“เลือดต้องแลกด้วยเลือด”
“เราพร้อมที่จะแลกชีวิตกับการต่อสู้ครั้งนี้”
ตะวัน—ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม—อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมอิสระ คือจำเลยในคดี ม.112 ที่ตัดสินใจยื่น ‘ถอนประกันตัวเอง’ ต่อศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องขังการเมืองทุกคน
แต่เมื่อข้อเรียกร้องไม่เป็นผล ก็ทำให้ทั้งสองประกาศยกระดับ ด้วยการ ‘อดอาหารและน้ำ’ หรือที่เรียกว่า ‘dry fasting’ จากในทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา การอดอาหารแบบดังกล่าวนั้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่นาน ขณะที่อาการของตะวันและแบมก็เริ่มทรุดลง
ทำไมต้องจับตา ‘ตะวัน–แบม’ The MATTER สรุปไว้สั้นๆ ดังนี้
เมื่อวันที่ 16 มกราคม ตะวันและแบมได้มาประกาศถอนประกันตัวเองที่หน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังการเมืองทุกคน รวมถึงประกาศข้อเรียกร้อง 3 ประการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีเวลาให้ศาลและพรรคการเมือง 3 วัน หากไม่เป็นผลก็จะยกระดับจากในเรือนจำ โดยข้อเรียกร้องมีดังนี้
- ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระ ปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
- ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง
- พรรคการเมืองทุกๆ พรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116
ผ่านมา 3 วัน จนถึงวันที่ 18 มกราคม เมื่อข้อเรียกร้องไม่เป็นผล ตะวันและแบมจึงยกระดับด้วยการ ‘อดอาหารและน้ำ’ โดยระบุผ่านวิดีโอซึ่งบันทึกไว้ล่วงหน้า และเผยแพร่ผ่านบัญชีเฟซบุ๊กของตะวันว่า “ต่อให้พวกเราจะอดอาหารและน้ำก็ตาม เราจะไม่มีวันที่จะยื่นประกันตัวเอง จนกว่าเพื่อนของเราทุกคนจะได้ออกมา และข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นผล
“เราพร้อมที่จะแลกชีวิตกับการต่อสู้ครั้งนี้” ตะวันและแบมกล่าว
การอดอาหารและน้ำ หรือ ‘dry fasting’ ทำให้หลายฝ่ายกังวล เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เคยมีรายงานที่จัดทำโดยสมาคมการแพทย์อังกฤษ (British Medical Association) เมื่อปี 2006 ระบุว่า ‘dry fasting’ จะทำให้ขาดน้ำ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถอยู่รอดได้ และอาจเสียชีวิตภายในสัปดาห์เดียว
อย่างไรก็ดี ทั้งตะวันและแบม ก็เคยประกาศในวันที่มายื่นถอนประกันว่า “อยากจะบอกทุกคนเอาไว้ว่า ในสถานการณ์แบบนี้ อยากจะขอให้ทุกคนเชื่อมั่นพวกเรา ว่าพากเราได้คิดกันมาอย่างดีแล้วว่าเราทำไปเพื่ออะไร”
ขณะที่ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ให้ความเห็นว่า “น้องเขาคงคิดดีแล้วว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้ เพดานเสรีภาพฝ่ายเราจะแคบลงและหดหายไป น้องเขาคิดถี่ถ้วนแล้วว่าเขายินดีเสียสละ เราเป็นห่วง และไม่อยากให้เขาตายก็ถูกต้องแล้ว ทว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ฝ่ายเผด็จการรุกคืบไปมากกว่านี้ ทำอย่างไรจะรักษาชีวิตน้องเขาไว้ได้ มีเวลาไม่น่าจะเกิน 7-10 วัน”
เช่นเดียวกับ รุ้ง—ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “จากวันนี้ ตอนนี้ เราเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก่อนที่ตะวันกับแบมจะถึงจุดวิกฤติจากการอดอาหารและน้ำ น้องอาจจะอยู่ได้ไม่ถึงอาทิตย์ด้วยซ้ำ ตะวันกับแบมได้พูดก่อนเข้าไปว่า “ไทยเฉยเราจะตายกันหมด” และ “เราไว้ใจคนที่อยู่ข้างนอก” โปรดสนใจเรื่องนี้”
ล่าสุด วันนี้ (20 มกราคม) เข้าสู่วันที่ 3 ของการอดอาหารและน้ำ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตะวันและแบมได้ถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว แพทย์กำลังตรวจร่างกายเพื่อประเมินว่าต้องแอดมิตหรือไม่ โดยอาการของทั้งสองเมื่อวานนี้ (19 มกราคม) ประกอบด้วย
- กระหายน้ำ
- ปัสสาวะน้อย ทิ้งช่วงนานกว่าปกติ (ตั้งแต่ตื่นจนถึง 10.00 น. ตะวันไม่ปัสสาวะเลย)
- อ่อนเพลีย
- วิงเวียนศีรษะ
ยิ่งเป็นเหตุให้ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
แต่ทั้งหมดนี้ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ตะวันและแบมต้องอดอาหารและน้ำไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “คนที่อดอาหารประท้วง ไม่ได้กำลังเรียกร้องจากศัตรู เพราะศัตรูไม่มีวันเห็นอกเห็นใจ มีแต่จะสมน้ำหน้าทำร้ายตัวเองก็ตายๆ ไปซะ
“แต่การอดอาหารประท้วงเป็นข้อเรียกร้องต่อคนฝ่ายเดียวกัน คนที่รักและเห็นใจกันอยู่ ให้ทำอะไรมากกว่าที่เคยทำมา”