จนกว่าประธานาธิบดีจะออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ประชาชนจะไม่ถอยออกจากทำเนียบ นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในศรีลังกา เมื่อรัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลว อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง ส่งผลต่อชีวิตประชาชนกว่า 22 ล้านคนในศรีลังกา
วิกฤตนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงผลของการบริหารงานที่บกพร่องและปัญหาการทุจริต จนทำให้ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยมีเศรษฐกิจเติบโต ตกอยู่ในสภาวะราวกับล่มสลาย
แล้วอะไรทำให้ศรีลังมาถึงจุดนี้ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร? The MATTER จะมาอธิบายให้ฟังกัน
ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นในศรีลังกา
ประชาชนตกงาน ขาดรายได้ อัตราความยากจนในประเทศเพิ่มสูงขึ้น คือคำอธิบายสถานการณ์ของประชาชนชาวศรีลังกาในตอนนี้ ขณะที่ช่วงเดือนก่อนก็มีข่าวว่า ศรีลังกาเหลือน้ำมันสำรองใช้ในประเทศแค่ 1 วัน ขณะที่ประชาชนมายืนรอกันอยู่ห้ามปั๊มน้ำมันพร้อมภาชนะ คาดหวังที่จะได้กักตุนน้ำมันไว้ใช้
เชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม และอาหารเองก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในประเทศแห่งนี้ ผู้คนต้องเปลี่ยนไปใช้ฟืนในการทำอาหารแทน และเมื่อไม่มีเชื้อเพลิงก็ทำให้ศรีลังกาไม่มีทรัพยากรผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ทำให้เกิดการขาดแคลนพลังงานความร้อน แถมแหล่งเก็บน้ำส่วนใหญ่ก็อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากฝนก็ไม่ตก ทำให้ศรีลังกายิ่งไม่มีทรัพยากรมาผลิตไฟฟ้า
ประกอบกับการขาดแคลนน้ำมันซึ่งทำให้ศรีลังกาต้องโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหลายแห่ง กลายเป็นว่า รัฐบาลต้องตัดไฟฟ้าทั่วประเทศ และด้วยเหตุนี้ รัฐบาลศรีลังกาจึงขอความร่วมมือให้ประชาชนทำงานจากที่บ้านและสั่งปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน
นอกจากนี้ ยังมีการห้ามการนำเข้าสินค้าต่างประเทศ เพราะศรีลังกาขาดแคลนทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งศรีลังกาต้องมีอย่างน้อย 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 217 แสนล้านบาท) เพื่อใช้สำรองแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จ่ายเพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็น และชำระหนี้ต่างประเทศที่ถึงกำหนดชำระภายในปีนี้ราว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึง รัฐบาลยังสั่งให้หยุดพิมพ์ธนบัตรรูปีเข้าสู่ระบบ เพื่อจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนทั่วประเทศ
ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ ทำให้ประชาชนไม่พอใจและลุกขึ้นมาประท้วง เพื่อขับไล่รัฐบาลโกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พยายามปราบปรามการชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 190 กว่าราย เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย
แล้วในวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีการบุกเข้าบ้านพักของประธานาธิบดี ขณะที่โกตาบายาสามารถหลบหนีออกไปได้ก่อนด้วยการคุ้มกันของกองกำลังฝ่ายความมั่นคง
เมื่อเป็นเช่นนี้ บ้านพักของประธานาธิบดีหนาแน่นไปด้วยฝูงชนที่ยังคงปักหลักรอวันที่ประธานาธิบดีจะลาออกจากตำแหน่ง หลายคนพากันไปสำรวจข้าวของต่างๆ แล้วหยิบมาสังสรรค์กันเต็มที่ สระว่ายน้ำในบ้านพักกลายเป็นแหล่งปาร์ตี้ สนามหญ้านอกบ้านกลายเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ พวกเขายืนกรานว่าจะไม่ไปไหน จนกว่าประธานาธิบดีจะลาออก
สถานการณ์ของศรีลังกามาถึงจุดนี้ได้ยังไง
