นักอนุรักษ์นิวซีแลนด์กำลังเดินหน้าครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยงบกว่า 2.8 ล้านดอลลาร์ เพื่อกำจัดสัตว์นักล่าที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศบนเกาะสจ๊วต (Stewart Island) ทั้งพอสซัม หนู แมวดุร้าย และเม่น
เป็นที่รู้กันดีว่า นิวซีแลนด์ถือเป็นสวรรค์ของคนรักธรรมชาติ ถึงกับเคยได้ฉายาว่าเป็นเมืองหลวงแห่งนกทะเล และยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่หาไม่ได้ที่ใดในโลก ซึ่งพวกมันต่างต้องเผชิญกับบรรดาสัตว์นักล่าที่ดุร้ายมาเป็นเวลานาน
นอกจากจะกำจัดพวกพอสซัม หนู แมวดุร้าย และเม่นใน 4 ปีข้างหน้าแล้ว โครงการนี้ยังมีการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจว่าศัตรูพืชแพร่พันธุ์อย่างไร และจะจัดการอย่างไรให้ดีที่สุดอีกด้วย เพื่อกำจัดสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อเกาะสจ๊วต ซึ่งมีความสำคัญทางนิเวศวิทยา
สำหรับเกาะแห่งนี้นั้น ตั้งอยู่นอกชายฝั่งของเกาะใต้ และมีพื้นที่ประมาณ 180,000 เฮกตาร์ มีประชากรอยู่ถาวรเพียง 400 คน และมีผู้มาเยือนประมาณ 45,000 คนต่อปี ด้วยระบบนิเวศที่โดดเด่นจากเนินทราย และระบบน้ำจืดที่บริสุทธิ์ เกาะแห่งนี้จึงเป็นที่อยู่ของสัตว์พื้นเมืองที่อ่อนแอหลายชนิด ทั้งนกพื้นเมือง ตุ๊กแก และค้างคาว แต่การเพิ่มขึ้นของศัตรูพืช ส่งผลกระทบต่อพวกมันทั้งสิ้น
“สิ่งที่เราเรียนรู้ที่นี่ จะช่วยปูทางให้คนทั้งประเทศปลอดจากสัตว์ผู้ล่า” นับเป็นคำพูดตอนหนึ่งของ Manaaki Whenua-Landcare Research ซึ่งเป็นหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมเดินหน้าโครงการดังกล่าว
ทาสแมวหลายคนอาจพอคุ้นอยู่บ้าง หลายปีก่อนหมู่บ้านแห่งหนึ่งบนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ ก็เคยออกกฎให้เจ้าของแมวต้องนำแมวไปทำหมัน ฝังไมโครชิพ และขึ้นทะเบียนกับท้องถิ่น หากแมวเหล่านี้ตายลง ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงแมวอีกต่อไป จากเหตุผลที่ว่าแต่ละปีมีนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนับพันล้านตัวต้องตายลงด้วยน้ำมือของแมว
อย่างไรก็ดีโครงการกำจัดผู้ล่ากำลังเกิดขึ้นคล้ายกันหลายแห่งในโลก อย่างเกาะเซาท์จอร์เจียในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ ก็ดำเนินการกำจัดหนู ในพื้นที่ประมาณ 350,000 เฮกตาร์ ทั้งที่ทั้งเกาะมีประชากรเพียง 20-30 คนเท่านั้น
อ้างอิงจาก
https://www.theguardian.com/world/2022/jul/07/new-zealand-to-embark-on-worlds-largest-feral-predator-eradication
irishtimes.com/environment/2022/07/07/new-zealand-to-embark-on-worlds-largest-feral-predator-eradication-in-bid-to-protect-native-species/