หลายคนรู้จักเธอจากหลากหลายชื่อ ลักขณา ปันวิชัย, ฮิมิโตะ ณ เกียวโต, คำผกา แต่สำหรับชาวเน็ตที่ติดตามการเมือง ‘นางแบก’ น่าจะเป็นอีกอัตลักษณ์และชื่อหนึ่งที่ถูกแปะป้ายให้เธอ
เมื่อสถานการณ์การเมืองกำลังสุกงอมถึงที่สุด พรรคอันดับ 1 อย่างก้าวไกลถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้าน และพรรคอันดับ 2 อย่างเพื่อไทยทำสิ่งที่ค้านความเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางส่วน ด้วยการฉีก MOU ของ 8 พรรค และประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทยอย่างเป็นทางการ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้โลกทวิตเตอร์พากันติดแฮชแท็กถึงพรรคเพื่อไทย อาทิ #เพื่อไทยการละคร หรือ #เพื่อไทยทรยศประชาชน เป็นนัยยะแสดงความผิดหวังถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่เคยสัญญาไว้ก่อนหาเสียงเลือกตั้งว่าจะ “ไล่หนูตีงูเห่า”
แต่ไม่ว่าโลกโซเชียลมีเดียจะเดือดดาลพรรคเพื่อไทยแค่ไหน กลุ่ม ‘นางแบก’ ของพรรคก็ยังคงยืนยันสนับสนุนทุกการตัดสินใจของเพื่อไทยอยู่เช่นเดิม คำถามคือทำไมเป็นเช่นนั้น?
“มันอาจไม่ตรงกับความคาดหวังหรือความปราถนาของเราที่อยากเห็นพรรคฝั่งประชาธิปไตยจับมือกันไปให้ถึงฝั่งฝัน แต่ถามว่าพรรคเพื่อไทยอยากจะเป็นรัฐบาลโดยไม่สนอะไร (no matter what) มันผิดหลักการประชาธิปไตยตรงไหน เขาเอารถถังออกมายึดอำนาจจากใครหรือ” แขก คำผกาอธิบาย
ในจังหวะเวลาที่เพื่อไทยกำลังเป็นตำบลกระสุนตก เราได้เดินทางไปที่ Voice TV เพื่อพูดคุยกับ ลักขณา ปันวิชัย หรือ แขก คำผกา aka นางแบกตัวแม่ถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ทำไมเธอถึงรับได้กับการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เธอมองปัญหาการเมืองไทยตอนนี้อย่างไร รวมถึงมองปรากฎการณ์ นางแบก vs ด้อมส้ม (ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล) อย่างไร
คำตอบทั้งหมดอยู่ด้านล่างของบทสัมภาษณ์นี้ แต่ขอเตือนก่อนเลยว่า ‘แซ่บ’ และอาจทำให้บางคนกำหมัด กัดฟัน กระทืบเท้าโดยไม่รู้ตัว
*บทสนทนานี้ เกิดขึ้นในเวลา 14.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม 2566*
ถามพี่แขกก่อนว่าทำไมถึงเรียกตัวเองและนิยามตัวเองว่า ‘นางแบก’
แขกไม่ได้เริ่มเรียกตัวเองว่านางแบก (หัวเราะ) คำว่า ‘นางแบก’ มีที่มายาวนานมาก ตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ตอนนั้นมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สส.ที่เหมือนเอลวิส (ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ) อภิปรายยาวมากจนหมดเวลา (รังสิมันต์) โรมเลยไม่ได้อภิปรายคุณประวิตร (วงษ์สุวรรณ) เรื่องป่ารอยต่อในสภา ซึ่งตอนนั้น ปิยบุตร (แสงกนกกุล) ก็ทวีตรัวๆ เลยว่าคุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธุ์) ไปเกี๊ยเซี๊ยะกับคุณประวิตร ใช้ศรัณย์วุฒิดึงเกมทำให้เวลาของการอภิปรายหมด
แต่พอแขกเช็กข้อมูลกับคุณสุทิน คลังแสง (ประธานวิปฝ่ายค้าน) แล้วได้ทราบว่า โดยปกติ เราสามารถขอประธานสภาขยายเวลาอภิปรายออกไปได้ แต่รอบนี้ประธานสภาไม่อนุญาต แขกก็ทวิตเหตุผลที่โรมไม่ได้อภิปรายว่าไม่ได้เกิดจากการเกี๊ยเซียะ แต่เกิดจากเหตุผลแบบนี้ๆ คนก็เข้ามาด่าแล้วบอกว่าแขกเป็น ‘นางแบก’ คำว่านางแบกมันก็มีจุดเริ่มต้นจากวันนั้น
