จักรวาลที่กว้างใหญ่สร้างความประหลาดใจให้กับเราอยู่เรื่อยๆ เมื่อนักดาราศาสตร์ค้นพบกาแล็กซี่ขนาดใหญ่ 6 แห่ง ที่มีอายุหลายร้อยล้านปี นับจากที่บิกแบงสร้างเอกภพขึ้นมา ซึ่งการค้นพบนี้ถือเป็นการยกระดับทฤษฎีที่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของกาแล็กซี่ของเราอย่างสิ้นเชิง
เมื่อไม่นานมานี้ นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เพื่อย้อนเวลากลับไปในยุคแรกๆ ของเอกภพ และพวกเขาก็พบสิ่งที่ไม่คาดคิด เพราะพวกเขาค้นพบกาแล็กซี่ขนาดใหญ่ 6 แห่งที่มีอายุระหว่าง 500 ล้านถึง 700 ล้านปีหลังจากบิกแบงระเบิด จนเกิดเอกภพเกิดขึ้นมา
“วัตถุเหล่านี้มีขนาดใหญ่กว่าที่ใครๆ คาดคิด และตามจริงแล้ว เราคาดหวังเพียงจะพบกาแล็กซี่อายุน้อยที่ยังเล็กอยู่ในเวลานี้ แต่เรากลับค้นพบกาแล็กซี่ที่โตเต็มที่พอๆ กับกาแล็กซี่ของเรา ที่พวกเราเคยเข้าใจกันว่าเป็นรุ่งอรุณของเอกภพ” โจเอล เลจา (Joel Leja) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ และฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยเพนน์สเตตกล่าว
โดยกล้องโทรทรรศน์นี้จะสังเกตเอกภพด้วยแสงอินฟราเรด ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตามนุษย์ โดยสามารถตรวจจับแสงสลัวๆ จากดวงดาวและดาราจักรโบราณจากเอกภพอันไกลโพ้นได้ ซึ่งสามารถย้อนเวลากลับไปได้มากถึงประมาณ 13.5 พันล้านปีก่อน
อย่างไรก็ดี การค้นพบกาแล็กซี่ขนาดใหญ่เหล่านี้ นำไปสู่การขัดแย้งกับแบบจำลองที่เป็นตัวแทนของกาแล็กซี่ยุคแรกในเอกภพถึง 99% หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือนักดาราศาสตร์จำเป็นต้องคิดใหม่ว่ากาแล็กซี่ก่อตัว และวิวัฒนาการมาอย่างไรกันแน่
“ปรากฎว่าเราไปค้นพบบางสิ่งที่คาดไม่ถึง และกลายเป็นการปฏิวัติความรู้ของวงการวิทยาศาสตร์ไปเลยจริงๆ” เลจา กล่าวเสริม อย่างไรก็ตาม หลังการตรวจสอบกาแล็กซี่ในยุคแรกเริ่ม “พวกเราเริ่มทำโมเดล และพยายามหาว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะกาแล็กซี่เหล่านี้มีขนาดใหญ่ และสว่างมาก” เขากล่าว
วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ทราบสาเหตุที่กาแล็กซี่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว คือการถ่ายภาพสเปกตรัมของกาแล็กซี่ โดยจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกาแล็กซี่มากขึ้น เลจาระบุว่า “สเปกตรัมจะบอกเราทันทีว่าสิ่งเหล่านี้จริงหรือไม่ และมันยังจะแสดงให้เราเห็นว่ากาแล็กซี่เหล่านี้มีขนาดใหญ่เท่าไหร่ หรือพวกมันอยู่ไกลแค่ไหน”
ทั้งนี้ ในตอนนี้นักดาราศาสตร์ยังจำเป็นต้องศึกษากาแล็กซี่ทั้ง 6 แห่งนี้อย่างถี่ถ้วนก่อน เราถึงจะทราบถึงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพวกมันมากกว่านี้
อ้างอิงจาก