ภายหลังกิจกรรม ‘ว่ายข้ามโขง’ ของ โตโน่ – ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นักร้องและบุคลากรการแพทย์ นพ.ริท เรืองฤทธิ์ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นชื่นชม ก่อนพูดถึงปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า
“… ระบบสุขภาพของประเทศไทยคือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แปลว่า คนไทยจะป่วยยังไง ก็มีการรักษารองรับ มันดีกับคนไทยในบางมุมนะ เช่น คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียก็คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม”
ทวีตดังกล่าวนำไปสู่ข้อถกเถียงบนโลกออนไลน์ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ และถ้าแกะมันออกมาจะพบว่ามีประเด็นน่าสนใจซ่อนอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่
- ระบบหลักประกันสุขภาพทำให้คนมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่ดูแลสุขภาพ (Moral Hazard) เพิ่มขึ้นจริงไหม?
- ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านำไปสู่ปัญหาคนมาใช้บริการโรงพยาบาลเกินความจำเป็น (unnecessary visit) จริงไหม?
- ระบบหลักประกันสุขภาพทำให้หมอต้องทำงานหนักเกินไป เป็นปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพจริงไหม?
#มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น
นพ.ริทพูดถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “ข้อเสีย (ของระบบหลักประกันสุขภาพ) คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพเกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา”
งานวิจัย The impact of Universal Health Coverage on healthcare consumption and risky behaviours: evidence from Thailand ที่ศึกษาเรื่องผลกระทบของหลักประกันสุขภาพต่อพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพของคนไทยระบุว่า ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างหลักประกันสุขภาพกับพฤติกรรมเสี่ยงทางด้านสุขภาพ (Moral Hazard)
งานวิจัยดังกล่าวพบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพไม่มีความเชื่อมโยงกับปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์, การสูบบุหรี่ หรืออัตราเมาและขับที่เพิ่มขึ้นเลย อีกทั้งงานวิจัยยังพบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในไทย
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าหลักประกันสุขภาพทำให้คนใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น โดยพบว่าคนไทยเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีมากขึ้นเฉลี่ย 9%, นอนโรงพยาบาลมากขึ้น 1.7% และผู้ป่วยตัดสินใจมาพบแพทย์มากกว่าไปรับรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก อาทิ วัดหรือหมอผี เพิ่มขึ้นเป็น 56% (จาก 51.6%) ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการแพทย์ในเชิงป้องกัน และส่งผลดีในระยะยาวต่อปัญหาสุขภาพของคนไทย และมีแนวโน้มลดค่าใช้จ่ายในทางสาธารณสุขของไทย
#คนมาใช้บริการเกินความจำเป็น
ปัญหานี้ถูกอธิบายในรายงาน ‘ความจำเป็นในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลจากมุมผู้ป่วยและแพทย์’ ซึ่งออกเมื่อปี 2560 พบว่า มีผู้ป่วย 45.9% ที่ประเมินความจำเป็นในการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสูงกว่าแพทย์ อีก 45% ประเมินระดับเดียวกับแพทย์ และ 9% ประเมินต่ำกว่าแพทย์ หรือแปลได้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่แพทย์มีความเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมารักษาตัวใกล้เคียงกับกลุ่มที่ถูกประเมินว่าจำเป็นต้องมารักษาตัว
รายงานดังกล่าวได้ชี้ว่า สาเหตุหนึ่งของการมารักษาตัวที่ไม่จำเป็นเกิดจาก ‘ความไม่รู้’ เกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย ดังนั้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงานสาธารณสุขที่จะรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรค อาการป่วย และการรักษาเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยมากกว่า เพื่อลดอัตราการมารับรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น