ทำไมศรีลังกาถึงเกิดวิกฤตได้? สรุปแบบกระชับสุดๆ ก็ตามที่นักเศรษฐศาสตร์ให้เหตุผลไว้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาเกิดจากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งการบริหารที่ล้มเหลวและปัญหาการทุจริตที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน
ศรีลังกา เคยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโต 8-9% ในช่วงปี 2009-2013 จากนั้นก็เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3-5% ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา โดยรายได้หลักของประเทศมาจากภาคการท่องเที่ยว แต่เมื่อปี 2019 เกิดเหตุระเบิดโจมตีโบสถ์ในวันอีสเตอร์ คร่าชีวิตกว่า 260 คน ส่งผลในแง่ลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศอย่างรุนแรง
ขณะเดียวกัน ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกาก็ยืมเงินจำนวนมากจากต่างประเทศเพื่อมาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น สนามบิน ท่าเรือ แต่พอเจอกับวิกฤต COVID-19 ที่ระงับการเดินทางของผู้คนและชะลอเศรษฐกิจทั่วโลก แทนที่จะได้ผลตอบแทน ก็กลับกลายเป็นว่าโครงการเหล่านี้กลายมาเป็นภาระหนี้สินของรัฐบาลแทน
ทีนี้ พอเกิดวิกฤต COVID-19 ภาครัฐก็ต้องเข้ามาดูแลประคับประคองเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลศรีลังกาขาดดุลการคลังประมาณ 10% ของ GDP แล้วในช่วงปี 2019-2021 หนี้ของรัฐบาลกลางก็พุ่งสูงขึ้นไปถึง 107% ของ GDP จากเดิมที่ 78% ของ GDP
ยิ่งไปกว่านั้น ประธานาธิบดีศรีลังกายังเคยประกาศแผนลดภาษีครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ประเทศ จนกลายเป็นว่า ศรีลังกาถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ จนเกือบอยู่ในระดับที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้ศรีลังกาไม่สามารถเข้าถึงตลาดเงินทุนต่างประเทศได้
ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ศรีลังกาเผชิญกับภาระหนี้ภาครัฐปริมาณมหาศาล ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีศรีลังกาได้ประกาศห้ามนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศหลายชนิด รวมไปถึงการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ และหันไปผลักดันการเกษตรอินทรีย์ ส่งผลให้ราคาพืชผลการเกษตรพุ่งสูงขึ้น
วิกฤตนี้ยิ่งหนักขึ้นไปอีก เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นผลให้ราคาอาหารและน้ำมันพุ่งสูง ทำให้ภาวะเงินเฟ้อศรีลังทะยานเกือบแตะระดับ 40% ราคาอาหารพุ่งสูงเกือบ 60% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ตระกูลราชปักษา
อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีของศรีลังกา ต่างมีนามสกุลเดียวกัน นั่นคือ ‘ราชปักษา’นอกจากนั้น รัฐมนตรีการชลประทาน รัฐมนตรีการคลัง รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร รัฐมนตรีกระทรวงกีฬา และหัวหน้าเจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีถือครองนามสกุลนี้เช่นกัน -เหตุผลก็เพราะพวกเขาเป็นเครือญาติกัน
อธิบายเพิ่มเติมอีกนิดว่า ศรีลังกาเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อน แล้วก็มาได้รับเอกราชในปี 1948 ถึงอย่างนั้น ศรีลังกาก็มีความขัดแย้งภายในประเทศอย่างหนัก มีสงครามกลางเมืองระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬ
ขณะเดียวกัน บุคคลที่สร้างชื่อให้กับตระกูลราชปักษา ก็คือ มหินทา ราชปักษา เมื่อเขาได้รับเลือกเป็น ส.ส.ปี 1970 โดยเป็นผู้แทนราษฎรที่มีอายุน้อยที่สุดในรัฐสภา และต่อมาในช่วงทศวรรษ 1980 ชามาลซึ่งเป็นพี่ชายของมหินทาก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ด้วยเช่นกัน
เส้นทางการเมืองของมหินทา เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีแรงงาน ก่อนจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งมาเป็นประธานาธิบดีได้ในปี 2005 และดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัย พร้อมความพยายามในการยุติสงครามกลางเมืองที่มีมายาวนานเกือบ 30 ปี
