ไม่ได้มีแค่มนุษย์ที่เล่นเกมป็อง (Pong) วิดิโอเกมคลาสสิกจากยุค 70s ได้แล้วนะ เพราะล่าสุด กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพิ่งเปิดเผยว่า เซลล์สมองที่เลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการ สามารถเรียนรู้ที่จะเล่นเกมป็องได้แล้ว
งานศึกษาวิจัยนี้เพิ่งถูกตีพิมพ์เมื่อ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์ Neuron ซึ่งคณะนักวิทยาศาสตร์เผยว่า เซลล์สมอง 800,000 เซลล์สามารถเล่นวิดิโอเกมป็องได้
พวกเขาใช้เซลล์สมองจากมนุษย์ที่ได้มาจากเสต็มเซลล์ ประกอบกับเซลล์สมองจากหนูบางส่วน ซึ่งได้มาจากเซลล์ตัวอ่อน
จากนั้น กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จึงเพาะเซลล์สมองไว้บนถาด ‘DishBrain’ ซึ่งเป็นที่มีขั้วไฟฟ้าที่สามารถตรวจจับการทำงานและกระตุ้นเซลล์ได้ จากนั้นก็เชื่อมต่อเซลล์สมองเข้ากับวิดิโอเกมผ่านอิเล็กโทรดที่จะเผยให้เห็นว่าลูกบอลอยู่ตรงไหน และอยู่ห่างจากไม้ตีเท่าไหร่
ซึ่งการศึกษาค้นพบว่า เซลล์สมองสามารถตอบสนองด้วยการสร้างกิจกรรมทางไฟฟ้าของพวกมันเอง และเรียนรู้วิธีการเล่นเกมจำลองนี้ตั้งแต่ 5 นาทีแรก
เมื่อกลุ่มเซลล์แพ้เกมในตาแรกๆ พวกมันก็เริ่มปรับตัวให้ตั้งรับกับสถานการณ์ใหม่ของลูกบอลที่คาดเดาไม่ได้ (ลูกบอลมักจะปรากฎตัวแบบสุ่มในเกม) และเริ่มใช้พลังงานน้อยลง ขณะที่เกมยังดำเนินต่อไป
อย่างไรก็ดี เซลล์สมองเหล่านี้มักจะเล่นพลาดและปล่อยให้ลูกบอลเลยขอบไม้ตีไป แต่อัตราความสำเร็จของพวกมันก็ยังอยู่เหนือกว่าโอกาสจากการสุ่ม
เบร็ท เคแกน (Brett Kagan) หัวหน้าทีมวิจัย และหัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านวิทยาศาสตร์ของบริษัท ‘Cortical Labs’ สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวว่า การที่เซลล์เปลี่ยนพฤติกรรมเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นบางสิ่งที่คล้ายกับสติปัญญา
เคแกนอ้างว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ได้สร้างเซลล์สมองที่ปลูกบนถาดในห้องปฏิบัติการ ที่ ‘มีสติตื่นรู้’ เป็นครั้งแรกของโลก
“มันสามารถรับรู้ข้อมูลจากแหล่งภายนอก จากนั้นก็ประมวลผล และตอบกลับได้แบบทันทีทันใด” เคแกน อธิบายกับสำนักข่าวบีบีซี
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยว่าเซลล์สมองเหล่านี้มีสติตื่นรู้ มีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า ผลงานนี้น่าสนใจและมีประโยชน์ แต่การอธิบายว่าเซลล์สมองมีสติตื่นรู้อาจยังไม่สมเหตุสมผลนัก
เกมป็อง คือเกมสไตล์อาร์เคดที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1972 เป็นเกมที่ให้ผู้เล่นใช้ไม้ตีลูกบอลกลับไปมา และจะสร้างเสียง ‘ป็อง’ ตอนที่บอลสัมผัสกับไม้ จนกลายเป็นที่มาของชื่อเกม เพราะเกมนี้มีลักษณะเรียบง่ายและโดดเด่น กลุ่มผู้ศึกษาจึงเลือกมาใช้ในการทดสอบเซลล์สมอง
ทั้งนี้ เคแกนหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะมีประโยชน์ต่อการทดสอบการรักษาโรคทางระบบประสาทได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น ซึ่งพวกเขายังวางแผนที่จะทดสอบว่าเซลล์สมองจะทำงานอย่างไรเมื่อเมา–ได้รับยา กล่าวคือ จะทดสอบผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อความสามารถของเซลล์สมองในการเล่นเกมป็อง
อ้างอิงจาก