แค่พูดคำว่า ‘วันนั้นของเดือน’ ความทุกข์ทรมานที่ตามมาก็ชัดเจนเหมือนกำลังเผชิญอยู่กับตัว ทั้งอารมณ์ที่เปลี่ยนไป อาการปวดที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจหมดแรง รวมไปถึงอาการรุนแรงอย่างท้องเสีย คลื่นไส้ ไปจนถึงหมดสติ ที่ต่อให้เราเจอเองเพียงอาการเล็กๆ น้อยๆ ก็พอจะจินตนาการออกว่า ถ้าการปวดประจำเดือนรุนแรงกว่านี้ จะส่งผลกับชีวิตขนาดไหน?
ลำพังแค่ใช้ชีวิตก็เหนื่อยมากแล้ว ยิ่งในโลกการทำงาน เราก็อยากทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทว่าอาการที่มาเยือนผู้หญิงและผู้ที่มีมดลูกแทบทุกเดือนอาจส่งผลต่อการทำงานไปด้วย เอาจริงๆ แค่จะเอ่ยปากถามเพื่อนร่วมงานข้างๆ ว่ามีผ้าอนามัยไหมก็ยังเขินอาย
สิทธิการลาเมื่อมีประจำเดือน หรือ ‘Period Leave’ เป็นหนึ่งในทางออกที่ทำให้ผู้มีประจำเดือนสามารถลางานเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงสุด แต่ก็มาพร้อมกับข้อถกเถียงหลายประการที่พุ่งเป้าไปที่ความเสมอภาคในการทำงาน หรือแม้กระทั่งเอาอะไรมายืนยันว่าเป็นประจำเดือน ‘จริง’
ฟังดูแล้วนโยบายการลาเช่นนี้ก็อาจเป็นเรื่องดี ทว่าทำไมจึงมีข้อโต้แย้งและคำถามเชิงลบได้ แนวคิดตั้งต้นของ ‘Period Leave’ คืออะไร สำคัญต่อการทำงานของผู้มีประจำเดือนยังไงบ้าง เราลองไปทำความเข้าใจไปด้วยกัน
เพราะประจำเดือนมีผลต่อกายใจ (?) จึงมีสิทธิลาหยุด
Period Leave (หรือบางที่เรียกว่า Menstrual Leave) เป็นการลาที่แยกออกมาจากการลาป่วยอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเอื้อให้ผู้มีประจำเดือนสามารถลางานจากอาการเจ็บป่วยจากการมีประจำเดือนได้ และเพิ่มความรู้สึกสบายใจในที่ทำงาน โดยทั่วไปแล้ว Period Leave เป็นการลาระยะสั้น 1-2 วันในช่วงที่มีประจำเดือน หรืออาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศและองค์กร
อันที่จริง คอนเซ็ปต์เรื่องการลาเมื่อมีประจำเดือนไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจุดเริ่มต้นการประกาศนโยบายดังกล่าวคือสหภาพโซเวียต ซึ่งกำหนดการลานี้ไว้ในกฎหมายแรงงานเมื่อปี 1922 เพื่อป้องกันอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับแรงงานหญิง แต่ถูกยกเลิกใน 5 ปีให้หลังเนื่องจากถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ ก่อนที่หลายประเทศจะเริ่มประกาศนโยบายการลานี้พร้อมกำหนดจำนวนวันลาที่แตกต่างกันไป เช่น ญี่ปุ่นและอินโดนีเซียที่กำหนดให้ลาได้ 2 วัน หรือสเปนที่ให้ลาได้ 3-5 วันต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกประเทศที่ออกกฎหมายแรงงานที่บังคับให้มีสวัสดิการ Period Leave แต่ในระดับองค์กร หลายบริษัทก็มีการใช้การลาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในฐานะสิทธิเพื่อแรงงาน
แม้จะเป็นนโยบายที่ไม่ได้ถูกบังคับใช้ทั่วไป แต่เหตุผลสำคัญที่นโยบายเกิดขึ้นก็เพราะประจำเดือนส่งผลต่อร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ โดยการศึกษาจากศูนย์วิจัยสุขภาพ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียพบว่า ผู้หญิงวัยทำงาน 45.2% ต้องการมีวันพักผ่อนจากการมีประจำเดือน เพราะประจำเดือนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานที่ลดลง อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง สูญเสียสมาธิในการทำงานด้วย
