค 8 และภาค 9 ที่ภาคใต้ของไทย เขาจริงจังกับการทำงานมาโดยตลอด และได้ทำคดีที่สำคัญๆ อย่างเช่น คดีทุจริตโรงพักเมื่อปี 2556 ที่เกี่ยวข้องกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
2.
แต่จุดเริ่มต้นของมหากาพย์ที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2558 หลังจากที่มีการตรวจพบค่ายคุมขังและหลุมศพชาวโรฮิงญาของขบวนการค้ามนุษย์ ที่เทือกเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ปวีณซึ่งเป็น รอง ผบช.ภ.8 ได้ขณะนั้น ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมสืบสวน
ปวีณเล่ากับ Al Jazeera ถึงคำสั่งที่เขาได้รับมอบหมายในขณะนั้นว่า “ผมไม่อยากมาทำ ผมไม่อยากจะทำให้ผมเจอปัญหาอะไรต่างๆ อีก แต่เนื่องจากเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งผมโดยตรง ผมจึงปฏิเสธไม่ได้”
3.
แต่พอได้มาทำคดี ก็ปรากฏว่า ทีมสืบสวนของปวีณก็ต้องทำงานแข่งกับอีกทีมด้วย ซึ่งอยู่ภายใต้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา และถูกกำชับว่าจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลหรือหลักฐานระหว่างกัน ซึ่งปวีณมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างมาก และคาดว่า อาจเป็นได้ว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ต้องการผลงานเพื่อเลื่อนขั้นเป็น ผบ.ตร. หรือไม่ก็มีพรรคพวกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ จึงไม่อยากให้เรื่องถูกเปิดโปง
4.
อย่างไรก็ดี ปวีณก็ยังคงพยายามรวบรวมหลักฐานด้วยทีมของตัวเอง กระทั่งได้มาพบกับเครือข่ายค้ามนุษย์ที่มีทั้งนักธุรกิจ นายทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และนักการเมืองท้องถิ่น จนสามารถออกหมายจับได้ 153 หมาย และที่สำคัญที่สุดคือได้ออกหมายจับ พล.ท.มนัส คงแป้น นายทหารระดับสูง เมื่อวันที่ 31 พ.ค. อิงจากหลักฐานสลิปโอนเงินที่ได้มาจากการค้นบ้านพักของผู้ต้องหาค้ามนุษย์
ปวีณเล่าว่า เขาต้องขอศาลจังหวัดนาทวีออกหมายจับ พล.ท.มนัส ถึง 2 ครั้ง กว่าศาลจะอนุมัติ เขายังเล่าอีกด้วยว่า “ครั้งแรกเลย ผู้พิพากษาเนี่ย ตกใจกลัวมาก ตัวสั่นไปหมดเลยครับ ถามว่า คุณไม่กลัวเหรอ คุณเป็นนักเรียนนายร้อยหรือเปล่า”
5.
นี่น่าจะเป็นจุดที่ปวีณเริ่มรู้ตัวว่าตัวเองกำลังต้องเจอกับภัยคุกคามจากผู้มีอำนาจ เพราะหลังจากนั้น เขาก็ได้รับติดต่อมาจากนายตำรวจที่ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพูดกับเขาว่า พล.อ.ประวิตรต้องการจะรู้ว่า พล.ท.มนัส จะได้รับประกันตัวหรือไม่หากเข้ามอบตัว ปวีณก็ได้ตอบกลับว่า คดีนี้เป็นคดีร้ายแรง ไม่สามารถให้ประกันตัวได้
และแม้ พล.ท.มนัส จะเข้ามอบตัวด้วยตนเองกับ พล.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. แต่ก็พบว่า เขาได้รับการปฏิบัติอย่างดีเยี่ยงวีไอพี แม้กระทั่งในเรือนจำ ปวีณก็เล่าว่า พล.ท.มนัส ได้รับอนุญาตให้เดินไปไหนก็ได้ เนื่องจากยศตำแหน่งและเส้นสายของเขา ซึ่งกระทบกับรูปคดีด้วยเพราะเขาสามารถเดินเข้าไปข่มขู่พยานได้ถึงในห้องสืบพยาน โดยที่ไม่มีใครห้าม
6.