แต่หลังจากนั้น เขาก็ยังไม่ยอมหยุดเรียกแขกว่า ‘นางแบก’ ซึ่งเราก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร สมัยก่อนมีคนเรียกเราว่า ‘ควายแดง’ เราก็ไม่เดือนร้อนอะไร อยากเรียกอะไรก็เรียก มันเป็นปัญหาของคนเรียกไม่ใช่ปัญหาของคนถูกเรียก และหลังจากนั้นก็มีเด็กๆ ที่เวลาเขาออกมาปกป้องพรรคเพื่อไทยเขาจะติด #นางแบก กลุ่มนางแบกมันก็เลยใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่มันไม่ใช่ออกาไนซ์กรุ๊ป แขกไม่ได้รู้จักใครเป็นการส่วนตัว แต่มันเห็นตัวคอมมูนิตี้อยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์พัฒนาการสูงสุดของนางแบกคือ ไปอยู่ในวิดีโอวันปราศรัยใหญ่ของพรรคเพื่อไทย กลายเป็นว่าพรรคตระหนักถึงบทบาทของนางแบก เลยยิ่งทำให้สังคมข้างนอกรู้สึกขัดใจเพราะมองว่าพวกนางแบกมันหยาบคาย ชอบบูลลี่ ทำไมพรรคไปให้ค่ากับนางแบกถึงขั้นนี้ แขกว่าอันนี้เป็นตัวเพิ่มดีกรีควาน่าหมั่นไส้ให้กับนางแบก ทั้งที่จริงๆ แล้วนางแบกคือใครก็ไม่รู้
พอเหตุการณ์มันดำเนินไปเรื่อยๆ คุณเห็นจุดร่วมอะไรของ ‘นางแบก’ ไหม
หนึ่งจุดร่วมของนางแบกคือ เป็นโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทย และเขาจะมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันว่าพรรคเพื่อไทยรับจบ พรรคเพื่อไทยเป็นสนามอารมณ์ เอะอะอะไรก็โทษกูอย่างเดียว และยิ่งพรรคตอบสนองเรื่องพวกนี้ช้า ตอบทีก็เป็นกระดาษเอสี่ 5 หน้าไม่มีคนอ่าน นางแบกมันก็เลยหงุดหงิด ถ้าพรรคทำตัวเป็นอีเย็น เป็นอีนางทาส กลุ่มนางแบกมันก็เริ่มชัดว่าจะทนเห็นเพื่อไทยเป็นสนามอารมณ์ไม่ได้ ถ้าพรรคไม่ออกมาพูด กูพูดเอง
คุณมองปรากฎการณ์ที่คนรุ่นใหม่หันมาเป็น ‘นางแบก’ อย่างไรบ้าง
แขกคิดว่าเหมารวมคนรุ่นใหม่เป็นนางแบกทั้งหมดไม่ได้ แต่เราพูดได้ว่าในกลุ่มนางแบกมีคนรุ่นใหม่เยอะ และพอมาเช็กดูปรากฎว่ากลุ่มนางแบกไม่ใช่คนอายุ 40-50 ปี แต่มันมีเด็กอายุ 17 – 20 ปีต้นๆ เต็มไปหมด มันคงมีนางแบกหลากหลายช่วงวัย แต่ที่แอคทีฟในโซเชียลมีเดียมากที่สุดคือคนรุ่นใหม่ นางแบกเลยกลายเป็นภาพของคนรุ่นใหม่ในโซเชียลมีเดียที่มีวัฒนธรรมการยั่วล้อคู่กันไป
และแขกรู้สึกว่ามันมีความ sub culture ของกะเทยด้วย แขกไม่รู้ว่าเพศสภาพ (gender) เขาเป็นอย่างไร แต่ภาษาที่เขาใช้มันเป็นวัฒนธรรมของเพศหลากหลาย ภาษากะเทย หรือเด็กตามนางงาม ซึ่งแขกไม่รู้สึกว่ามันแปลก เพราะมันคือความหลากหลายของประชาชนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่แล้ว
ในมุมของคุณที่โดนแปะป้ายว่าเป็น ‘นางแบก’ มีอะไรที่คนภายนอกมองเข้ามาแล้วเข้าใจนางแบกผิดบ้างไหม
ไม่มี (หัวเราะ) ก็ถูกแล้ว นางแบกเป็นโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยก็ต้องปกป้องพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นมีอะไรผิด ทำไมเราจะไม่ปกป้องพรรคที่เราเลือกล่ะ
มีครั้งหนึ่งที่คนตัดคลิปคุณพูดว่า “ถึงแม้เพื่อไทยจะเหลือแค่ 1 หรือ 2 เสียง ดิฉันก็จะเลือกเพื่อไทยตลอดไป”
ไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว มันเริ่มต้นจากประโยคว่า ‘เพื่อไทยจะสูญพันธุ์ถ้ามีการผลิกขั้ว’ หรือแปลว่าถ้าเพื่อไทยปล่อยมือจากก้าวไกล และไปจับมือกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิมเพื่อไทยจะสูญพันธุ์ แต่แขกบอกว่าเพื่อไทยสูญพันธุ์ไม่ใช่ปัญหาของแขก เพราะแขกไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ไม่ใช่ สส. ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ไม่เคยให้เงินพรรคแม้แต่บาทเดียว
ถ้าวันใดวันหนึ่งพรรคเพื่อไทยเหลือคนเลือกแค่ 1 หรือ 2 คน ในจำนวนนั้นมีแขกเลือกแน่ๆ แขกจะยืนข้างพรรคเพื่อไทยตลอดไป ไม่ว่าเขาจะเหลือผู้สนับสนุนกี่คน
แขกให้ภาพรวมแบบนี้ ขั้วรัฐบาลเดิมคือขั้วที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ขั้วนี้ถูกเรียกว่า ‘นั่งร้านของเผด็จการ’ ส่วนขั้วที่เป็นฝ่ายค้านถูกเรียกว่า ‘ขั้วประชาธิปไตย’
สองขั้วนี้ทำงานในสภาจบ 4 ปีแล้ว ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมาก็มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญจากทั้งสองฝาก เพราะมันมี 2 ประเด็นใหญ่ๆ ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นปัญหาคือ ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือบัตรเลือกตั้งใบเดียวที่ทำให้เกิด สส.ปัดเศษ ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น กลุ่มพรรคเล็ก 13-14 พรรค หรือคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ไม่มีใครรู้เลยว่าได้มากี่คะแนน นี่คือปัญหาใหญ่ข้อที่หนึ่ง ปัญหาใหญ่ข้อที่สองคือ บทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจ สว.ในการเลือกนายกฯ
ฉะนั้น 4 ปีที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไข 2 เรื่องหลักๆ นี้ และไม่ได้เฉพาะขั้วของก้าวไกลและเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ก็อยากแก้เพราะเป็นคำสัญญาแลกกับการตระบัดสัตย์ร่วมรัฐบาล พลังประชารัฐเองก็อยากแก้รัฐธรรมนูญเพราะตัวเองเป็นพรรคใหญ่ ถ้าเลือกตั้งแล้วบัตรใบเดียวตัวเองจะเสียเปรียบ ภูมิใจไทยก็อยากแก้รัฐธรรมนูญ ท้ายที่สุดทุกพรรคการเมืองอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล
เราจะเห็นว่าทั้งสองขั้วเห็นตรงกันตั้งหลายเรื่อง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการร่วมกันผ่านกฎหมายฉบับนึงที่สำคัญมากคือ พ.ร.บ.อุ้มหาย แปลว่าจริงๆ แล้ว มันทำงานร่วมกันได้ ไม่ใช่ดำ-ขาวเสมอไป
แล้วพอมาเลือกตั้งครั้งนี้ ก็มีการเปลี่ยนให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แล้วสิ่งที่หายไปก็คือ ไม่มี สส.ปัดเศษแล้ว ทีนี้เราจะพูดได้ไหมว่า สส.ทุกคนที่นั่งอยู่ในสภาวันนี้ ไม่ใช่ สส.ที่ได้มาโดยกติกาที่บิดเบี้ยวแล้ว อย่างน้อยเราเห็นตัวเลขของประชาชนที่เลือก สส.เหล่านี้มาจริงๆ
สิ่งที่แขกพยายามอธิบายมาตลอดเลยคือ เห็นไหมถ้ามีการเลือกตั้ง ต่อให้ภายใต้กติกาที่บิดเบี้ยวขนาดไหน มันจะมีการขยับที่ไม่แข็งทื่อ (rigid) มันจะถูกเขย่าๆ และจะเริ่มมีที่ให้ของเหลวต่างๆ หมุนเวียนไปหากัน สำหรับแขกสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ดี และแขกใช้คำนี้บ่อยมากคือ ‘กระบวนการกลายเป็นประชาธิปไตย (Democratization Process)’ สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว
จริงๆ คำถามคือ อยากรู้ว่าอะไรคือความประทับใจของคุณต่อพรรคเพื่อไทย
ด้วยเหตุผลว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่ยาวเลย เรามีประชาธิปไตยในปี 2475 แต่ก็ลุ่มดอนๆ มาตลอด แต่พอมีรัฐธรรมนูญปี 2540 พรรคไทยรักไทยถือกำเนิดขึ้น แล้วตามด้วยพรรคพลังประชาชน จนมาพรรคเพื่อไทย มีสักครั้งไหมที่พรรคเหล่านี้สนับสนุนการรัฐประหาร ตอบคำถามดิฉันให้ได้นะ สักครั้งไหมที่เขาสนับสนุนการเอาเจ้าหน้าที่รัฐมาฆ่าประชาชน ความผิดพลาดเรื่องตากใบและกรือเซะเป็นความผิดพลาดที่ต้องมาดูกันว่าเกิดจากอะไร แต่แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะรู้สึกว่านี่คือพรรคการเมืองที่เราอยากจะยืนเคียงข้างเขา
ไม่นับนโยบายที่มีคุณูปการต่อประเทศไทยมาก นโยบายที่เหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่ไทยรักไทยทำให้สำเร็จได้จริง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ธนาคาร SME ก็ตั้งขึ้นยุคทักษิณ (ชินวัตร) สนามบินสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้า
แล้วเหตุผลอีกข้อคือ เราเชื่อมต่อกับ DNA แบบเพื่อไทยมากกว่าก้าวไกลหรืออนาคตใหม่ เพราะแขกเป็นคนบ้านๆ ไม่ชอบคำศัพท์สวยหรู เราไม่เชื่อมต่อกับคำประเภท “เราคือผู้คนและการเดินทาง” “เรากินอุปสรรคเป็นอาหารเช้า” “เราคือยานพาหนะแห่งความหวัง” เขาไม่ได้ผิดที่จะพูดอะไรแบบนั้น แต่มันไม่ใช่ไทป์เรา
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยจะไม่พูดคำประเภทที่ทำให้เกิดความสะพรึงกลัวในสังคม คำพูดที่มันทำลายแนวร่วม เพราะการทำการเมืองในวิถีทางประชาธิปไตย สิ่งที่คุณต้องการมากที่สุดคือ ‘แนวร่วม’ มีแนวร่วมให้มาก มีศัตรูให้น้อย แต่พอพูดคำว่า ‘ทลายทุนผูกขาด’ มันต้องแลก แต่พรรคเพื่อไทยจะมีนโยบายประเภทแก้ไขกฎหมาย 1,000 กว่าฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ซึ่งมันก็คือการเพิ่มพลังให้ทุนเล็กมีความสามารถที่จะแข่งขัน โดยที่ไม่ต้องพูดว่าคุณจะต้องไปทลายทุนใหญ่
แขกรู้สึกว่าเราเชื่อมต่อกับวิธีการขายนโยบายที่ไม่พุ่งชน (offensive) มากของพรรคเพื่อไทย แต่ของก้าวไกลจะห้าวหาญเหมือนวิ่งเข้าใส่ ทลายกำแพง ทะลุเพดาน ซึ่งมันไม่ถูกจริตเราแค่นั้น
พูดถึงในโลกทวิตเตอร์กันบ้าง ทุกวันนี้คุณคงเห็นการปะทะคารมระหว่าง นางแบก vs ติ่ง/ ด้อมส้มอยู่ตลอด จริงๆ แล้วการถกเถียงเป็นเรื่องปกติมากในโลกประชาธิปไตย แต่เราควรถกเถียงกันอย่างไรให้เฮลตี้ต่อทุกฝ่าย
แขกคงไม่สามารถไปสั่งสอนใครได้ แต่คุณสมบัติแรกที่เราทุกคนพึงมีคือ การอ่านเอาเรื่อง หรือการอ่านให้เข้าใจว่าสิ่งที่คนๆ นี้เขียนคืออะไร คุณต้องอ่านสิ่งที่เขาเขียนหรือพูดให้รู้เรื่องในเบื้องต้น และถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับเขา คุณต้องสามารถฟอร์มข้อถกเถียงให้เป็นเรื่องการโต้ตอบในประเด็นเดียวกัน
