เด็กทารกสักคนที่เกิดในวันนี้ (15 พฤศจิกายน) ณ ที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ จะกลายเป็นประชากรโลกคนที่ 8 พันล้านไปโดยปริยาย – นี่คือหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่ได้รับการยืนยันแล้วโดยสหประชาชาติ (UN)
ที่ผ่านมา โลกใช้เวลาเพียง 11 ปีเท่านั้น ในการที่ประชากรเพิ่มขึ้นจนแตะ 8 พันล้านคน หลังจากที่ผ่านหลัก 7 พันล้านมาเมื่อปี 2011 แต่ในอนาคต อัตราการเกิดของประชากรโลกก็จะชะลอตัวลงเรื่อยๆ UN คาดว่า อาจใช้เวลา 15 ปี เพื่อแตะหลัก 9 พันล้านคน และกว่าจะถึง 1 หมื่นล้านคน ก็น่าจะต้องรอถึงปี 2080
นอกจากนี้ UN ยังคาดการณ์ด้วยว่า อินเดียจะแซงหน้าจีน กลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ภายในปี 2023
ก่อนหน้านี้ อันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ เคยออกมาพูดถึงหมุดหมาย 8 พันล้านคนนี้ โดยกล่าวว่า “นี่คือโอกาสในการเฉลิมฉลองความหลากหลายของเรา ตระหนักถึงมนุษยชาติที่เรามีร่วมกัน และชื่นชมในความก้าวหน้าด้านสาธารณสุข ที่ทำให้เรามีอายุขัยยืนยาวขึ้น และลดอัตราการตายของแม่และเด็กได้อย่างมีนัยสำคัญ”
ทางด้านกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) วิเคราะห์เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในโลกที่มีประชากร 8 พันล้านคน ไว้ 8 เทรนด์ ดังนี้
- การเจริญเติบโตที่ชะลอตัว (slowing growth) จากเดิมที่เคยมีอัตราการเจริญเติบโตของประชากรรายปีอยู่ที่ 2.3% ในปี 1963 ก็มีเพียง 0.8% ในปี 2022 ปัจจัยหนึ่งมาจากการที่โลกเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่จะทำให้อัตราการตายของผู้สูงอายุไปหักลบกับอัตราการเกิด ส่งผลต่อจำนวนประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
- เด็กน้อยลง (fewer children) จากเดิมที่มีอัตราการเกิดทั่วโลกที่ 5 คนต่อผู้หญิง 1 คน ในปี 1950 ปัจจุบันก็มีแค่ 2.3 และจะลดเหลือ 2.1 ในปี 2050 ขณะที่ทั่วโลกกำลังเดินหน้าเข้าใกล้ระดับที่เรียกว่า ‘replacement-level fertility’ ที่จำนวนประชากรจะไม่โตขึ้น แต่จะมีตัวเลขคงตัวไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น
- ชีวิตที่ยืนยาวขึ้น (longer lives) ประชากรโลกจะมีอายุยืนขึ้น ในปี 2019 อายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) เมื่อแรกเกิด อยู่ที่ 72.8 ปี ทั่วโลก ซึ่งมากขึ้น 9 ปี นับตั้งแต่ปี 1990 และคาดว่าจะสูงถึง 77.2 ปี ในปี 2050 อย่างไรก็ดี ตัวเลขก็ยังแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยที่ประเทศรายได้น้อยจะมีอายุคาดเฉลี่ยที่น้อยกว่า
- ผู้คนโยกย้ายมากขึ้น (people on the move) เมื่อปี 2020 คาดว่ามีประชากรที่อาศัยอยู่นอกประเทศเกิด ถึง 281 ล้านคน มากกว่าในปี 1990 ถึง 128 ล้านคน และต่อไปนี้ก็คาดว่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)
- ประชากรที่แก่ตัวลง (ageing populations) เป็นอัตราที่รวดเร็วอย่างไม่เคยมีมาก่อน สัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในปี 2022 มีอยู่เกือบ 10% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 16% ภายในปี 2050 ซึ่งตัวเลข 16% นี้ จะถือว่ามากกว่าจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ถึง 2 เท่า
- ผู้หญิงจะมีอายุมากกว่าผู้ชาย (women outliving men) แม้จำนวนเด็กผู้ชายแรกเกิดจะมีมากกว่าเด็กผู้หญิง ด้วยอัตรา 106 ต่อ 100 แต่เมื่อเติบโตขึ้นตามช่วงอายุ จำนวนผู้ชายที่เสียชีวิตจะมีมากกว่าผู้หญิง จนทำให้ในท้ายที่สุด ผู้หญิงจะมีอายุโดยเฉลี่ยมากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ อายุคาดเฉลี่ยของผู้หญิงทั่วโลก มีมากกว่าผู้ชาย 5.4 ปี โดยเฉลี่ย
- ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด 2 ทาง (two pandemics) อัตราการตายที่ผ่านมาถูกกำหนดอย่างมีนัยสำคัญโดยการระบาด 2 ทาง คือการระบาดของ COVID-19 และ HIV/AIDS ที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในปี 2020-2021 มีอยู่ถึง 14.9 ล้านคน ขณะที่ผู้เสียชีวิตจาก AIDS ทั่วโลกทั้งหมดมีมากกว่า 40 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 1981 ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ มีปัจจัยหนึ่งที่น่าพิจารณา คือการเข้าถึงการรักษาที่ไม่เท่าเทียมกัน
- ศูนย์กลางประชากรโลกที่เปลี่ยนไป (shifting centres) ว่ากันว่า ภายในช่วงท้ายทศวรรษ 2060 ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรเติบโตเร็วที่สุดในโลก จะกลายมาเป็นพื้นที่ที่มีประชากรมากที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน ขณะที่แชมป์เดิมอย่างจีน ก็เริ่มจะมีอัตราการเติบโตของประชากรที่ชะลอตัว และอาจจะเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป
อ้างอิงจาก