ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอีกไหม? เพิ่งจะติดไปเอาไงต่อ? รอวัคซีนเจนใหม่?
เมื่อสตอรี่ไอจีกลับมาถูกจับจองด้วยมนุษย์ 2 ขีด จาก COVID-19 กันรัวๆ ในช่วงนี้ ตัวเราเองก็ขยันเป็นกกลุ่มเสี่ยงวันเว้นวัน ด้วยการกลับไปเป็นมนุษย์สังคมเต็มตัวแล้ว ยิ่งพอบวกลบดูนี่ก็ผ่านมาพักใหญ่แล้วที่ฉีดวัคซีนไป จนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เราจะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอีกไหม?
The MATTER ชวนรู้จักวัคซีนชนิด bivalent ที่หลายประเทศหันมาใช้ให้บริการประชาชน พร้อมรวบรวมคำแนะนำของการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น
ควรรับวัคซีนเข็มกระตุ้นไหม?
“ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การติดเชื้ออีกต่อไป แต่อยู่ที่ว่า ภูมิคุ้มกันของประชาชนมีมากน้อยเท่าไหร่ การฉีดวัคซีนจึงสำคัญ เพราะฉะนั้น ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ได้วัคซีน และฉีดเข็มกระตุ้นตามระยะเวลาที่เหมาะสม ยอดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อก็จะไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่ต้องกังวล”
เป็นความคิดเห็นของ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร แพทย์อายุรศาสตร์ รพ.ศิริราช ในครั้งที่ The MATTER มีโอกาสพูดคุย ถึงสถานการณ์การระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้คนต่างรับวัคซีนเข็มสุดท้ายไปนาน ภูมิคุ้มกันก็จะตกตามธรรมชาติ
ผนวกกับความเข้มข้นของการป้องกันทั้งในระดับนโยบาย รวมถึงการผ่อนคลายของประชาชนเองที่เบาบางลง ก็ยิ่งสนับสนุนให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น
สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. ออกมายอมรับเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มยังไม่มาก เฉลี่ยไม่เกิน 10 รายต่อวัน
นั่นจึงเป็นที่มาของข้อแนะนำให้ ว่าต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้น หากทิ้งระยะจากเข็มล่าสุดนานเกิน 4 เดือนแล้ว ตามจุดบริการทั่วประเทศ และยังคงเน้นการลงพื้นที่เชิงรุก สำหรับกลุ่ม 608 ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือเป็นผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง หากไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับนานเกิน 6 เดือน ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วม
ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ก็ได้มีแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด ปี 2566 แล้ว โดยที่มุ่งเน้นกลุ่มเสี่ยง บุคลากรด่านหน้า และประชาชนที่สมัครใจ จำนวน 1-2 โดสต่อคน
แต่ยังไม่ระบุชัดเจนว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใดที่จะถูกใช้เป็นเข้มกระตุ้น เพื่อให้สามารถรองรับเชื้อที่กลายพันธุ์ได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่วัคซีนโควิดรุ่น 2 จะถูกยกมาพูดถึง
วัคซีนชนิด bivalent คืออะไร
อย่างที่เราทราบกันว่า ในขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกกำลังเร่งมือเพื่อพัฒนาวัคซีนมารับมือกับโรค เจ้าเชื้อ COVID-19 ก็ไม่เคยหยุดกลายพันธุ์ เพื่อให้อยู่รอดเช่นกัน นับตั้งแต่เราเริ่มรู้จักโอมิครอนรุ่นแรก (B.1.1.529) เมื่อต้นปี 2565 จนไม่นานออกลูกออกหลานเป็น BA.1, BA.2, BA.4, และ BA.5 ก่อนที่บ้างจะอยู่รอด บ้างก็กลายพันธุ์ และหลายประเทศยังพบไวรัสลูกผสม (recombinant variant) ทั้งจากเชื้อโอมิครอนด้วยกันเอง รวมถึงต่างสายพันธุ์ อย่างเดลตา และโอมิครอน BA.2
สู้มาสู้กลับไม่โกง นักวิทยาศาสตร์จึงใช้ประโยชน์จาก mRNA ที่เป็นสารพันธุกรรมที่เป็นต้นแบบในการสร้างโปรตีน มาพัฒนาเป็นวัคซีน mRNA ที่ขึ้นชื่อว่าผลิตได้เร็วในห้องปฏิบัติการ จนทำให้เกิดวัคซีน COVID-19 รุ่น 2 ที่เรียกว่า bivalent vaccine
ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง mRNA ของสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์โอมิครอน เพื่อใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นได้
โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) ก็ได้อนุมัติวัคซีนชนิด bivalent นี้แล้วในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งของ Moderna และ Pfizer สำหรับคนที่อายุ 12 ขึ้นไป ก่อนที่ถัดมาไม่นานจะขยายไปสู่เด็กอายุ 5-11 ปีด้วย
แล้วต้องทิ้งระยะนานแค่ไหน? เป็นอีกหนึ่งข้อสงสัยที่ทำเอาหลายคนลังเลใจ US FDA แนะนำว่าสามารถฉีดวัคซีน bivalent ได้ตั้งแต่ 2 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนเข็มสุดท้าย ทั้งในกรณีที่คุณเพิ่งจะได้รับวัคซีนมาแค่เข็มเดียว หรือใช้เป็นเข็มกระตุ้นก็ตาม
ทั้งยังบอกอีกว่า หากติดเชื้อไปแล้ว ก็ให้ทิ้งระยะห่าง 3 เดือนนับจากมีผลยืนยันติดเชื้อ
ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร
ช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงมีโอกาสสวมบทบาทเป็นหมอ ไม่ก็นักวิจัยจำแลง เพื่อพยายามทำความเข้าใจโรค COVID-19 ผ่านข่าว และบทความต่างๆ จึงอาจทราบว่าการจะผลิตวัคซีน และนำมาใช้ได้จริงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านขั้นตอนทดสอบทั้งในคนและสัตว์ ซึ่งยังมีแบ่งแยกย่อยออกเป็นหลายเฟสอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา ที่วัคซีนต่างๆ ต้องผลิตให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโรค จึงมีการอนุโลมให้ในกรณีจำเป็นอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมถึงวัคซีน COVID-19 รุ่นแรก
ด้านผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของ Yale ได้เขียนอธิบายถึงการทดสอบวัคซีน bivalent เอาไว้ว่า การทดสอบเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในกลุ่มผู้ใหญ่ และคาดการณ์ว่าจะไม่ทันในเดือนพฤศจิกายน แถมด้วยเหตุผลที่สถานการณ์ของโรคเปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้ผลลัพธ์ที่ส่งมาก็อาจจะล้าหลังไปแล้วก็ได้
แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยอมรับว่า ด้วยเหตุที่เทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน COVID-19 เป็นเรื่องใหม่มาก จึงยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะปัญหากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งจะรู้ผลลัพธ์ชัดเจนก็ต่อเมื่อการทดลองทางคลินิกเสร็จสิ้น
ทางผู้ผลิตอย่าง Moderna ก็ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเฟส 2 ในวารสารทางการแพทย์ เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งไม่ได้ศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโดยตรง แต่เเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกัน ก่อน-หลัง พบว่า คนที่ฉีดวัคซีน bivalent กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าคนที่ได้ฉีดวัคซีนรุ่นเดิม
ขณะที่ Pfizer เองก็เผยแพร่ผลการศึกษาในเฟสเดียวกัน ผ่านช่องทางของบริษัทว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นชนิด bivalent ทั้งในกลุ่มอายุ 18-55 ปี และกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป ในระยะ 1 สัปดาห์ มีระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญ Yale ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า วัคซีนชนิด bivalent นี้ จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือรักษาระดับภูมิคุ้มกันในระยะยาวได้ดีเพียงใด จนกว่าข้อมูลการทดลองในคนจะเสร็จสมบูรณ์ และวัคซีนถูกใช้อย่างแพร่หลายในผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
ในเบื้องต้น FDA US ได้ติดตามข้อมูลของวัคซีนชนิด bivalent ทั้งในเชิงประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ซึ่งก็มียังมีผลข้างเคียงที่คล้ายคลึงกกัน คือ ความเจ็บปวด รอยแดงและบวมบริเวณที่ฉีด เมื่อย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น ปวดข้อ และมีไข้
ประเทศไหนมีวัคซีน bivalent แล้วบ้าง
- สหรัฐอเมริกา
ในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มต้นฉีดไปตั้งแต่ วันที่ 2 กันยายนแล้ว ตั้งแต่ที่ US FDA อนุมัติในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ก่อนจะขยายต่อมายังเด็กเล็ก ทำให้พลเรือนสหรัฐเกือบทุกกลุ่มอายุ จะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นชนิด bivalent แทบทั้งหมด
- แคนาดา
แคนาดาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อนุมัติวัคซีนรุ่นใหม่ทั้งของ Moderna และ Pfizer แล้ว ในผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป แต่มีข้อแนะนำการใช้ตามช่วงอายุที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนตามผลการศึกษาที่เปิดเผยมา
- สหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักร เป็นชาติแรกที่อนุมัติให้ใช้วัคซีน Moderna แบบมีเงื่อนไข ตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยให้ใช้เป็นเข็มกระตุ้นในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปได้แล้ว
- ออสเตรเลีย
เช่นเดียวกัน ออสเตรเลียได้อนุมัติวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดนี้ธุ์ของ Moderna ให้สามารถใช้ฉีดได้สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยจะเริ่มใช้เมื่อวัคซีนชุดเดิมใช้จนหมด
- สิงคโปร์
สำนักวิทยาศาสตร์สุขภาพของสิงค์โปร (HSA) ได้อนุมัติวัคซีนให้ใช้วัคซีนของ Moderna ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นการชั่วคราว ซึ่งนับเป็นวัคซีนชนิด bivalent ตัวแรกที่ได้รับอนุมัติในสิงค์โปร์ โดยได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา
จึงเกิดเป็นคำถามต่อไปว่า เมื่อไหร่วัคซีนชนิด bivalent ถึงจะมีใช้ในบ้านเรา?
อ้างอิง