อย่างเมื่อวานแขกแชร์โควทของ อานันท์ ปันยารชุน ที่ออกมาตำหนิ สว. แขกเขียนว่า “อานันท์คือนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ลอยมาเล้ยย” อานันท์เอาความชอบธรรมที่ไหนมาด่า สว. ปรากฎว่าสิ่งที่ด้อมส้มเข้ามาเถียงกับแขกคือ มาถึงวันท่ีด่าคนที่ด่า สว.แล้วเหรอ อันนี้ถือเป็นการฟอร์มข้อถกเถียงที่ถูกประเด็นไหม เมื่อแขกจะพูดอะไรขึ้นมา เขาไม่ได้ดูข้อถกเถียงของแขกแต่จะมาเขียนว่า แบกหลังแอ่น, แบกจนบ้ง, แบกหนักไหม, ทำไมจุดยืนเปลี่ยนไป, คำผกาเถียงกับลักขณา ลักขณาเถียงกับแขกเสร็จหรือยัง เขาไม่ได้มีข้อถกเถียงกับข้อความที่เราใส่ลงไป แล้วมันก็กลายเป็นแพทเทิร์นของการสร้าง hate speech สิ่งที่คุณทำนอกจากจะไม่เฮลตี้กับสังคมประชาธิปไตยแล้ว ในระยะยาวมันก็ไม่เฮลตี้ต่อตัวคุณเองด้วย
ตัวแขกไม่ได้เป็นอะไร แขกยังคงพูดและทำงาน และพยายามสื่อสารในหลักการที่ควรจะเป็น นี่คือหลักการที่ถูกต้อง อาจไม่ถูกใจ แต่หลักการและกติกามันเป็นแบบนี้
มันเป็นธรรมชาติของทวิตเตอร์ด้วยหรือเปล่า ที่ทำให้ข้อความสั้น กระชับ และไม่มีเนื้อความ
อย่าไปโทษแพลตฟอร์มสิ เพราะบางคนก็สามารถใช้แพลตฟอร์มนี้อย่างสร้างสรรค์ ลักษณะแบบนี้เราเห็นมาตั้งแต่สมัยพันธมิตรยุคเว็บบอร์ด เราเห็นสมัย กปปส.ที่อยู่ดีๆ คุณก็ท่องเรื่องจำนำข้าว ยิ่งลักษณ์เร่ขายชาติ หรือเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง มิไยที่เราจะเอาเอาข้อเท็จจริงวางให้คุณดูเท่าไหร่ คุณก็จะกลับไปท่องประโยคเดิมของคุณเป็นนกแก้วนกขุนทอง มันเป็นภาวะปกป้องอีโก้ของตัวเองแล้วแหละ และในขณะที่แขกพูดว่าคุณปกป้องอีโก้ของตัวเอง ก็ต้องมีคนบอกว่านี่ไง คำผกามีแต่อีโก้ ไม่เคยฟังใครเลย
กลับมาถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ก่อนหน้านี้คุณพูดไปบ้างแล้ว แต่คุณเลือกไม่ใช้คำว่า ‘เผด็จการหรือพรรคสืบทอดเผด็จการ’ คุณไม่ได้มองว่าในสนามการเมืองตอนนี้มีพรรคสืบทอดเผด็จการแล้วใช่ไหม
แยกออกเป็น 2 ส่วน ประยุทธทำการรัฐประหารจริงไหม จริง ศอฉ.มีประวิตร สุเทพ (เทือกสุบรรณ) อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) จริงไหม จริง เขาสั่งฆ่าประชาชนจริงไหม จริง ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน ถึงเวลาก็ต้องขึ้นศาลหรือสะสางเอาผิดกัน คสช.ร่างรัฐธรรมนูญและใช้เพื่อสืบทอดอำนาจจริงไหม จริง พรรคพลังประชารัฐถูกตั้งขึ้นมาเพื่อฟังก์ชั่นในการสืบทอดอำนาจจริงไหม จริง เราไม่ต้องพูดว่าสิ่งนี้ไม่จริง
แต่พรรคชั้วรัฐบาลเดิมทั้งหลาย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา เหตุผลที่เขาไปร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐเพราะเขารู้ว่า สว. 250 คนจะต้องยกมือให้ประยุทธ์ ดังนั้น โอกาสที่พลังประชารัฐจะได้เป็นรัฐบาลมีมากกว่าเพื่อไทย และในฐานะนักการเมืองเขาย่อมอยากที่จะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฉะนั้น เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าทำไมเขาถึงไปเป็นนั่งร้านให้ประยุทธ์และประวิตร ถามแขกก็ไม่เห็นด้วยนะ แขกด่าเขาทุกวัน แต่ถามว่าเข้าใจได้ไหม ไม่ได้เห็นด้วย แต่เข้าใจได้
พอผลการเลือกตั้งออกมา เป้าหมายสูงสุดของการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งของผู้รักประชาธิปไตยทุกคนคือ ขั้วฝ่ายค้านเดิมจับมือกัน แล้วหาเสียงจากไหนไม่รู้แหละมาเติมให้เป็น 376 เสียง ส่งพิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) เป็นนายกฯ สิ่งนี้จะถูกต้อง 100% หัวหน้าพรรคที่ได้ สส.มากที่สุดต้องเป็นนายกฯ
แต่ปรากฎว่ามี สว.ยกมือให้แค่ 13 คน นั้นแปลว่าด่านแรกที่เราจะฝ่าไป เราฝ่าไม่สำเร็จ จะพูดว่าก็กติกามันเหี้ย แต่ก่อนเลือกตั้งทุกคนก็รู้ว่ากติกามันเหี้ย แต่ก็คาดหวังจะเอาชนะในกติกาเหี้ยๆ นี้ สุดท้าย พิธาก็ไม่ได้รับเสียงโหวตจาก สว. ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากเรื่องหุ้นสื่อ และมาเจอข้อบังคับสภาที่ไม่ให้เสนอชื่อซ้ำได้อีก จะโดนกลั่นแกล้งหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่แป้กไปแล้ว
แล้วบอกว่าส่งไม้ต่อให้เพื่อไทย ไม่ใช่ มันเป็นความรับผิดชอบที่เพื่อไทยจะต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ดังนั้น สิ่งที่พรรคเพื่อไทยคิดก็คือ ถ้าส่งแคนดิเดตไปโหวต มันต้องผ่าน เขาเลยต้องไปหาเสียงสนับสนุนให้ถึง 376 เสียง ด้านพรรคก้าวไกลบอกฉันไม่แคร์เรื่องการจัดตั้งรัฐบาล แต่แคร์เรื่องการรักษาคำพูดกับโหวตเตอร์ ซึ่งก้าวไกลก็ไม่ผิด เพื่อไทยก็ไม่ผิด ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็บอกว่า “มีกู ไม่มีก้าวไกล” ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าเพื่อไทยจะไปจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิมและก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน
แต่ถามว่าเพื่อไทยได้ทำอะไรที่ออกจากครรลองของหลักการประชาธิปไตยหรือยัง คำว่าประชาธิปไตยระบบรัฐสภาคือ ใครรวมเสียงข้างมากในสภาได้ คนนั้นได้เป็นรัฐบาล ส่วนที่ว่าภูมิใจไทยเป็นนั่งร้านเผด็จการ พลังประชารัฐคือประวิตร รวมไทยสร้างชาติคือประยุทธ สิ่งเหล่านั้นเป็นเชิงอรรถไม่ใช่หลักการ
มันอาจไม่ตรงกับความคาดหวังหรือความปราถนาของเราที่อยากเห็นพรรคฝั่งประชาธิปไตยจับมือกันไปให้ถึงฝั่งฝัน แต่ถามว่าพรรคเพื่อไทยอยากจะเป็นรัฐบาลโดยไม่สนอะไร (no matter what) มันผิดหลักการประชาธิปไตยตรงไหน เขาเอารถถังออกมายึดอำนาจจากใครหรือ
ถึงเขาไม่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 แต่ถ้าเขาสามารถรวมเสียงข้างมากและตั้งรัฐบาลสำเร็จ ต่อให้ปล่อยมือจากก้าวไกลก็ไม่มีใครด่าได้ว่าเพื่อไทยออกจากวิธีทางของประชาธิปไตย แต่ด่าเขาได้ว่า “อีเหี้ย หลอกกู” “อีเหี้ย มึงทำให้กูผิดหวัง” เวลาจะด่า ด่าให้มันตรงจุดตรงร่อง อย่าไปด่าว่าเขาเป็นเผด็จการหรือจับมือกับเผด็จการ เพราะทุกพรรคมันลงเลือกตั้ง และมันเป็นการเลือกตั้งแบบที่ไม่มี สส.ปัดเศษแล้วด้วย
เพราะฉะนั้น แขกไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการพลิกขั้วของเพื่อไทย พลิกขั้วแล้วตั้งรัฐบาลทำงานล้มเหลว แพ้การเลือกตั้งเป็นเรื่องของพรรค พรรคต้องรับผิดชอบการกระทำและการตัดสินใจของตัวเอง พรรคต้องรับผิดชอบผลงานตัวเองหลังได้เป็นรัฐบาลแล้ว
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้บีบให้เพื่อไทยเดินทางนี้ แต่เราก็ต้องไม่ลืมเหมือนกันว่า พรรคอย่างพลังประชารัฐก็มีประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเคยนั่งอยู่ใน ศอฉ.