จนเมื่อปี 2009 ตระกูลราชปักษา ภายใต้การนำของมหินทา ก็เอาชนะขบวนการแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ทำให้ตระกูลราชปักษาถูกมองเป็นฮีโร่ในสายตาหลายๆ คน
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มหินทาดำรงตำแหน่ง เขาถูกกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อย และฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่เครือญาติในตระกูลราชปักษาก็ยังเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลได้
ในปี 2015 ตระกูลราชปักษาเสียอำนาจทางการเมืองไป เพราะมหินทาแพ้การเลือกตั้ง แต่ 4 ปีต่อมา โกตาบายา น้องชายของมหินทา ก็มาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งก็ได้คะแนนเสียงไปท่วมท้น ด้วยการเน้นย้ำภาพหลักของตระกูลราชปักษาที่โดดเด่นด้านการรักษาความสงบในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดเหตุระเบิดโจมตีโบสถ์ในวันอีสเตอร์
พอโกตาบายาได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาก็ให้มหินทามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้ตำแหน่งสำคัญกับเครือญาติคนอื่นๆ ด้วย
แต่ข้อกล่าวหาว่าตระกูลราชปักษาทำการคอร์รัปชั่นนี้ก็ไม่เคยหายไปไหน โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 นี้ หลายคนยิ่งมองว่า เครือญาติราชปักษาเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ของประเทศ ประชาชนจึงต้องมาประท้วงตามถนน และเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลคืนเงินของประชาชนที่ขโมยไปมาเสีย
เมื่อประชาชนประท้วงหนัก โกตาบายาจึงบังคับให้สมาชิกในครอบครัวลาออกจากตำแหน่งเกือบหมด ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ มหินทา นายกรัฐมนตรีของศรีลังกา ซึ่งประกาศลาออกแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม โดยยื่นใบลาออกกับน้องชายตัวเอง หลังเจอกับแรงกดดันของประชาชนอย่างหนัก
ส่วนโกตาบายา เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีศรีลังกาได้ประกาศว่า จะลาออกในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้
นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของศรีลังกาว่า บาซิล ราชปักษา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของศรีลังกาพยายามบินออกนอกประเทศ ในวันนี้ (12 กรกฎาคม) แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็พยายามหาทางสกัดไว้ เช่นเดียวกับผู้โดยสารที่โห่ไล่บาซิล ทำให้เขาต้องออกจากสนามบินไป ซึ่งเป็นการยืนยันว่า เขายังไม่ได้ออกนอกประเทศในตอนนี้
จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้
รัฐธรรมนูญของศรีลังกากำหนดแนวการสืบทอดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างมากกับการมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และดูแลประชาชนที่กำลังอ่อนล้า หมดแรง และหมดความอดทนเต็มที
หากเป็นสถานการณ์ปกติแล้ว รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันต้องขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน แต่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา รานิลก็เพิ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งไปเช่นกัน
คนที่มีแนวโน้มจะมาเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ก็คือ มหินดา ยาปา อเบวาร์เดนา ประธานรัฐสภาวัย 76 ปี ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของครอบครัวราชปักษา
อย่างไรก็ดี ผู้รักษาการแทนประธานาธิบดีจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากสมาชิกรัฐสภา ภายในเวลา 1 เดือน แล้วผู้ที่ได้รับชัยชนะก็จะต้องดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปอีก 2ปี ตามเวลาที่เหลือในตำแหน่งของโกตาบายา จนกว่าจะถึงเวลาแห่งการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง
อ้างอิงจาก