หลังมีการรายงานเหตุเครื่องบินรบ MiG-29 ของทหารเมียนมา บินรุกล้ำเข้ามายังฝั่งไทยในบริเวณบ้านวาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก เมื่อวานนี้ (30 มิ.ย. 2565) เหตุการณ์ดังกล่าวก็สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในพื้นที่ จนกลายเป็นความโกลาหลตามมา
กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ในวันนี้ (1 ก.ค. 2565) ว่า เป็นแค่การ ‘ตีวงเลี้ยว’ ของเครื่องบินรบเมียนมา และ ‘ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต’ ก็เกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างตลอดทั้งวัน
เกิดอะไรขึ้นที่ อ.พบพระ? แท้จริงแล้วรัฐไทยตอบสนองอย่างไร? The MATTER สรุปรวบยอดสถานการณ์ทั้งหมดมาให้อ่านกัน
1.
สำหรับสถานการณ์โกลาหลในฝั่งไทยทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นจากการที่เมียนมาได้ส่งเครื่องบินรบล้ำมายังฝั่งไทย เมื่อช่วงเวลา 11.00-12.00 น. วันที่ 30 มิ.ย. 2565 มีรายงานว่า เครื่อง MiG-29 ของกองทัพเมียนมา ได้บินเข้ามาลึกถึงบริเวณบ้านวาเล่ย์ใต้และบ้านวาเล่ย์เหนือ อ.พบพระ จ.ตาก ประมาณ 4-5 กิโลเมตร จนมองเห็นได้ เป็นเวลาประมาณ 15 นาที
ขณะที่เพจเฟซบุ๊กด้านการทหาร ThaiArmedForce ได้แพร่ภาพวิดีโอ เครื่องบิน MiG-29 ที่บินอยู่เหนือน่านฟ้าไทย พร้อมกับคำบรรยายว่า “เราจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์ RD-33 และปืนกล GSh-30-1 อย่างชัดเจน”
2.
คำบอกเล่าจากชาวบ้านในหมู่บ้านวาเล่ย์ใต้ ระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เครื่องบินของทหารเมียนมาล้ำเข้ามาในน่านฟ้าเขตไทย และบินต่ำเข้ามาใกล้หลังคาบ้านจนทำให้ชาวบ้านไทยหวาดกลัว เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านพากันหลบภัยในหลุมหลบภัยของหมู่บ้าน
ขณะที่โรงเรียนบ้านวาเล่ย์ใต้ได้ประกาศหยุดเรียนทันที และประกาศให้ผู้ปกครองมารับบุตรหลานกลับบ้าน ทั้งนี้เนื่องจากพบว่ามีเครื่องบินรบบินผ่านหลังคาอาคารเรียน ส่วนโรงเรียนบ้านวาเล่ย์เหนือได้ส่งสัญญาณให้นักเรียนหนีไปยังหลุมหลบภัยของโรงเรียน
ด้านเจ้าหน้าที่ทหารไทย มีรายงานว่า ขณะเกิดเหตุ ก็ได้แต่ยืนมอง ไม่สามารถทำอะไรได้ รวมถึงไม่มีเครื่องบินของไทยออกไปป้องกันน่านฟ้าได้
3.
ต่อมา พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ ได้แถลงข่าวว่า กองทัพอากาศ (ทอ.) ได้มีคำสั่งให้เครื่องบิน F-16 จำนวน 2 ลำ ขึ้นบินลาดตระเวนรบทางอากาศ บริเวณแนวชายแดน อ.พบพระ ทันที พร้อมทั้งได้สั่งให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ ย่างกุ้ง ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4.
