ป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองเริ่มถูกติดตั้งตามขอบถนน เป็นสัญญาณว่าใกล้เข้าสู่ฤดูเลือกตั้งเต็มที ซึ่งหนึ่งในป้ายหาเสียงที่สะดุดตาเราคือ ‘พรรคไทยเป็นหนึ่ง’ พรรคน้องใหม่อายุ 2 ขวบที่นำเสนอนโยบายแหวกแนว ให้คำมั่นว่าจะปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า และปรับกฎหมายเอาใจสายปาร์ตี้ ลดอายุเข้าสถานบันเทิงจาก 20 ปีเหลือ 18 ปี พร้อมขยายเวลาเปิดเป็นตี 2
เมื่อพรรคน้องใหม่มีนโยบายแหวกแนวแบบนี้ เราจึงตัดสินใจติดต่อพูดคุยกับ หนึ่ง — ศิระ อวยศิลป์ หัวหน้าพรรคไทยเป็นหนึ่ง ในบทสนทนาความยาวครึ่งชั่วโมง เขาย้ำเป้าหมายในการเลือกตั้งให้เราฟังว่า “ส.ส. 25 ที่นั่ง” และ “พรรครัฐบาลเท่านั้น”
1.จุดเริ่มต้นพรรคไทยเป็นหนึ่ง
อดีตผู้จัดละคร ‘ดาวย้อมแสง’ ทางช่องไอพีเอ็มเล่าว่า การมาทำงานการเมืองครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะ “ตกกระไดพลอยโจน” มากกว่าตั้งใจลงมาเล่นการเมืองอย่างจริงจัง เขาเล่าว่าตัวเองถูกโกงในการทำธุรกิจก่อสร้างกับหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง จึงพยายามเข้าไปร้องเรียนเพื่อทวงเงินคืน และเมื่อได้เห็นว่าปัญหาที่ตนเผชิญมีหลายคนเผชิญร่วมกันจึงนำมาสู่การปรึกษาผู้ใหญ่เพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง
แม้ในท้ายที่สุด ผู้ใหญ่คนดังกล่าวก็ไม่ได้เข้าร่วมด้วย แต่ตัวเขาเองก็เดินหน้าตั้งพรรคไทยเป็นหนึ่งจนสำเร็จ และปัจจุบันมีอายุกว่า 2 ปีแล้ว โดยในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พรรคไทยเป็นหนึ่งพร้อมส่งผู้สมัครลงชิงชัยใน 7 จังหวัด 39 เขต และชี้แจงว่านี่จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกและครั้งเดียวของพรรค
“ในเมื่อเราไม่ใช่นักการเมือง เราตั้งเป้าไว้ลงสมัครแค่สมัยเดียว ส่งให้พรรคไทยเป็นหนึ่งเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง” เขากล่าว
2.นโยบายเอาใจสายปาร์ตี้
ในป้ายหาเสียงที่พื้นหลังเป็นสีม่วง พรรคไทยเป็นหนึ่งนำเสนอนโยบาย 2 ข้อที่น่าสนใจ ลำดับแรกคือ ปรับปรุงระเบียบสถานบันเทิง ลดอายุคนเข้าผับเหลือ 18 ปี และขยายเวลาเปิด-ปิดผับเป็นตี 2
เขาเล่าถึงที่มาที่ไปของนโยบายนี้ให้ฟังว่า แต่เดิมสมัยตัวเขาเป็นวัยรุ่น สถานบันเทิงไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำ และผับส่วนใหญ่สามารถเปิดได้จนเช้า ก่อนที่ต่อมาจะมีการปรับอายุและช่วงเวลาเปิด-ปิดจนมากำหนดที่อายุขั้นต่ำ 20 ปี และสถานบันเทิงปิดตี 1 เช่นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เขามองว่าระเบียบดังกล่าวก็ถูกละเมิดอยู่เป็นนิจ สถานบันเทิงยังเปิดเกินเวลา เด็กต่ำกว่า 20 ปีก็ยังคงเข้าได้ ที่สำคัญ มันกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานข้าราชการใช้อำนาจเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการเสียเอง
“เราเอาความจริงมาพูดกันดีกว่า ทุกวันนี้ผับทุกผับแทบ 100% ก็มีเด็กไปเที่ยว ผับยังเปิดตี 4 แต่ต้องจ่ายเงินตำรวจ มันกลายเป็นช่องทางทำมาหากินของตำรวจและหน่วยงานราชการ งั้นเราปรับให้เป็นนโยบายเลย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเขาเป็นอย่างนั้น เอาความจริงของสังคมมาพูดกัน ไม่ต้องโลกสวย” ศิระชี้แจง
อีกนโยบายหนึ่งที่พรรคไทยเป็นหนึ่งชูขึ้นคือ ปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเขามองว่าสถานะบุหรี่ไฟฟ้าสร้างความสับสนให้สังคม และเปิดช่องทางให้ตำรวจทุจริตคอรัปชั่น ดังนั้นจึงควรแก้ไขเช่นเดียวกับระเบียบสถานบันเทิง
“สองนโยบายนี้เป็นนโยบายที่เอามาดึงกระแส เพราะคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านคนได้” เขายอมรับอย่างตรงไปตรงมา “นโยบายนี้ไม่ได้ขัดกับพรรคไหน เราจะไม่มีความขัดแย้งใดๆ กับพรรคอื่นเลย เราเสนอความสุขให้ประชาชนเพิ่มมากขึ้น ในสิ่งที่ประชาชนควรได้รับ และผู้ประกอบการไม่ต้องไปจ่ายส่วยให้ตำรวจ”
เขาให้คำมั่นสัญญาว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล จะดำเนินการตาม 2 นโยบายข้างต้นให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพราะ “มันแก้ง่ายมาก แค่กำหนดเป็นกฎกระทรวงและเอาเข้า ครม.”
3.จุดยืนพรรคไทยเป็นหนึ่ง
“พรรคไทยเป็นหนึ่งไม่มีสี อยู่ตรงกลาง และจะเป็นรัฐบาลเท่านั้น” หัวหน้าพรรคไทยเป็นหนึ่งตอบคำถามถึงจุดยืนของพรรคว่า อุดมการณ์ทางการเมืองไม่สำคัญเท่านโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน ดังนั้น พรรคไทยเป็นหนึ่งสามารถรวมได้กับทุกพรรคไม่ว่า ‘พรรคฝั่งประชาธิปไตย’ หรือ ‘พรรคฝั่งเผด็จการ’
“เป้าหมายของเราคือ ส.ส. 25 ที่นั่ง จากปาร์ตี้ลิสต์ 10 ที่นั่ง และเขตอีก 15 ที่นั่ง ดังนั้น พรรคที่จะเป็นรัฐบาลในอนาคต ต้องมาง้อเราให้เข้าไปร่วม และเราจะเป็นจุดยืนที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” เขากล่าวต่อถึงเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งนี้
จุดยืนสำคัญอีกเรื่องนึงที่ยืนยันคือ พรรคไทยเป็นหนึ่งไม่มีนโยบายแตะ ม.112 ถึงแม้จะมองว่าบางจุดควรแก้ไข แต่จะไม่มีการประกาศว่าจะแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อดึงคะแนนเสียงโดยเด็ดขาด
“ต้องบอกว่าพรรคจะไม่แตะ ม.112 เราไม่ยุ่งดีกว่า เราจะทำตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีประมุขอยู่เหนือการเมือง ดังนั้น เราในฐานะนักการเมืองจะไม่แตะต้องสถาบันครับ” เขากล่าว
เมื่อเราถามต่อว่า แล้วถ้าบางพรรคมีจุดยืนแก้ไข ม.112 เช่นพรรคก้าวไกล พรรคไทยเป็นหนึ่งยังสามารถร่วมรัฐบาลได้ไหม คำตองของเขาคือ “ได้” แต่จะไม่มีการโหวตร่วมแก้ไข ม.112 ร่วมกับพรรคอื่นโดยเด็ดขาด
“ใครก็ได้ที่เป็นรัฐบาลเราเข้าร่วมหมด แต่เราจะไม่ยุ่งดีกว่าเรื่อง ม.112 เราเอาเวลาไปทำนโยบายสร้างสุขให้กับประชาชนดีกว่าเอาเวลาไปปฏิรูปสถาบัน มันไม่ใช่ความสุข หนึ่งเชื่อว่าความสุขของประชาชนมีด้านอื่นอีกเยอะแยะที่ไม่ต้องล้มล้างสถาบัน” เขากล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวขึ้นมาว่าอยากยื่นมาเข้าช่วยกลุ่มหาเยาวชนที่เป็นนักโทษการเมือง โดยอยากให้ความช่วยเหลือในการทูลเกล้าถวายฎีกาถึงพระมหากษัตริย์เพื่อให้พระราชทานอภัยโทษแก่เยาวชนกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าจะมีการตอบรับจากสถาบันกษัตริย์
“เราอยากยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ โดยการถวายฎีกาต่อในหลวง เพราะสถาบันไม่สามารถยื่นมือลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ดังนั้น สถาบันอยู่ในจุดที่อึดอัด ทั้งที่ใจจะขาดอยากจะช่วยเด็ก นี่เป็นมุมมองหนึ่งที่หนึ่งมอง คนอยู่บ้านเดียวกัน ไม่มีใครอยกาเห็นคนตายต่อหน้าต่อตาหรอก” เขาระบุ
เมื่อเราถามต่อว่า การขอให้สถาบันใช้อำนาจพระราชทานอภัยโทษยิ่งไม่เข้าข่าย ‘โหนเจ้า’ เสียเองหรือ เพราะปัญหาของ ม.112 เกิดขึ้นจากความไม่รัดกุมของกฎหมายมากกว่า เขาตอบว่า “เราขอพระราชทานอภัยโทษจะเป็นการโหนเจ้าได้ยังไงครับ ณ วันนี้ต้องบอกว่าเรื่อง ม.112 เกิดจากกลุ่มการเมืองที่หวังได้คะแนนเสียงทางการเมือง มันคือการโหนเจ้าเพื่อให้ได้คะแนนเสียง และเป็นการดึงฟ้าให้ต่ำเพื่อให้ได้คะแนนเสียงเท่านั้นเองครับ” เขาอธิบายความคิดของตัวเอง
“ดังนั้น เรามองถึงการเป็น ม.112 สายกลาง เชิดชูสถาบันทางอ้อมด้วยโครงการพระราชดำริของในหลวง ร.9 อย่าง นโยบายของพรรคเราก็มีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มันเป็นการเชิดชูสถาบันทางอ้อม เพื่อทำให้เยาวชนเห็นว่าที่ผ่านมาในหลวง ร.9 ทำอะไรบ้าง” เขาทิ้งท้าย