อยู่ๆ คนรอบข้างก็ทยอยติด COVID-19 กันยกใหญ่ ทั้งพี่ในออฟฟิศ เพื่อนสมัยเรียน ยันน้องที่รู้จัก จนอดคิดไม่ได้ว่า การระบาดมันกลับอีกแล้วรึเปล่า วัคซีนกระตุ้นยังจำเป็นอยู่ไหม แล้วเราจะรอดไปอีกนานแค่ไหน
ท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร แพทย์อายุรศาสตร์ รพ.ศิริราช ทวีตว่า สิ่งที่สำคัญกว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ ‘วัคซีน bivalent’ ซึ่งเป็นวัคซีนที่มี mRNA ของ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์โอไมครอน และเริ่มฉีดแล้วในหลายประเทศ แต่ยังไม่มีในประเทศไทย
เพื่อคลายข้อสงสัยของการระบาด COVID-19 ระลอกนี้ The MATTER ได้พูดคุยกับ นพ.มานพ ถึงสถานการณ์และสาเหตุการระบาด ความจำเป็นของวัคซีนบูสเตอร์ bivalent และใครบ้างที่ต้องฉีดเพื่อป้องกันอันตรายจากโรค
นพ.มานพ อธิบายว่า สถานการณ์การระบาดตอนนี้จะมี 2 ระดับ คือ ระดับโลกและระดับประเทศ โดยสถานการณ์การระบาดใหญ่ๆ ของโลก (global pandamic) คงหมดไปแล้ว แต่การระบาดที่ยังอยู่คือการระบาดระลอกย่อยๆ ของแต่ละประเทศ (local epidemic) แทน ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีลักษณะพิเศษแตกต่างกันไป
“ถ้าพูดถึงจำนวนของผู้ติดเชื้อต่อวัน ก็อาจเรียกได้ว่า COVID-19 ในไทยกลับมาระบาด แต่ก็จะคล้ายกับประเทศอื่นอย่างสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น แม้กระทั่งในสหรัฐฯ หรือยุโรป ก็มีการระบาดระลอกใหม่ๆ ซึ่งแต่ละประเทศอาจจะมีระยะเวลาการระบาดที่ไม่เหมือนกัน” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บอกกับเรา
เมื่อถามว่า ที่กลับมาระบาดในไทย เพราะภูมิคุ้มกันประชาชนตกหรือเปล่า นพ.มานพ ชี้ว่า เชื้อที่กลายพันธุ์จะหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ซึ่งหากฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายไปนานแล้ว ภูมิคุ้มกันก็จะตกตามธรรมชาติ การระบาดจึงเพิ่มขึ้น ประกอบกับความเข้มข้นของการป้องกันทั้งในระดับนโยบายและประชาชนที่ผ่อนคลายลง ตัวเลขผู้ติดเชื้อจึงสูงขึ้น
“ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การติดเชื้ออีกต่อไป แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ภูมิคุ้มกันของประชาชนมีมากน้อยเท่าไหร่ การฉีดวัคซีนจึงสำคัญ เพราะฉะนั้น ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ได้วัคซีนและฉีดเข็มกระตุ้นตามระยะเวลาที่เหมาะสม ยอดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อก็จะไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่ต้องกังวล” นพ.มานพ กล่าว
นายแพทย์จากศิริราชชี้ว่า ไทยต้องให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยก่อนหน้านี้เขาแสดงความคิดเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวด้วยว่า ควรสนใจว่าวัคซีน bivalent จะมาเมื่อไหร่ และควรมีการรณรงค์ให้ประชาชนฉีดอีก เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันจะลดลง และทำให้การระบาดกลับมาอีกครั้ง
สำหรับ นพ.มานพ หากประชาชนได้วัคซีนเข็มกระตุ้นชนิด bivalent ได้ก็จะดีที่สุด แต่ถ้ายังไม่มี คนกลุ่มเสี่ยง (โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ฉีดเข็มกระตุ้น–ฉีดไปแค่ 1 เข็ม–ฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน) จะฉีดเข็มกระตุ้นที่มีอยู่เลยก็ดี เพราะจะช่วยลดโอกาสการป่วยหนักหากติดเชื้อ
ขณะนี้ วัคซีนประเภท bivalent พัฒนาสำเร็จแล้ว และอยู่เต็มแขนประชาชนจำนวนมากทั้งในยุโรปและอเมริกา แต่ในไทยยังไม่มีรายงานการนำเข้ามา และยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากรัฐ
ในฐานะหมอ นพ.มานพ อาจตอบไม่ได้ว่าคนไทยจะได้ฉีดวัคซีน bivalent เมื่อไหร่ แต่เขาแสดงความเห็นไว้ว่า คงขึ้นอยู่กับบริษัทที่จัดหาวัคซีน และต้องคุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบถึงรูปแบบการจัดหาวัคซีน
“ที่ผ่านมาจะเป็นรูปแบบของรัฐจัดหาหมด ไม่รู้ว่าพอผ่อนคลายแล้ว รัฐจะยังเปนธุระจัดหาอยู่หรือไม่ หรือว่าจะให้แต่ละที่จัดหาได้เลย” นพ.มานพ ระบุ
ใครยังต้องฉีดวัคซีนบูสเตอร์บ้าง? แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ทุกคนควรต้องฉีดเข็มกระตุ้นเป็นระยะๆ โดยอาจมีลักษณะที่ฉีดตามฤดูกลาย คล้ายกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่กลุ่มที่สำคัญที่สุด คือ กลุ่มเสี่ยงสูง และผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม
สรุปแล้วก็คือ การระบาดระลอกใหม่เกี่ยวข้องกับภาวะ ‘ภูมิคุ้มกันตก’ ของประชาชนจริงๆ ซึ่ง นพ.มานพ เน้นย้ำว่า ทุกคนยังต้องให้ความสำคัญกับฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และควรตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่วัคซีนชนิด bivalent (ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า) จะมีในไทย