ปวีณเล่าในเอกสารคำให้การเพื่อขอลี้ภัยไปยังออสเตรเลียว่า พล.ท.มนัสได้ฝากส่งข้อความมาหาตัวเขาว่า “ผมไม่ใช่ตะเกียงที่ไม่มีน้ำมัน ผมยังมีเพื่อนอีกหลายคน ผมจะสู้จนถึงที่สุด คุณควรระวังตัวให้มาก”
หลังจากนั้น ปวีณยังได้รับคำเตือนอยู่อีกหลายครั้ง เคยมีผู้บัญชาการสำนักงานจเรทหารเตือนเขาว่า พล.ท.มนัส เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ประวิตร ขณะที่รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจในขณะนั้นก็ได้เตือนเขาว่า กองทัพไม่พอใจอย่างมากที่เขาจับกุม พล.ท.มนัส
แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่พอใจกับการทำงานของปวีณ จากที่เขาได้รับคำเตือนจากผู้บัญชาการตำรวจภูธร จ.ภูเก็ต ในขณะนั้น
7.
จนมาถึงช่วงสิ้นเดือน ก.ย. 2558 ทีมสืบสวนของปวีณก็ถูกบีบบังคับให้ยุติลง เนื่องจากขาดการสนับสนุนทั้งในแง่การเงินและการเมือง แม้ปวีณจะบอกว่า ยังมีงานเหลืออีกเยอะที่ต้องทำ และตัวเขาเองก็ยังต้องการที่จะทำอยู่ก็ตาม แต่หลังจากที่การสืบสวนสิ้นสุดลง ปวีณก็เปิดเผยว่า กองทัพยังคงไม่พอใจอยู่มาก ที่เขาจับกุมตัว พล.ท. มนัส และนายทหารคนอื่นๆ
8.
จุดพลิกผันมาถึงในวันที่ 21 ต.ค. 2558 เมื่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (สง.ก.ตร.) ออกคำสั่งย้ายปวีณไปยังศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ที่มีการปฏิบัติงานอยู่ใน จ.ยะลา ซึ่งทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง เพราะเป็นพื้นที่ที่ควบคุมโดยผู้มีอำนาจ รวมถึงเครือข่ายค้ามนุษย์ที่หมายเอาชีวิตเขาด้วย
ปวีณพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ต้องถูกย้ายไปจังหวัดชายแดนใต้ เขาขอกระทั่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ให้ทบทวนคำสั่งย้าย เนื่องจากรู้สึกหวาดกลัวกับความปลอดภัยของชีวิตตัวเอง แต่ก็ไม่เป็นผล
9.
สุดท้ายเขาตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 5 พ.ย. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2558 – เมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้โดยนักข่าว Al Jazeera ปวีณถึงกับเสียน้ำตา พร้อมบอกว่า “ผมเสียใจนะครับตอนนั้น ยังไม่อยากที่จะลาออก ผมรู้ว่า นี่คือรางวัลที่ทำเพื่อประเทศชาติ สิ่งที่ผมได้รับรางวัล คือสิ่งนี้”
10.
แต่หลังจากยื่นหนังสือลาออกไม่กี่วัน เขาได้รับการติดต่อจากผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บอกว่า วังต้องการให้เขาเข้ามาทำงาน ซึ่งทำให้เขารู้สึกสันสน เพราะไม่เคยทำงานรับใช้วังมาก่อน
จากนั้น เขาได้รับข้อเสนอให้เลือกว่า จะทำงานในตำแหน่งใหม่ คือ รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อรับผิดชอบคดีลักลอบค้ามนุษย์ หรือจะเลือกปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยภายใต้ฝ่ายราชองครักษ์ ปรากฏว่า ปวีณเลือกที่จะทำงานของตัวเองต่อให้สำเร็จ นั่นคือ การทำคดีค้ามนุษย์ ซึ่งขณะนั้นก็ไม่มีใครโต้แย้งอะไร
ต่อมา วันที่ 12 พ.ย. เขาจึงได้เข้าพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เพื่อถอนหนังสือลาออก เปิดทางให้เขาทำหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
11.
แต่ยังไม่ทันไร วันต่อมา เขาก็ถูกเรียกพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ อีกครั้ง ซึ่งจากที่เขาระบุในคำให้การเพื่อขอลี้ภัย พล.ต.อ.จักรทิพย์ได้บอกกับเขาว่า “พี่กับผมไม่มีอะไรกันนะครับ พี่ต้องลาออก แล้วอยู่เงียบๆ”
ปวีณตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และรู้สึกสงสัยอย่างมากกับสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เขาคาดว่า ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นการจัดฉาก เพื่อให้ดูเหมือนกับว่า เขาจาบจ้วงสถาบันที่ไม่ยอมรับข้อเสนอในการทำงานรับใช้วัง เพื่อยัดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้กับเขา
เขาจึงตัดสินใจเดินทางออกจากกรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายคือขอลี้ภัยไปยังออสเตรเลีย ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 2558
12.
เมื่อมาถึงออสเตรเลีย ปวีณต้องประสบปัญหากับการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก จากที่ไม่เคยรู้ภาษาอังกฤษมาก่อน เขาเปรียบเทียบตัวเองว่าเหมือนกับผู้ที่หนีภัยสงคราม ต้องมาเรียนภาษาและทำงานหาเลี้ยงชีพเหมือนคนทั่วไป โดยที่ไม่เคยเตรียมตัวมาก่อน
เขาเล่ากับ Al Jazeera ว่า ก่อนหน้านี้ต้องทำงานเป็นแรงงานในเรือนเพาะชำพืช ก่อนจะย้ายมาทำงานในโรงงานทำเบาะรถยนต์ แถบชานเมืองกรุงเมลเบิร์น โดยมีหน้าที่คือ ติดกระดุมบนเบาะ
ปวีณเปิดใจว่า “จะว่ายากก็ยาก แต่มันไม่มีทางเลือก อีกอย่างหนึ่ง เราต้องยืนอยู่บนขาตัวเองให้ได้” แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีมิตรสหายที่เป็นพยาบาลจิตเวชและได้ย้ายมาอยู่ออสเตรเลียเมื่อ 20 กว่าปีก่อน คอยให้ความช่วยเหลือ
เขาเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกในฐานะผู้ลี้ภัยว่า “จะบอกว่าไม่เสียใจ มันก็โกหกตัวเอง ผมก็มีความเสียใจ มันว้าเหว่ มันห่างไกลครอบครัว คนที่เรารัก มันรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง และวังเวงมากบางครั้ง แต่มันก็ต้องผ่านตรงนี้ไปให้ได้”
13.
ปวีณยังบอกอีกว่า ช่วงเวลาที่ลี้ภัย เขาจะกลับไปคิดถึงงานสืบสวนที่ทำตลอด เพราะถือว่าเป็นงานที่ค้างคา ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ “ในบางครั้งบางเวลา ก็หวนไปคิดถึงงานเก่าๆ ที่เคยทำมา โดยเฉพาะคดีสุดท้ายที่ทำ นึกอยู่ตลอดเวลา มารบกวนจิตใจอยู่ตลอด” ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเรื่องที่เปลี่ยนชีวิตของเขา ‘จากหน้ามือเป็นหลังมือ’
“เพราะคดีนี้มันยังไม่จบ และที่ทำไปมันก็ยังไม่สมบูรณ์ และผมไม่อยากเห็นคนมาเป็นทาส ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกของผมมาก ผมคาดการณ์ไม่ถูก แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือว่า ผมได้นำความจริงที่ประสบพบเจอ เล่าสู่สังคมประเทศไทย รวมทั้งคนทั่วโลกได้รับรู้” เขาเล่า
14.
จนถึงวันนี้ ปวีณใช้ชีวิตในออสเตรเลียมาแล้วกว่า 6 ปี ก่อนที่เรื่องราวของคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาที่เขาทำจะกลับมาเป็นที่รับรู้ในสังคมไทยอีกครั้ง หลังจากที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นำเรื่องนี้มาเป็นหัวข้ออภิปราย ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565
ภายหลังจากที่มีการอภิปราย ปวีณเปิดใจในงานแถลงข่าวของพรรคก้าวไกลในวันต่อมาว่า “วันนี้เป็นวันที่ผมมีความสุขที่สุดวันหนึ่ง มันเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ติดค้างคาอยู่ในใจ ที่สร้างความทุกข์ระทมขมขื่น ทั้งเครียด กลัว และทุกข์ร้อนจิตใจ นับตั้งแต่หลบหนีออกจากประเทศไทย
“จนถึงวันนี้ นานถึง 6 ปี 3 เดือน 3 วัน จากการที่ผมปฏิบัติหน้าที่และถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รัฐบาล รวมทั้งผู้มีอำนาจ เพราะเรื่องราวทั้งหมดได้รับการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาให้คนไทยและทั่วโลกได้รับทราบ”
15.
หลังจากนี้ ความฝันสูงสุดของเขา ก็คือการได้กลับประเทศไทย แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน แน่นอนว่าคงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก กระทั่งล่าสุด Al Jazeera รายงานอีกว่า หลังจากที่มีการเปิดโปงเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาวางกำลังอยู่บริเวณนอกบ้านของพ่อของเขา โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของครอบครัว
เรื่องนี้ ปวีณเปิดใจว่า “ผมอยากกลับบ้าน ในความรู้สึกที่แท้จริง ผมอยากกลับบ้าน แต่เมื่อพิจารณาถึงนายกรัฐมนตรี และ ผบ.ตร. ที่มีพฤติกรรมที่ผ่านมานั้น ไม่มีความน่าเชื่อถือใดๆ ทั้งสิ้น”
อ้างอิง