อนึ่ง พึงเข้าใจว่าอาการปวดประจำเดือนที่หลากหลายเกิดจากระดับฮอร์โมนและสภาพร่างกายของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ตั้งแต่คนที่ไม่เป็นอะไรเลย ไปจนถึงมีอาการเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจ สวัสดิการการลาเมื่อมีประจำเดือนจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ที่กำลังประสบกับความทรมานที่มาเยือนในทุกๆ เดือนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การส่งเสริมการลาเมื่อมีประจำเดือน รวมถึงการมีสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนอย่าง ‘ผ้าอนามัยฟรี’ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประจำเดือนที่เคยเป็น ‘เรื่องต้องห้าม’ ไม่ต้องอยู่ในมุมลับของสังคมการทำงาน และอาจช่วยให้สวัสดิภาพของผู้มีประจำเดือนในที่ทำงานดีขึ้นไปด้วย แต่ในเชิงปฏิบัติแล้ว ใช่ว่านโยบายนี้จะได้ใช้จริง ซ้ำร้ายผู้หญิงหลายคนจำเป็นต้องสลัดความเจ็บปวดของตนเองทิ้งไป แล้วเข้าทำงานตามปกติเสียด้วยซ้ำ
Period Leave และสายตาของคนในที่ทำงาน
ธรรมดาแล้วการลางานก็มักเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน กว่าจะลาได้หนึ่งครั้งต้องเจอสารพัดคำถาม ไม่ว่าจะลาไปไหน ไปกี่วัน นานไปหรือเปล่า หลายคนจึงเลือกที่จะทำงานตามปกติ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากลางาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการลาเมื่อเป็นประจำเดือน ที่ก็มักตามมาด้วยคำถามมากมายนานัปการ
ซึ่งหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงเลือกจะมาทำงานตามปกติแม้นในวันมามากคือ ‘ความกังวล’ โดยผลสำรวจของสหภาพแรงงานออสเตรเลียพบว่า แรงงานหญิง 750 จาก 1,000 คนประสบความทรมานจากอาการปวดประจำเดือน แต่มีถึง 74% ไม่สบายใจที่จะขอลางาน หรือขอยืดหยุ่นเวลาทำงาน ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความไม่สบายใจว่า การลาจากการปวดประจำเดือนอาจส่งผลเสียต่อหน้าที่การงาน รวมถึงความกังวงว่าเพื่อนร่วมงาน หรือผู้จัดการจะไม่เชื่อว่าปวดประจำเดือน ขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในชาติแรกๆ ที่มีนโยบาย Period Leave กลับพบว่า มีพนักงานหญิงน้อยกว่า 0.9% ที่ใช้สิทธิลา เนื่องจากความรู้สึกอับอาย คิดว่าตัวเองกำลังเอาเปรียบผู้ร่วมงาน รวมถึงเกรงว่าอาจถูกบริษัทตักเตือนด้วย
อีกแง่หนึ่ง การเรียกร้องสิทธิการลาเมื่อเป็นประจำเดือนมาพร้อมความกังวลว่า Period Leave จะทำให้เกิดการประณามผู้หญิงและผู้มีประจำเดือนหรือไม่ เมื่ออาจมีข้อโต้แย้งได้ว่า ถ้าเกิดอาการปวดขึ้นก็แค่กินยาแก้ปวด จะลาทำไมให้คนอื่นแบกรับภาระงานมากขึ้นกัน? เพราะเมื่อมีพนักงาน 1 คนลางานไป คนอื่นๆ ที่ยังคงทำงานอยู่อาจต้องรับภาระงานที่เพิ่มขึ้น นโยบาย Period Leave จึงอาจส่งผลต่อการพิจารณารับผู้มีประจำเดือนเข้าทำงานไปด้วย
บทความวิจัยเรื่อง THE IMPACT OF MENSTRUAL LEAVE ON WOMEN’S EMPLOYMENT OPPORTUNITIES: A COMPREHENSIVE ANALYSIS เปิดเผยว่า แม้ Period Leave จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็อาจส่งผลให้การพิจารณาจ้างงานผู้หญิงลดลงจากเวลาทำงานที่ผู้หญิงจะมีน้อยกว่า รวมถึงอาจทำให้อคติทางเพศชัดเจนขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งสำคัญที่แต่ละองค์กรจำเป็นต้องทำคือ การสร้างนโยบายที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น พร้อมคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนทำงานเป็นสำคัญ
งานวิจัยดังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ‘เพื่อลดผลกระทบเชิงลบ (จากนโยบายการลาเมื่อมีประจำเดือน) จึงจำเป็นต้องมีนโยบายคำนึงถึงผลประโยชน์อย่างรอบด้าน โดยจำเป็นต้องสมดุลความต้องการของลูกจ้าง กับการบริหารงานตามความเป็นจริง’ เพราะถึงแม้นโยบายจะส่งเสริมสิทธิแรงงานแต่ก็อาจมีอคติที่ตามมาอยู่ดี
เพราะที่ทำงานต้องเป็น ‘พื้นที่แห่งความเข้าใจ’
ที่ผ่านมา อคติและการเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกลงไปในวัฒนธรรมการทำงานมาอย่างยาวนาน สวนทางกับจุดมุ่งหมายทางการงานที่ควรเป็นสิ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งมีชีวิตที่ดีขึ้น การกำหนด Period Leave ในฐานะสวัสดิการพนักงาน หรือแม้กระทั่งบรรจุลงในกฎหมายแรงงานจึงเป็นเรื่องที่หลายบริษัทอาจมองข้าม ทั้งที่นโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมสวัสดิภาพการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางเพศ การใส่ใจสุขภาพกายใจ หรือการออกนโยบายการทำงานที่ครอบคลุมควรเป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องคำนึงถึง เพื่อให้ที่ทำงานเป็นพื้นที่แห่งความเข้าใจคนทำงานอย่างแท้จริง
ไม่นานมานี้ แนวคิด ‘Inclusive Workplace’ หรือที่ทำงานที่ไม่แบ่งแยกเพื่อให้เป็นที่ทำงานที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้บริษัทนั้นๆ เป็นบริษัทที่เติบโตอย่างยั่งยืนในฐานะที่เป็นองค์กรที่ส่งเสริมสิทธิสำหรับทุกคน การสร้างนโยบายที่ครอบคลุมคนทำงานทุกคนจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง กระนั้น นโยบายต่างๆ ที่องค์กรออกมาอาจไม่ได้ครอบคลุมทุกคนเสมอไป
ในวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งเน้นผลประกอบการเป็นสำคัญ การสร้างที่ทำงานที่ไม่แบ่งแยกคนทุกคนอาจเป็นเรื่องที่สวนทางกับการแสวงหากำไร ขณะเดียวกัน การเรียกร้องสิทธิสำหรับคนทำงานที่หลากหลายก็เป็นไปเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน การสร้างนโยบายที่ครอบคลุมจึงเป็นการสร้างพื้นที่ที่ทำให้คนทำงานเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกที่ดีต่อองค์กรได้ แม้สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยที่การเรียกร้องสิทธิของแรงงานยังคงมาพร้อมกับปัญหาที่เป็นที่ถกเถียง แต่บทเรียนจากต่างแดนอาจทำให้เราเห็นว่า มันเกิดขึ้นได้ หากเราสร้างความตระหนักรู้แก่คนทำงานให้เข้าใจร่วมกัน
หากมองกันอย่างตรงไปตรงมา ถึงแม้ว่านโยบาย Period Leave จะไม่ได้เป็นนโยบายที่ทุกคนได้ใช้ แต่การส่งเสริมนโยบายที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มก็เป็นเรื่องจำเป็นในการสร้างที่ทำงานแห่งความหลากหลายและไม่แบ่งแยก ไม่ว่าจะเป็นผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้สูงวัยที่ยังคงอยากทำงาน หรือแม้แต่คนที่ไม่มีข้อขัดข้องใดๆ ในการทำงานก็ควรจะมีสิทธิเข้าถึงนโยบายการทำงานที่ครอบคลุมความต้องการของคนแต่ละคน
และสิทธิการลาเมื่อมีประจำเดือนก็เป็นหนึ่งในสิทธิที่ต้องเข้าถึงได้เหล่านั้นเช่นกัน
อ้างอิงจาก