“เราไม่ได้คาดคิดว่ามันจะออกมาดีเท่านี้เลยจริงๆ ถ้าว่ากันตามตรง”
คือคำพูดของ อิมเคอ เดอ เพเทอร์ นักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์ ผู้เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และหัวหน้าทีมสำรวจดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เวบบ์ (JWST)
เมื่อวานนี้ (22 ส.ค. 2565) NASA เพิ่งเผยภาพดาวพฤหัสบดีชุดใหม่จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เผยให้เห็นรายละเอียดของดาวเคราะห์พี่ใหญ่ของระบบสุริยะ คมชัดในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
ภาพชุดดังกล่าวถือว่าเก็บรายละเอียดของดาวมาได้ครบทั้งหมด ทั้งพายุลมแรง แสงออโรราทั้งบริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ วงแหวนจางๆ กระทั่งดวงจันทร์เล็กๆ 2 ดวง และที่ขาดไม่ได้เลย คือ พายุหมุนที่เรียกว่า จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) ของดาวพฤหัสบดี
ภาพชุดใหม่นี้ถูกถ่ายได้โดยกล้องอินฟราเรดย่านใกล้ (NIRCam) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เวบบ์ และเมื่อมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นแสงอินฟราเรดได้ด้วยตาเปล่า ก็ต้องมีการแปลงข้อมูลมาเป็นภาพเสียก่อน ซึ่งก็ได้ฝีมือของ จูดี ชมิดท์ นักวิทยาศาสตร์พลเมือง มาช่วยประมวลผล
ด้าน เธียร์รี ฟูเชต์ ศาสตราจารย์ประจำหอดูดาวปารีส และอีกหนึ่งหัวหน้าทีมสำรวจ ได้ให้ความเห็นถึงภาพที่เพิ่งปล่อยออกมานี้ว่า “ถือว่าสรุปรวดยอดให้เห็นวิทยาศาสตร์ในโครงการศึกษาระบบดาวพฤหัสบดีของเราได้ทั้งหมด”
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามศึกษาหลายๆ อย่างที่ปรากฏในภาพนั้น เช่น การศึกษาพลศาสตร์และเคมีของดาว วงแหวนและวงโคจรของมัน ซึ่งในขณะนี้ NASA ก็ระบุว่า ทีมนักวิจัยกำลังเริ่มวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์แล้ว เพื่อพยายามหาข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับดาวพฤหัสบดีต่อไป
อ้างอิงจาก
https://blogs.nasa.gov/webb/2022/08/22/webbs-jupiter-images-showcase-auroras-hazes/
https://www.theguardian.com/science/2022/aug/22/jupiter-james-webb-space-telescope-images-nasa
https://edition.cnn.com/2022/08/22/world/jupiter-images-webb-telescope-nasa-scn/index.html