“เราพร้อมที่จะแลกชีวิตกับการต่อสู้ครั้งนี้”
คำประกาศก่อนยื่นถอนประกันตัวเองของสองนักกิจกรรม ‘ตะวัน-แบม’ เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา และเมื่อศาลสั่งถอนประกันตามคำร้อง พวกเธอก็เดินหน้าต่อด้วยการอดอาหาร-น้ำ เพื่อเรียกร้องต่อข้อประท้วง 3 ข้อ นั่นคือ
1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระ ปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
2. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง
3. พรรคการเมืองทุกๆ พรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116
ทั้งสามข้อที่พวกเธอเรียกร้อง ส่งตรงถึงผู้เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน และหนึ่งในผู้ที่เกี่ยวข้องก็คือ ‘พรรคการเมือง’ ซึ่งตะวันและแบม เรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรค ตอบรับข้อเรียกร้องที่ 3
ด้วยเหตุนี้ เราจึงไปพูดคุยกับตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ โดยตัวแทนจากพรรคการเมืองที่เราติดต่อได้มี 3 คน นั่นคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย และธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ขณะที่อีกสองพรรคการเมืองที่เราได้ติดต่อไปนั้นคือ ภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ แต่ไม่มีการตอบรับกลับมา
ถึงอย่างนั้น ก็ขอชวนมาฟังข้อคิดเห็นของทั้ง 3 คนกัน เพื่อสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อข้อเรียกร้องเหล่านี้ โดยเฉพาะ คำถามที่ว่า จะสามารถเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116 ได้หรือไม่
“ไม่ควรมีใครต้องถูกคุมขังเพียงเพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมือง” คำกล่าวจาก ธีรรัตน์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เมื่อพูดถึงหนึ่งในข้อเรียกร้องของตะวัน-แบม
ธีรรัตน์กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ถ้าย้อนกลับไปตอนที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างเสรี ถ้าหากว่าไม่ได้เป็นการไปหมิ่นประมาท หรือเป็นการทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ หรือความคิดเห็นที่แตกต่างตามข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย
“เราไม่เคยตั้งข้อหาหรือว่าเรียกเขามาขังเลย เพราะเราไม่เห็นด้วยกับการปิดปากประชาชน”
สิ่งที่ธีรรัตน์กล่าวถึง คือข้อเรียกร้องที่สองว่าด้วยการยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง ทั้งยังยืนยันว่า การเรียกร้องคือสิทธิที่ประชาชนสามารถทำได้ตามหลักรัฐธรรมนูญ ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกันนี้แล้ว ที่ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น
“เพราะฉะนั้น เราเองก็เห็นด้วยว่าต้องปล่อยนักโทษที่เรียกว่า ยังไม่ได้ถูกตัดสิน หรือยังไม่ได้รับการพิจารณาใดๆ เลยด้วยซ้ำ เราไม่เห็นด้วยกับการที่เอาพวกเขาไปคุมขังอยู่ในขณะนี้ เราเรียกร้องขอให้ทุกคนได้รับการปล่อยตัว”
เธอยังย้ำอีกว่า ข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ เราต้องเอามานั่งคุยกันว่า อันไหนที่เป็นไปได้ อันไหนที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการในระบบรัฐสภาต่อไป ซึ่งมันเป็นไปได้อยู่แล้ว ถ้าหากว่าเราให้ความสำคัญตรงนี้ได้