พล.อ.ต.ประภาส ยังได้แถลงเพิ่มเติมอีกว่า จากการวิเคราะห์และดูจากสถานการณ์ ไม่พบว่าจะมีการบินเข้ามาในลักษณะของภัยคุกคาม เพราะเจตนาไม่ได้พุ่งตรงปักหัวมาทางทางเรา เพราะหากว่าเขายังไม่ล้ำแดนเข้ามา เราก็ยังไม่สามารถปฏิบัติการใดๆ ได้ เพราะจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อกัน
“กระทั่งเราเห็นการใช้อาวุธของเครื่องบินรบเมียนมาแล้วมีการบินม้วนตัวเข้ามาในเขตไทย ซึ่งบริเวณชายแดน อ.พบพระ ตรงจุดที่บินม้วนนั้นจะเป็นจงอยยืนไป จึงได้สั่งการให้นำเครื่องบิน F-16 จำนวน 2 ลำ จาก อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว ขึ้นบินถึงพื้นที่ อ.พบพระ ภายใน 5-10 นาที”
เครื่องบิน F-16 ทั้ง 2 ลำของไทยนั้น ได้ออกปฏิบัติการบินเตือน โดยที่ MiG-29 ของเมียนมา ก็เข้าไปในเขตเมียนมาแล้ว “และพบว่า เป้าหมายได้จายหายไปจากระบบเรดาร์เฝ้าตรวจการณ์ของกองทัพอากาศ” พล.อ.ต.ประภาสแถลง
5.
แต่ทำไมเมียนมาจึงต้องส่งเครื่องบินรบขึ้นบิน? เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนไปถึงบริบทของสถานการณ์ในพื้นที่
สำนักข่าว The Irrawaddy รายงานว่า กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งประกอบด้วยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) และกลุ่มอื่นๆ กำลังปฏิบัติการทางทหาร โจมตีค่ายอูเกรทะของฝั่งเมียนมาในเมืองเมียวดี ซึ่งอยู่ตรงข้าม อ.พบพระ มาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 26 มิ.ย. 2565
ขณะที่โฆษกกลุ่ม ‘คอบรา คอลัมน์’ (Cobra Column) ซึ่งร่วมรบกับฝ่ายกะเหรี่ยง ได้ระบุช่วงบ่ายวานนี้ (30 มิ.ย. 2565) ว่า กองทัพอากาศเมียนมาก็ตอบโต้ด้วยการโจมตีอย่างหนักหน่วงขึ้น โดยมีเครื่องบินรบ YAK ออกโจมตี 9 ครั้ง เครื่องบิน MiG-29 โจมตี 5 ครั้ง และเฮลิคอปเตอร์ MI-17 ออกบินส่งกำลังเสริม 5 ครั้ง ภายในวันเดียว
“พวกเขาต้องออกแรงปกป้องอย่างหนัก และใช้กำลังอย่างมาก เพื่อรักษาหน้าเอาไว้” โฆษกคนดังกล่าวเปิดเผยกับสำนักข่าว The Irrawaddy
6.
กลับมาที่ฝั่งไทย ปฏิกิริยาการรับมือของไทยกับการบินรุกล้ำน่านฟ้า ก็ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาจนถึงวันนี้ (1 ก.ค. 2565) หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในช่วงเช้าว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ‘ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต’
พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า ได้มีการประสานไปยังเมียนมาแล้ว ซึ่งยอมรับว่ารุกล้ำและขอโทษ ระบุว่า ไม่ได้ตั้งใจจะมีปัญหา แต่ต้องตีวงเลี้ยว จึงล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยเล็กน้อย
ทั้งนี้ ทูตทหารได้มีการพูดคุยกันแล้ว รวมถึงตนก็ได้คุยกันแล้ว นี่เป็นเรื่องที่มองดูอาจเป็นเรื่องใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำให้เรื่องใหญ่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีกหรือไม่ วันนี้เราก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่แล้ว และเราเองมีสมรรถนะพอเพียงที่จะป้องกันอธิปไตยของเราไว้ได้
7.
นอกจากนายกฯ เอง ก็มีหลายฝ่ายที่ออกมาชี้แจงในวันนี้ เริ่มจาก พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่บอกว่า “ผมก็เหมือนกับทุกท่าน ผมก็เดือดเหมือนกัน บางทีอาจจะเดือดกว่าพี่น้องประชาชนอีกด้วย
“สิ่งที่เราดำเนินการไปแล้ว เราได้ประสานติดต่อกับผู้บังคับบัญชาระดับสูง ของกองทัพอากาศเมียนมา เพื่อขอให้กำกับดูแล ให้การปฏิการณ์อะไรก็แล้วแต่ ในเขตแดนของท่าน ขอให้อยู่ในขอบเขต อย่าได้ล่วงล้ำเข้ามา ซึ่งผมก็ได้รับทราบ ถึงคำขอโทษ และเหตุผล”
พล.อ.อ.นภาเดช ยังแสดงความเห็นถึงกรณีนี้ด้วยว่า “เมียนมาคือเพื่อน ถ้าเพื่อนพลั้งเผลอเดินตัดสนามหน้าบ้านแล้วเราจะไปยิงเขาตายเลย ก็เกินไป”
8.
ด้าน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ได้สัมภาษณ์ อธิบายสาเหตุที่เครื่องบินรบเมียนมารุกล้ำเข้ามาว่า พื้นที่บริเวณ อ.พบพระ เป็น ‘จะงอยแคบๆ’ ซึ่งยื่นเข้าไปในฝั่งเมียนมา
“เหตุการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างไทยกับเมียนมา แต่เป็นเรื่องภายในประเทศเมียนมาเอง แล้วส่งผลกระทบกับไทย เราจึงต้องประท้วงไปตามขั้นตอนของหน่วยงานทุกระดับชั้น ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว” พล.อ.สุพจน์ชี้แจงเพิ่มเติม
9.
ทางฝั่งที่วิพากษ์วิจารณ์ ก็มีพรรคก้าวไกล นำโดย มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตั้งข้อกังขาอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน ประการแรก เขาตั้งคำถามว่า กองทัพไทยเปิดโอกาสให้เมียนมาบินเข้ามาเพื่อโจมตีกลุ่มผู้ต่อต้านโดยรุกล้ำน่านฟ้าไทยถึง 3 ครั้งได้อย่างไร
ประการที่ 2 มีการรู้เห็นเป็นใจปล่อยให้เครื่องบินรบเข้ามาหรือไม่ เพราะก่อนเกิดเหตุ 1 วัน ปรากฏภาพแม่ทัพภาคที่ 3 ประชุมพูดคุยกับผู้นำรัฐบาลเมียนมาที่กรุงเนปิดอว์ รวมถึงน่าสงสัยว่าจะใช้เหตุนี้เป็นเหตุผลซื้อเครื่องบินรบใหม่หรือไม่
และประการที่ 3 ไทยยังไม่มีท่าทีที่เหมาะสมในการรับมือกับความรุนแรงจากรัฐบาลทหารเมียนมา ในฐานะที่ไทยและเมียนมาเป็นประเทศสมาชิก ASEAN ไทยก็ควรมีบทบาทในการเสนอแนวทางยุติความรุนแรงผ่านเวทีดังกล่าว
10.
ด้าน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตถึงคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ในลักษณะคล้ายคลึงกันว่า “พล.อ.ประยุทธ์คิดว่าตัวเองเป็นใครในประเทศนี้ ถึงอธิบายเหตุเครื่องบินรบเมียนมา รุกล้ำเข้าเขตแดนไทยเป็นเรื่องเล็ก ขอโทษแล้วก็จบกันไป นายกฯ เป็นเจ้าของประเทศหรือ เรื่องละเอียดอ่อนต่อความมั่นคงแบบนี้ ถึงทำเหมือนเล่นขายของ
“ไม่ได้เรียกร้องให้รบกับเพื่อนบ้าน แต่ท่าทีอย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ฝ่ายต้องมี เราท้วงไปว่าอย่างไร เขาตอบมาแบบไหนต้องให้ชัด นายกฯ พูดง่ายๆ แค่ไม่มีอะไร จะยิ่งทำให้ชาวโลกมองว่ารัฐบาลไทย มีอะไรกับรัฐบาลเผด็จการเมียนมาร์หรือไม่”
11.
ขณะที่ รัศม์ ชาลีจันทร์ หรือ ‘ทูตนอกแถว’ อดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ ก็ได้เขียนบทความ ‘เก่งกับลาซาด้า เจอพม่าแล้วหงอย?’ ผ่านเพจ ซึ่งมีการแชร์ออกไปเป็นวงกว้าง
รัศม์ตั้งคำถามอยู่หลายประเด็นว่า “คือถ้าในจอเรดาร์ก็เห็นอยู่แล้วว่ามีเครื่องบินรบพม่าบินวนประชิดชายแดนอยู่นานขนาดนั้นที่จะรุกล้ำเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้ ก็ยังปล่อยให้เขารุกล้ำเข้ามาได้อีก โดยไม่คิดทำอะไรก่อนหน้า แทนที่จะส่งเครื่องบินของเราขึ้นไปเป็นเชิงป้องปรามแต่แรก ถ้าเขายังบินวนได้ เราบินในเขตเราเองไม่ได้หรือ? ต้องรอให้เขาบุกเข้ามาก่อนหรือ?
“แล้วจะมาบอกว่าดูแล้วไม่คุกคาม แต่นี่มันเป็นเรื่องอธิปไตยและความปลอดภัยชีวิตทรัพย์สินคนไทยนะครับ มันไม่มีความสำคัญเลยหรืออย่างไร? การแถลงแบบนี้ก็เท่ากับยอมรับเองถึงการปล่อยปละละเลย ความหละหลวมในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศชาติ
“และที่อ้างกลัวกระทบความสัมพันธ์อะไรนั่นคือตลกมาก ก็แล้วทางทหารพม่าเขากลัวหรือเกรงใจเราบ้างไหมล่ะครับ? หรือว่าเก่งแต่กับลาซาด้าแต่เจอพม่าแล้วหงอย?” รัศม์ตั้งคำถาม
12.
แต่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร? ธนภัทร ชาตินักรบ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ได้วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าว หากไม่มีการอนุญาตให้เข้ามาในไทย ย่อมถือว่าละเมิดอธิปไตยของรัฐไทย
ทั้งนี้ การรับมือของกองทัพอากาศที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง ทั้งการสั่งเครื่องบิน F-16 ให้ขึ้นบิน และการประสานกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ย่างกุ้ง แต่อย่างไรก็ดี ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นก็ถือว่าล่าช้ากว่าเหตุการณ์
“แม้ว่าความเสียหายใดๆ จะยังไม่เกิดขึ้นต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น อีกทั้งมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนโดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย” ธนภัทรวิเคราะห์
13.
ท้ายที่สุด ในวันนี้ ก็มีการรายงานว่า ทหารเมียนมายังส่งเครื่องบิน MiG-29 ยิงจรวดใส่ฝ่ายต่อต้าน แต่ไม่พบว่ารุกล้ำน่านฟ้าไทยแต่อย่างใด ขณะที่การสู้รบภาคพื้นดินยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยฝั่งกะเหรี่ยงสามารถยึดค่ายของเมียนมาได้ 2 ใน 4 ส่วน และยังคงพยายามยึดต่อไป
ทางฝั่งไทย กองกำลังนเรศวรได้สั่งการให้ทหารหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 14 อ.แม่สอด เสริมกำลังเข้าไปในพื้นที่ชายแดน บริเวณ อ.พบพระ แล้ว ขณะที่มีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงอพยพหนีตายเข้ามาฝั่งไทยมากกว่า 1,000 คน
เราคงต้องจับตาสถานการณ์สู้รบอันน่ากังวลครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งน่าจะพอบอกได้ว่าเป็น ‘เรื่องใหญ่’ ตรงข้ามกับความเห็นของผู้นำไทย เพราะทั้งหมดนี้ มีชีวิตของประชาชนเมียนมา กระทั่งประชาชนไทย เป็นเดิมพัน
อ้างอิงจาก
ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns