หลังฟังคำอภิปรายของ จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล คืนวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 วาระแรก ถึงการที่กองทัพบกได้ควักเงินภาษี 7.57 ล้านบาท ให้ไปตรวจสอบเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ในราคา ‘เครื่องละ 1 หมื่นบาท’
เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงเลิกคิ้วสงสัยว่า จะตรวจไปทำไม เพราะเครื่องนี้ ใครๆ ก็รู้กันอยู่ว่าเป็นของปลอม ใช้งานอะไรไม่ได้ เป็นกล่องพลาสติกเปล่าๆ ไม่มีวงจรอะไรเลยทั้งนี้ หรือที่ใครต่อใครเรียกกันว่าเป็น ‘ไม้ล้างป่าช้า’
ผู้สื่อข่าว The MATTER ลองค้นข้อมูลดู และพบเอกสารฉบับหนึ่งของกรมสรรพาวุธทหารบก เป็นเอกสารรายละเอียดประกอบการจ้าง ‘ตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT200)’ ให้ข้อมูลที่น่าจะตอบคำถามข้างต้นไว้ดังนี้
เหตุผลในการใช้เงินภาษีตรวจสอบ GT200 ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า เป็นของปลอม ใช้งานไม่ได้ เอกสารดังกล่าวระบุว่า “..เป็นการจ้างตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของ GT200 เพื่อประกอบการดำเนินคดีศาลปกครองกลาง กรณีฟ้อง (ชื่อบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง) เรื่องผิดสัญญาขอให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย..”
โดยขั้นตอนและวิธีการในการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของ GT200 มีดังนี้
1.) กระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ 3 ลักษณะ
- การวัดประจุไฟฟ้าสถิต (electrostatic measurement) ที่สะสมบนพื้นผิวของเครื่อง GT200 โดยใช้เครื่องมือวัดประจุไฟฟ้าสถิตที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
- การวัดการแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic wave) ออกจากตัวเครื่อง
- การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง โดยการเปลี่ยนชนิดสารต่างๆ
2.) วิเคราะห์ข้อมูลผลการตรวจวัดประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่อง GT200 เปรียบเทียบกับผลการทดสอบที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้
3.) การผ่าเครื่องพิสูจน์ และตัวการ์ด เพื่อตรวจสอบว่าภายในเครื่อง GT200 มีอุปกรณ์ประกอบอะไรบ้าง
4.) สรุปผลและการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง GT200 และออกรายงาน
ที่มา: https://ordnance.rta.mi.th/images/imagefoenewtemplate_ed/Invita_img/Wittayakarn_Aun/011264/1053.pdf
โดยผู้ที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำการทดสอบ GT200 ทั้งหมด ก็คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
#Brief #TheMATTER