ขณะที่ ศิธา จากพรรคไทยสร้างไทย เริ่มด้วยการแบ่งประเด็นออกเป็นสองส่วน อย่างแรกคือคดีของตะวันและแบมเป็นคดีที่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ โดยเขากล่าวว่า เวลาคนอยู่รวมกัน ก็มีข้อกฎหมายที่อาจจะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่ในระบอบประชาธิปไตย การออกกฎหมายมาจากประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อกฎหมายออกมา กฎหมายทุกกฎหมาย มันจะกำหนดสิทธิเสรีภาพของคนทั้งหมดอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะจำกัดประมาณไหน
“ในเรื่องคดีของน้องเขาได้ประกันตัว แต่เขาไปถอนประกัน แล้วก็กลับเข้าไปใหม่ อันนี้ก็คิดว่าถ้าเกิดเขาได้ประกันตัวแล้ว แล้วต้องการอิสรภาพส่วนตัว ก็กฎหมายก็ได้ให้โอกาสในการประกันตัวออกมาแล้ว แต่ว่าเป็นสิทธิของน้องว่า อาจจะไม่อยากประกันตัว หรือว่าเข้าไปเพื่อต้องการเรียกร้องอะไรบางอย่าง อันนี้จะเป็นอีกเรื่องนึง”
ส่วนประเด็นที่สอง คือเรื่องของข้อเรียกร้อง ซึ่งศิธากล่าวว่า เรื่องของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เขาเห็นด้วยกับการที่ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออก และปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
เขาย้ำว่า กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นมาตรฐานเดียวอย่างแท้จริง แล้วศาลก็ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน นี่เป็นหลักการที่ถูกต้อง แล้วเขาเองก็สนับสนุนว่า ศาลต้องมีความยุติธรรม และทุกคนต้องมีสิทธิเสรีภาพในมาตรฐานเดียวกัน
สำหรับข้อเรียกร้องที่สอง ว่าด้วยการยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง
“ต้องเข้าใจว่า ในเมื่อกฎหมายออกมา กฎหมายก็จะมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในบางส่วนซึ่งอาจจะมองว่า สิทธิเสรีภาพของบุคคลหนึ่ง ไปรบกวนอีกบุคคลหนึ่ง หรือว่าอาจจะมีข้อเงื่อนไข ซึ่งมันออกเป็นกฎหมายที่ผ่านสภามา เพราะงั้นถือว่า เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนให้ผ่านกฎหมายนี้ จะยกเลิก ไม่ยกเลิก อีกเรื่องนึง แต่ในเมื่อมีกฎหมายแบบนี้แล้ว การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะยุติการดำเนินคดีกับประชาชน ถ้าเขาทำ เขาก็จะไปผิด ม.157 พอผิด เขาก็จะโดนดำเนินคดีเองว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ เพราะกฎหมายกำหนด มันก็จะเป็นไปได้ยาก”
ดังนั้นแล้ว ศิธากล่าวว่า การยุติการดำเนินคดีกับประชาชน ซึ่งมีข้อกฎหมายบัญญัติไว้ ถ้ากฎหมายระบุว่าผิด เขาก็จะยุติไม่ได้ ต้องว่าตามข้อกฎหมาย เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายด้วย
แต่ถ้าเป็นการยัดเยียดข้อหาโดยไม่มีการกระทำผิด ศิธาก็ย้ำว่า เป็นเรื่องที่ต้องไปนำสืบ ไปเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล แล้วศาลก็จะมีมติยกฟ้อง หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็ถ้าเกิดมีโทษต้องจำคุก เขาก็ควรที่จะให้ประกันตัว ในกรณีที่ไม่ได้จะออกมาแล้วไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่ได้ออกมาแล้วก็จะไปกระทำอะไรซึ่งขัดต่อข้อกำหนดในการประกัน ถ้าอย่างนั้น ต้องให้สิทธิในการประกันตัว 100% โดยที่เมื่อประกันออกมาแล้วไม่ได้ผิดกฎหมาย
ในส่วนของข้อเสนอว่า พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ โดยการยกเลิกมาตรา 112 และ 116 ศิธามองว่า 2 มาตรานี้เป็นประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งระบุอยู่ในข้อกฎหมายอยู่แล้ว พรรคการเมืองมีสิทธิที่จะเสนอยกเลิกหรือไม่ก็ได้ และประชาชนก็มีสิทธิที่จะพิจารณาว่าเราจะไม่ลงคะแนนให้กับพรรคนั้น ดังนั้น ถ้าจะเรียกร้องว่า คุณต้องเสนอตามที่ฉันต้องการ ถ้าพูดตามระบอบประชาธิปไตยจริงๆ มันก็อาจจะก็ขัดกับประชาธิปไตย
“ตั้งใจที่จะตอบรับทั้งหมด เรื่องเกี่ยวกับการยุติการดำเนินคดี การปฏิรูป เกี่ยวกับระบบ อันนี้แน่นอน เรื่องเกี่ยวกับ ม.112 พรรคก้าวไกลก็พยายามที่จะทำให้เกิดการแก้ไขในสภาอย่างมีวุฒิภาวะหลายรอบ แต่ว่าไม่ได้รับการตอบสนอง” พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว
ถึงอย่างนั้น พรรคก้าวไกลก็จะพยายามลองดูอีกที เพื่อให้บทสนทนาในพื้นที่ปลอดภัยกับสังคมเกิดขึ้น
“ถ้าสภายังไม่ยอมรับอีก ยังไม่ยอมให้มีการพูดถึง ม.112 ที่ใช้มาโจมตีอีก ไม่พูดถึงเรื่องโทษที่หนักเกินไปอีก ไม่พูดถึงเรื่องที่ว่าใครก็ฟ้องได้อีก แล้วก็ไม่พูดถึงขอบเขตในการควบคุมได้อีก กลัวว่าประเทศและสังคมจะไม่มีทางเลือกเหลือ จนกระทั่งต้องไปถึงการยกเลิก”
เมื่อถามว่า ถ้ามีการยุบสภาเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป พิธาก็ตอบกลับว่า คงต้องพูดกันในเรื่องของการเมืองก้าวหน้า และการเข้าสู่กระบวนการของ ICC ด้วย รวมถึงเรื่องการแก้ไขด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทางการเมือง เพื่อที่จะเซ็ตซีโร่ เพื่อที่จะให้ประเทศไทยเกิดความสมานฉันท์ที่แท้จริงขึ้นได้เมื่อมันเกิดความยุติธรรม
คำถามที่น่าสนใจอีกก็คือ แต่ละพรรคมีจุดยืนในข้อเรียกร้องเรื่อง ม.112 อย่างไร?
คำตอบนี้ ศิธากล่าวว่า เรื่องของ ม.112 เป็นเรื่องที่แบ่งออกเป็นสองส่วน นั่นคือ เรื่องสิทธิเสรีภาพ กับขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งมีนาน
“เรามองว่า มันเผชิญหน้ากันแล้วก็ ในวาระที่ประเทศมีประเด็นปัญหา COVID-19 ปัญหาเศรษฐกิจอีกเยอะแยะ แล้วยังจะมาชูประเด็นที่สองฝ่ายต้องมาสู้กันตรงนี้อีก ผมจึงมองว่า ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคการเมือง เป็นจุดยืนของแต่ละพรรคการเมืองว่าเขาจะเสนอยังไง”
“แต่ถ้าถามว่า เราจะเสนอยังไง เราก็ทราบชัดเจนแล้วว่า อาจจะมีบางพรรคที่บอกว่า ม.112 ต้องเด็ดขาด เอาจนถึงว่า โทษต้องหนักๆ ไปเลย อันนั้นเราก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่บางพรรคบอกว่า ต้องยกเลิกไปเลย ก็ถือว่าเป็นนโยบายของพรรคเขาได้ แต่ว่าประชาชนก็จะเลือกเองว่า ถ้าเห็นด้วยกับพรรคนี้ เขาก็จะเลือก
ศิธาย้ำว่า การจะให้เพิ่มโทษ ม.112 ให้แรงไปเลย ตัวเขาก็ไม่เห็นด้วย แต่การบอกว่า ต้องยกเลิกเท่านั้น ตัวเขาก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน และเขาคิดว่า มันเป็นสิทธิของแต่ละคนที่ว่าจะมีจุดยืนแบบไหน แล้วประชาชนก็จะเลือกเองว่าอยากให้เสียงข้างมากไปในทางไหน
“ส่วนจุดยืนเราจะคงไว้ซึ่ง ม.112 หรือจะยกเลิก ม.112 หรือจะเพิ่มโทษ ม.112 ตรงนี้เรายังไม่ได้พูดถึงจุดนั้น แต่ถ้าเกิดเป็นประเด็นที่หนักหนาขึ้นมา ก็แน่นอนว่า เราจะหยิบมาพูดถึงแน่นอน”
ขณะที่ธีรรัตน์ ย้ำว่า ในเรื่องของ ม.112 และ ม.116 นี้ พรรคเพื่อไทยเคยพูดมาก่อนแล้วว่ามันต้องแก้ไข เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีปัญหาเรื่องของวิธีการที่จะร้องเรียนหรือว่ากล่าวหาบุคคลที่ให้ใครก็ได้เป็นผู้ร้องเรียน การที่ให้ใครก็ได้มากล่าวหา มันทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง โดยที่ไม่สามารถเอาข้อเท็จจริงมากางบนโต๊ะ แล้วก็พิสูจน์ได้เลย แต่พอถูกกล่าวหา ก็จะถูกจับกุมทันที ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ที่ถูกกล่าวหา เพราะฉะนั้น ต้องมีการแก้ไขให้ชัดเจน
“เราต้องมีพื้นที่ให้พวกเขาพูดคุย ตอนนี้ไม่ใช่แค่น้องสองคน คือทั่วประเทศแล้วที่เขารู้สึกว่ามันมีความผิดปกติเกี่ยวกับกฎหมายนี้ อันนี้เราก็เป็นกังวล แล้วก็อยากที่จะให้ผู้ที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้ พูดคุย เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคน แล้วก็น้องๆ ที่เรียกร้องอยู่ในขณะนี้ ได้มีพื้นที่แล้วก็มานั่งคุยกัน อะไรที่ทำได้ อะไรที่รับเป็นข้อเสนอและนำไปปฏิบัติต่อได้”
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันที่จะแก้ไข ม.112 ใช่หรือไม่ ธีรรัตน์ก็ย้ำว่า ยืนยันว่าจะแก้ไข ขนาดในตอนนี้ที่เหลือเวลาอีกแค่ไม่รู้ว่าจะไปกันต่อยังไง เราก็ยังมีความพยายามอย่างสูงสุดในการที่จะแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาอยู่ในเรื่องของ ส.ว. แล้วก็เรื่อง ม.159 เรื่องที่มาของนายก
“แม้ว่านโยบายหลัก หรือยุทธศาสตร์หลักของเพื่อไทย ตอนนี้มันเล่นเรื่องของการแก้ไขปัญหาปากท้อง เรื่องของเศรษฐกิจที่ไม่ดี แต่แน่นอนเราไม่ได้มีเฉพาะเพียงเศรษฐกิจเท่านั้น ผู้ที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย เรื่องของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ยังมีอยู่ เราสามารถควบคู่กันไปได้ ฉะนั้น ลองเดินหน้าทำสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ ให้มันหมดไปพร้อมๆ กันได้”
ขณะเดียวกัน เมื่อถามหัวหน้าพรรคก้าวไกลว่า มีนโยบายที่จะแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ไหม พิธาก็ตอบกลับมาว่า เป็นจุดยืนมากกว่านโยบาย แล้วก็เป็นสิ่งที่พรรคทำมาตลอดอย่างที่เคยเห็นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร
พิธาย้ำว่า หวังว่าจะให้เกิดการแก้ไขมาตรานี้ แต่ว่าทั้งหมดทั้งมวลมันเป็นเรื่องของสภา กฎหมายเป็นเรื่องของสภาที่จะต้องทำ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมี ส.ส.เข้าไป ก็ยังจะเดินหน้าทำเรื่องนี้ต่อในสภา
แต่ก็ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของ ม.112 ยังมีสิ่งที่ต้องทำมากกว่านั้น ซึ่งก็คือเรื่องของ ICC ปฏิรูประบบยุติธรรม และนิรโทษกรรมทางการเมือง
“ทั้งหมดนี้ เพื่อที่จะให้เกิดความยุติธรรม แล้วเมื่อเกิดความยุติธรรมก็จะเกิดความสมานฉันท์ ถ้าจะให้มีความสมานฉันท์แต่ไม่มีความยุติธรรม มันก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง”