หลายคนคงเคยได้ยินว่า พลาสติกสามารถปนเปื้อนในร่างกายรวมถึงสมองได้ แต่อาจยังไม่เห็นภาพว่ามีมากแค่ไหน โดยไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์เผยว่า ในสมองมนุษย์อาจมีพลาสติกสะสมอยู่ ในปริมาณเทียบเท่ากับ ‘ช้อน 1 คัน’
งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Nature Medicine พบว่า ‘ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก’ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 1 ถึง 1,000 นาโนเมตร อาจสะสมในสมองมนุษย์ ‘ในระดับที่สูงกว่า’ การสะสมในตับและไต ราว 7 ถึง 30 เท่า โดยพบโพลีเอทิลีนซึ่งมักใช้ในบรรจุภัณฑ์มากที่สุด
ผู้วิจัยได้เก็บตัวอย่างสมองมนุษย์ที่ถูกชันสูตร จำนวน 52 ตัวอย่าง ซึ่งแบ่งเป็น 28 ตัวอย่างจากปี 2016 และ 24 ตัวอย่างจากปี 2024 พร้อมทั้งตรวจสอบตับและไตจากร่างกายเดียวกัน จากนั้นวิเคราะห์เนื้อเยื่อ โดยใช้การถ่ายภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์ และการวิเคราะห์ระดับโมเลกุล เพื่อระบุองค์ประกอบทางเคมีของอวัยวะ
จากนั้นพบว่า ตัวอย่างสมองและตับจากปี 2024 มีการสะสมอนุภาคพลาสติกที่ ‘สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ’ เมื่อเทียบกับปี 2016 โดยสิ่งที่น่ากังวลคือในระยะเวลาเพียง 8 ปีนี้ ปริมาณพลาสติกในร่างกาย ‘เพิ่มขึ้นถึง 50%’
“ความเข้มข้นที่เราพบในเนื้อเยื่อสมองของคนทั่วไป ซึ่งมีอายุเฉลี่ยประมาณ 45 หรือ 50 ปี อยู่ที่ 4,800 ไมโครกรัมต่อกรัม หรือคิดเป็น 0.48% ของน้ำหนักสมอง” แมทธิว แคมเพน (Matthew Campen) ผู้เขียนร่วมของการศึกษานี้ จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก (University of New Mexico) กล่าวว่า ปริมาณพลาสติกที่พบในสมองนั้น อาจเทียบเท่ากับช้อนขนาดมาตรฐาน 1 คัน
เขาระบุว่า “สมองของเราในปัจจุบันประกอบด้วยเนื้อเยื่อสมอง 99.5% และส่วนที่เหลือเป็นพลาสติก” ซึ่งก่อนหน้านี้งานวิจัยหลายชิ้น ก็พบว่าไมโครพลาสติกอาจสะสมอยู่ในปอด ลำไส้ เลือด ตับ และรกของมนุษย์
อย่างไรก็ตามแคมเพนชี้แจงว่า มีความเป็นไปได้ที่วิธีวัดพลาสติกในปัจจุบัน อาจประเมินระดับของพลาสติกในร่างกายสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป แต่เขาย้ำว่า “เรากำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ได้วิธีประมาณการที่แม่นยำ ซึ่งผมคิดว่าเราน่าจะทำได้ภายในปีหน้า”
“ไมโครพลาสติกอยู่ในอาหารที่เรากิน น้ำที่เราดื่ม และแม้แต่ในอากาศที่เราหายใจ” ริชาร์ด ทอมป์สัน (Richard Thompson) ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษและไมโครพลาสติก จากมหาวิทยาลัยพลีมัธ (University of Plymouth) ประเทศอังกฤษ กล่าว โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า ความเข้มข้นของพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในบ้าน อากาศ และน้ำรอบตัวเรานั้น อาจเป็นสาเหตุ
ด้านแอนดรูว์ เวสต์ (Andrew West) ผู้ร่วมการวิจัยก็กล่าวว่า “ระดับของพลาสติกที่ตรวจพบในสมองนั้นแทบจะเหลือเชื่อ จริงๆ แล้ว ผมไม่เชื่อเลยจนกระทั่งได้เห็นข้อมูลทั้งหมด”
คำถามต่อไปที่สำคัญคือ พลาสติกเข้าไปในสมองได้อย่างไร สามารถกำจัดได้หรือไม่ และพลาสติกเหล่านี้เป็นอันตรายแค่ไหน ซึ่งเวสต์ระบุว่า “พูดอย่างง่ายๆ ก็คือ เราไม่รู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ จากไมโครพลาสติกในสมอง” อย่างไรก็ตามเขาย้ำว่า แม้จะยังไม่รู้ผลกระทบที่ชัดเจน แต่การแก้ปัญหาพลาสติกปนเปื้อนในร่างกายมนุษย์ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน
อ้างอิงจาก