ประเด็นนี้ ยังมีข้อถกเถียงอยู่ในโลกออนไลน์จากฝั่งแพทย์ว่า มีบางคนที่ไปหาหมอโดยไม่มีอาการป่วย หรือไปหาด้วยสาเหตุอื่น อย่างไรก็ดี น่าสนใจว่าข้อถกเถียงนี้สะท้อนถึงการมองความจำเป็นในการไปโรงพยาบาลที่แตกต่างกันระหว่างคนไข้และแพทย์บางส่วนด้วยเช่นกัน
#ปัญหาทำงานหนักของบุคลากรการแพทย์
นพ.ริทขยายความถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “ทุกวันนี้หมอไทยยังต้องทำงานเกินเวลาตามระเบียบกำหนด ทำให้เกิดภาวะสมองไหล หมอๆ ก็ออกนอกระบบโรงพยาบาลรัฐกันหมด หมอก็น้อยลง งานก็ยังหนัก ผลิตหมอเท่าไหร่ก็ไม่พอ ก็วนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆครับ ถึงบอกว่าเงินบริจาคเยอะแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้หมอหายเหนื่อยครับ”
หมอต้องทำงานหนักขึ้นจากระบบประกันสุขภาพจริงไหม? คำตอบนี้เป็นเรื่องจริงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่นั่นอาจไม่ใช่ปัญหาทั้งหมดที่ทำให้คุณหมอคนหนึ่งลุกขึ้นมาชี้บอกว่าหลักประกันสุขภาพผิด เพราะมันเป็นปัญหาระดับโครงสร้าง ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องแก้ไขโดยเร็วมากกว่า
ประการแรก หมอต้องทำงานหนักเพราะไม่มีกฎหมายควบคุมชั่วโมงการทำงาน เว็บไซต์ The Coverage ได้สรุปผลการพูดคุย การประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาชั่วโมงการทำงานของแพทย์พบว่า แพทย์กว่า 60% ทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมง/ สัปดาห์ และอีกกว่า 30% ทำงานมากกว่า 100 ชั่วโมง/ สัปดาห์
ขณะที่รายงานจากประชุมคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมายังระบุเพิ่มเติมว่า ภาระงานหนักและค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมส่งผลให้มีแพทย์ออกจากกระทรวง 40% ต่อปี หรือเกิดสภาวะสมองไหล แพทย์ลาออกจากระบบราชการเพื่อเข้าสู่ภาคเอกชน เปิดคลินิคตัวเอง หรือไปทำงานที่ต่างประเทศ
ประเด็นนี้ถูกพูดถึงมาตลอดและทาง ส.ส. ก็ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแล้ว ซึ่งสำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า ในวันที่ 25 ต.ค. สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน และเครือข่ายพยาบาลจะไปทวงถามความคืบหน้าในเรื่องนี้กับคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
ประการสอง จำนวนหมอไทยมีไม่พอ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปี 2560 ระบุว่า สัดส่วนของประชากรต่อแพทย์อยู่ที่ 1 : 1,843 คน ซึ่งไม่ได้แย่ถ้าเทียบกับอัตราส่วนที่ WHO กำหนดขึ้นที่ 1 : 1,000 คน
แต่ปัญหาซ่อนอยู่ในรายละเอียด เพราะแพทย์ไม่ได้กระจายตัวเท่ากันในทุกพื้นที่ เข่น ใน กทม. มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรที่ 1 : 630 คน ซึ่งนับว่าสูงมากและเกินสัดส่วนที่ WHO ตั้งไว้ ขณะที่ในบึงกาฬกลับมีอัตราส่วนที่ 1 : 5,021 คน หนองบัวลำภูที่ 1 : 4,864 คน หรือนครพนมที่ 1 : 4,804 คน ดังนั้น ปัญหาอยู่ที่การกระจายตัวมากกว่าจำนวน และนี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งแก้ไข
ถ้าลบมายาคติและมองให้ชัด เราจะเห็นว่าหลักประกันสุขภาพไม่ใช่ปัญหาในตัวเองมันเอง แต่ปัญหาที่แท้จริงมาจากโครงสร้างที่ยังตามไม่ทันสภาพความเป็นจริงของสังคมในปัจจุบัน และยังไม่เอื้อให้คนทำงานในระบบสาธารณสุข เช่นแพทย์และพยาบาล มีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่หนักเกินไปมากกว่า
อ้างอิง:
https://iussp.org/sites/default/files/event_call_for_papers/GMP.pdf
https://twitter.com/MhorRitz/status/1583857290905812992
https://www.tmc.or.th/pdf/tmc-stat-15-08-22.pdf
https://www.thecoverage.info/news/content/3851
https://www.bbc.com/thai/articles/crgxjle51zro
https://www.thecoverage.info/news/content/3039
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25116081/