แขกอธิบายไปแล้ว ตอนนี้มันไม่ได้ดูที่ตัวบุคคล พรรคพลังประชารัฐมีประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค แต่ลงเลือกตั้งแล้วได้ สส.เหมือนกันเปล่า แล้วเสือกได้มาตั้งเยอะด้วย คุณจะปฏิเสธประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐว่าไม่มีอยู่จริงเหรอ ประชาธิปไตยมันเป็นเรื่องคณิตศาสตร์ตัวเลข มันไม่ใช่ว่าพรรคที่มี สส.มากที่สุดจะได้เป็นรัฐบาลเสมอไป มันต้องได้เสียง สส.มาก และรวมเสียงข้างมากในสภาได้
พูดถึงข้อเสนอของผู้ชุมนุมในช่วงนี้บ้าง เขาเรียกร้องให้ 8 พรรคจับมือกันไปเรื่อยๆ มันแปลได้ว่าอยากให้รอไปอีก 10 เดือนจนกว่า สว.หมดอำนาจ
คุณรอได้ก็รอไปไง แต่พรรคอันดับ 3 อย่างภูมิใจไทยเขาจะรอด้วยหรือ เพราะถ้าคุณอนุทินเสนอชื่อตัวเองเป็นนายกฯ ปุ๊ป สว.โหวตให้เขาเป๊ะอยู่แล้ว หลังจากนั้นเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำอีกนิดเดียว เขาดีดนิ้วยุบพรรคใดพรรคหนึ่ง เขาก็กลายเป็นเสียงข้างมากแล้วคะคุณ ม็อบอยากรอก็ให้ม็อบไป แต่เราไม่รอ พรรคเพื่อไทยไม่รอ
สำหรับดิฉันซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ต้องบอกว่าอยากเห็นนายกฯ ที่มาจากแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย และคุณอุตส่าเป็นพรรคอันดับ 2 จะมานั่งหายใจทิ้งไม่ได้ คุณจะต้องตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ แล้วเอาแคนดิเดตของพรรคคุณมาเป็นนายกฯ ให้ได้
ที่สำคัญ ทำไมพรรคเพื่อไทยต้องฟังม็อบ เวลาที่เราจะเอาม็อบไปกดดันใคร ต้องเป็นคนที่เราเกี่ยวข้องด้วยในฐานะผู้สนับสนุน เหมือนคนจะมาแบนสินค้า Voice ถ้าคุณไม่ใช่ลูกค้า Voice มันได้ผลไหม แขกกำลังจะบอกว่าคนที่จะกดดันพรรคเพื่อไทยได้คือ 10.9 ล้านเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทย แต่คนแขกไม่มั่นใจว่าคนที่ไปม็อบเป็นเท่าไหร่ของจำนวนเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทย ถ้าคุณจะกดดันพรรคก้าวไกลได้คุณต้องเป็นโหวตเตอร์ก้าวไกล ถ้าคุณจะกดดันพรรคเพื่อไทยได้แสดงว่าคุณต้องเป็นโหวตเตอร์เพื่อไทย
อยากให้คุณช่วยอธิบายแนวคิดของตัวเองหน่อย เพราะคุณกับคนรุ่นใหม่น่าจะมองภาพของการเมืองต่างกันมาก อย่างที่คุณบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องตัวเลข ซึ่งมันเรียลลิสติกมาก
เรียลลิสติกเป็นนิสัย แขกไม่ใช่คนช่างฝัน ถ้าแขกจะเลือกแฟนจะเลือกแฟนที่แบบเหงื่อๆ ซ่อมนู้นซ่อมนี่ได้ ทำกับข้าวเป็น จะไม่มีวันมีแฟนเป็นกวี ไม่มีวันเลือกนักเขียนมาเป็นแฟน ห่วยแตก อ่อนแอ อันนี้เรียลลิสติกเป็นรสนิยมและเป็นนิสัย
หลักการการเมืองของแขกตั้งแต่มีรัฐประหารปี 49 คือ ให้เคารพรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเคารพเสียงข้างมากในสภา ประชาธิปไตยต้องฟูลสต็อปที่เสียงข้างมาก เขาจะมีบ้านใหญ่ เป็นรอยัลลิสต์ เป็นพรรคมีนายทุน ซื้อเสียง ทั้งหมดมันวัดกันที่ประชาชนเลือกใคร
ที่บอกว่าแขกเปลี่ยนไป ลองไปสำรวจตัวเองดีๆ เป็นคุณหรือเปล่าที่สนับสนุนประชาธิปไตยที่มองเรื่องศีลธรรมเป็นที่ตั้ง แล้วพอคนอื่นไม่คิดเหมือนคุณ คุณก็โกรธเกลียด กระทืบเท้า อาละวาด ด่าทอ โมโห
คนรุ่นใหม่ที่บอกว่ารักประชาธิปไตย อยากทะลุเพดาน อยากแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อยากแก้ ม.112 อยากเอาช้างออกมาจากห้อง (สำนวน Elephant in the Room) เขาเข้าใจตัวเองผิดว่าตัวเองหัวก้าวหน้า แต่ลึกลงไปแล้วมันมีภาวะของการสมาทานแนวคิด ศีลธรรมที่เหนือกว่า (Moral Superiority) อยู่ในนั้น ถ้าฉันเข้าใจเรื่อง ม.112 แปลว่าประชาธิปไตยฉันดีกว่าเธอ ถ้าพรรคการเมืองฉันไม่มีนายทุนและก่อตั้งด้วยเงินบริจาคจากประชาชน แปลว่าพรรคฉันบริสุทธิ์กว่าเธอ ถ้าคนในพรรคฉันกล้าอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์แสดงว่ากระดูกสันหลังฉันตรงกว่าเธอ สิ่งนี้คือ ภาวะศีลธรรมที่เหนือกว่า ไม่ใช่หลักการของประชาธิปไตยเสียงข้างมาก
ด้วยวิธีการความเชื่อของคุณจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้อย่างไร
ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้หรอก แขกเชื่ออยู่แค่ว่าประชาธิปไตย หนึ่งคือมีการเลือกตั้ง สองมีการแข่งขัน สามมีกติกาที่ยอมรับกันได้ระดับหนึ่ง สี่มีเสรีภาพให้กับสื่อ ห้ามีเสรีภาพให้กับประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์ มีแค่ 5 อย่างนี้เท่านั้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดมันก็เกิด เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดจากพลวัตรของผู้คนในสังคมทุกคนเท่าๆ กัน
มันมีองค์ประกอบอื่นอีกที่เหมือนจะไม่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนผังเมือง การออกแบบเมือง การออกแบบระบบการขนส่ง นึกออกไหม บางทีคนที่เขาอยากเปลี่ยนโครงสร้าง เขาไม่ได้พูดว่าเขาจะทะลุเพดาน เขาแค่พูดคำว่าฉันจะเปลี่ยน การเชื่อมต่อของผู้คน (connectivity) และการขนส่ง (logistic)
ถ้าคุณอยากเปลี่ยนโครงสร้างข้างบน คุณต้องไม่เอาไม้สอยมะม่วงให้หล่นลงมา มันต้องเปลี่ยนจากข้างล่างจาก ดิน, น้ำ, หญ้า, วิธีคิด, การเดินทาง, อาหารการกิน, การบริโภค, แผนที่, จินตนาการเชิงภูมิศาสตร์ และนี่คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำโดยที่ไม่ต้องพูดเรื่องช้างในห้องให้หมางใจกัน
ช่วงหลังมานี้เราเริ่มเห็นความพยายามสลายขั้วความขัดแย้งที่อยู่มา 20 กว่าปี ที่เห็นได้ชัดคือ กรณีที่เพจนักเรียนดีออกมาพูดถึงพรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณ คุณมองว่าปลายทางจะนำไปสู่การลดความขัดแย้งของสังคมได้ไหม
คือเวลาเราพูดคำว่ามีความพยายาม มันดูเป็นการออกาไนซ์โดยคนใดคนหนึ่ง สำหรับแขกมองว่าสิ่งนี้เป็นแค่แอคชั่นกับรีแอคชั่น อย่าไปให้ค่ามันมาก เป็นแค่บทสนทนาที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่เรื่องใหญ่
ส่วนเรื่องคุณทักษิณ อันดับแรกต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า การที่คุณทักษิณจะกลับไทยมันไปเกี่ยวกับความขัดแย้งอย่างไร เมื่อไหร่ที่เราตั้งคำถามแบบนี้แสดงว่าเรายังเป็น ‘ทักษิณโฟเบียร์ (Thaksinphobia)’ อยู่ หรือโลกและจักรวาลหมุนรอบคุณทักษิณอยู่ สิ่งแรกที่เราทุกคนในสังคมนี้ควรมีคือโลกไม่ได้หมุนรอบคุณทักษิณ จักรวาลไม่ได้หมุนรอบคุณทักษิณ และเราควรโฟกัสในสิ่งที่เราควรโฟกัส เช่น เราจะตั้งรัฐบาลสำเร็จไหม ด้วยตัวเลขเท่าไหร่ แค่นั้นเลย
คนไทยเป็นคนที่ไม่มีสมาธิเลยโดนปั่นหัวง่ายมาก คุณทักษิณจะกลับก็ปล่อยเขากลับสิ ไปยุ่งอะไรกับเขา ไม่พูดถึงคุณทักษิณสัก 2 วันอกจะแตกหรือ
แล้วทุกอย่างที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งไหม
ทำไมเราต้องมีคำถามนี้ล่ะคะ เราเดือดร้อนกับความขัดแย้งหรือ สิ่งที่เราเดือดร้อนคือไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีรัฐบาลเนอะ