หากเลือกได้ คงไม่มีใครอยากจะปวดท้อง ปวดหลัง ท้องเสีย อ่อนเพลียใช่ไหมล่ะ แต่สำหรับผู้มีประจำเดือนนี่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาสามารถเลือกได้
สหภาพแรงงานในออสเตรเลียสำรวจแรงงาน 1,000 คน พบว่ามีแรงงานถึง 75% ที่ทุกข์ทรมานจากอาการปวดประจำเดือน และ 73% จากจำนวนนี้ กล่าวว่าอาการปวดประจำเดือน ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขา แต่สมาชิกถึง 74% กลับไม่สบายใจที่จะบอกเจ้านายว่าขอลาหรือขอให้จัดสรรเวลาให้ยืดหยุ่นขึ้น เพราะอาการปวดประจำเดือน
นอกจากนี้ ผลสำรวจในเบื้องต้นยังชี้ว่า มีสมาชิกประมาณ 34% ที่ไม่คิดว่าผู้จัดการจะเข้าใจ โดยอีก 1 ใน 3 กล่าวว่าการลาอาจส่งผลเสียต่ออาชีพการงานของพวกเขา รวมไปถึงยังอาจส่งผลต่อสายตาของเพื่อนร่วมงาน และ 1 ใน 5 กลัวว่าผู้จัดการจะไม่เชื่อว่าปวดประจำเดือน
ซาร่า เลิฟ (Sarah Love) เจ้าหน้าที่ในเมืองแอดิเลด รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่าเธอต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (premenstrual dysphoric disorder) ที่มักทำให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย สภาพจิตใจ และการควบคุมอารมณ์ แต่การจะเปิดเผยอาการดังกล่าวในที่ทำงานก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เลิฟกลัวว่า เมื่อบอกไปแล้ว เธอกลัวว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงความร้ายแรงของสิ่งที่เธอต้องเจอ ทั้งยังกลัวว่าเพื่อนร่วมงานและผู้จัดการจะตัดสินว่าเธอเป็นพวกอ่อนแอหรือไม่ก็เป็นโรคที่คิดไปเองว่าป่วย (hypochondriac)
เลิฟยังกลัวว่าถ้าคนอื่นรู้ พวกเขาอาจไม่ให้โอกาสเธอ แม้ว่าเธอจะทำงานได้ดีมากก็ตาม ทำให้เธอต้องทนอยู่กับอาการเจ็บปวดเหล่านี้ แม้ว่าจะต้องเสียทั้งสุขภาพจิตและคุณค่าในตัวเองก็ตาม
ผู้ตอบแบบสอบถามอีกคน เคธี่ เช็คเคน (Katie Checken) สถาปนิกจากเมลเบิร์น กล่าวว่า เธอเองก็ทนทุกข์ทรมานจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เช่นกัน
“เพราะเจ้านายของฉันส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย การมีประจำเดือนจึงไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่มาทำงานอย่างแน่นอน…สำหรับฉัน มันบ้ามากที่ประชากร 50% มีเลือดออก ซึ่งบางครั้งก็มีเลือดออกหนักทุกเดือน แต่เราก็ควรจะต้องทำงานต่อไปเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ”
อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ตอบแบบสำรวจที่ระบุว่าเธอไม่สามารถคิด ไม่สามารถนั่ง แล้วก็ได้แต่ร้องไห้อยู่ที่โต๊ะทำงาน บางครั้งก็มีอาการคลื่นไส้จนถึงขั้นอาเจียน
นอกจากนี้ เจสสิก้า เฮรอน (Jessica Heron) ผู้นำการสำรวจยังกล่าวว่า เธอกังวลว่าผู้มีประจำเดือนที่หมดประจำเดือน อาจเกษียณอายุก่อนกําหนดเพราะกลัวการรับมือกับอาการวัยทองอีกด้วย ซึ่งก็ตรงกับรายงานของ หน่วยงานบำนาญแห่งชาติ (Australian Institute of Superannuation Trustees) เมื่อเดือนตุลาคม ที่แสดงให้เห็นว่ากว่า 1 ใน 4 ของผู้หญิงวัยทำงาน เกษียณอายุตอน 55 ปี โดย 50% ระบุเหตุผลว่าเป็นเพราะอาการเจ็บป่วย บาดเจ็บ หรือความพิการ
เธอกล่าวว่าวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการให้มีวันลาเพิ่มอีก 12 วันต่อปีในพระราชบัญญัติการทำงานที่เป็นธรรม สำหรับแรงงานที่เจ็บปวดหรือมีอาการหมดประจำเดือน “ข้อห้าม [การลาหยุด] เมื่อเป็นประจำเดือนในปัจจุบัน กำลังทำร้ายผู้หญิงให้ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในความเงียบ การมีนโยบายนี้ จะส่งผลให้ทุกคนมีความสุขกับการทำงาน”
แต่ก็มีบางบริษัทที่อนุญาตให้พนักงานสามารถลาเมื่อปวดประจำเดือนได้ รวมถึงในหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็มีหลายประเทศพยายามบังคับใช้กฎหมายลาป่วยเพราะปวดประจำเดือนเช่นกัน แต่ก็ยังไม่เป็นผลมากนัก
อย่างกรณีของญี่ปุ่น ที่มีรายงานว่า มีพนักงานหญิงน้อยกว่า 0.9% ที่ใช้สิทธิลาเพราะประจำเดือน โดยเหตุผลส่วนใหญ่ที่ไม่กล้าลาเป็นเพราะความรู้สึกอับอาย รู้สึกผิด คิดว่าตัวเองกำลังเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน เกิดความรู้สึกกลัวว่าจะถูกบริษัทตักเตือน ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งที่มีนโยบายนี้ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง
อ้างอิงจาก