หลังจากเหตุการณ์ซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี เชื่อว่าหลายคนก็คงเห็นคนเปรียบเทียบเหตุการณ์นี้กับโคบอลต์-60 กันมาบ้าง แล้วว่าแต่เหตุการณ์โคบอลต์-60 คืออะไร ตอนนั้นมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่นะ
แต่ก่อนที่พาทุกคนไปเล่าถึงเหตุการณ์อุบัติเหตุโคบอลต์ในครั้งนั้น เราขอเล่าย้อนกลับไปก่อนว่าเจ้าสารกัมมันตรังสีนี้เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร?
นายแพทย์ฮันส์ อดัมเสน (Hans Adamsen M.D.) ลูกครึ่งเดนมาร์ก-มอญ ที่ได้เข้ารับราชการในประเทศไทย นำเข้าเครื่องเอ็กซ์เรย์เป็นเครื่องแรกไปใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทยเมื่อปี 2441
ต่อมาในปี 2500 ก็ติดตั้งเครื่องรักษามะเร็งโคบอลต์-60 ที่โรงพยาบาลศิริราช ตามด้วยโรงพยาบาลอื่นๆ อีก
- แล้วโคบอลต์-60 คืออะไร?
ขอเริ่มจากการอธิบายเรื่อง โคบอลต์-60 กันก่อน ซึ่งโคบอล์ตก็คือธาตุหนึ่งในตารางธาตุที่มีน้ำหนักอะตอมเท่ากับ 59 ซึ่งตัวนี้ก็จะเรียกว่าโคบอล์ต-59 ไม่แผ่รังสี แต่เจ้าโคบอลต์-60 คือสิ่งที่ไม่มีอยู่โดยธรรมชาติ แต่มันเกิดขึ้นโดยการเอาโคบอล์ต-59 ไปอาบนิวตรอนในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จนกลายมาเป็นโคบอลต์-60 ที่สามารถสลายตัวไปเป็นนิกเกิล-60 โดยการปล่อยอนุภาคบีตา และรังสีแกมมา ซึ่งรังสีแกมมาสามารถใช้ในการกำจัดมะเร็งได้
ในประเทศไทยเองก็นำโคบอลต์-60 มาใช้ในทางการแพทย์ เช่นเพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งและเนื้องอก ทั้งยังใช้ในด้านอุตสาหกรรม การถนอมอาหาร และการเกษตรอีกด้วย
- แล้วเหตุการณ์ ‘โคบอลต์-60’ คืออะไร
แม้ว่าโคบอลต์-60 จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ในหลายๆ ด้าน แต่มันก็ยังคงเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีอันตรายอยู่ดี
เมื่อย้อนกลับไปในช่วงปี 2543 หลังจากเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ของโรงพยาบาลรามาธิบดีหมดอายุ บริษัท กมลสุโกศล อิเล็คทริค จำกัด ก็รับซื้อเครื่องดังกล่าวนำไปเก็บไว้ที่โกดัง แล้วจึงย้ายเครื่องฉายรังสีดังกล่าวไปไว้ที่ลานจอดรถเก่าของบริษัท บริเวณซอยอ่อนนุช กรุงเทพฯ
จนกระทั่งราวๆ วันที่ 24 มกราคม 2543 มีผู้ชาย 4 คนลักลอบเอาเครื่องฉายรังสีที่ถูกทิ้งเอาไว้ไปให้ขายต่อให้กับ จิตรเสน จันทร์สาขา ซาเล้งเก็บของเก่ารับซื้อเศษเหล็กจากคนกลุ่มนั้น ซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนของเครื่องฉายรังสีส่วนหัวที่มีโคบอลต์-60 อยู่ด้วย
โดยจิตรเสนให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ทั้ง 4 คนนำเหล็กถังตะกั่วและอะลูมิเนียมออกมา “ผมยกขึ้นชั่งทั้งหมดรวมแล้วน้ำหนักได้ 30 กิโลกรัม ยกเว้นแท่งอะลูมิเนียมมีน้ำหนักเกินกว่าตาชั่งจะรับไหว ก็เลยใช้วิธีประเมิน คิดเงินเบ็ดเสร็จ 8,000 บาท แต่ผมมีเงินสดในกระเป๋า 4,000 บาท ก็พยายามต่อรอง แต่พวกเขาไม่ลดให้…จนกระทั่งเจอคนขับรถซาเล้งอีกคัน เลยขอยืมเงินจนครบ 8,000 บาทแล้วซื้อมา”
“ผมขอยืนยันว่า ไม่เคยติดต่อล่วงหน้าว่าจะไปรับซื้อ เพียงแต่ขี่ซาเล้งผ่านไป และรับซื้อของเก่าตามปกติเท่านั้น” จิตรเสนกล่าว
หลังจากจิตรเสนซื้อมา พอเขาเอามือไปแตะดูก็รู้สึกแสบคันมือทันที แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร จึงขนไปไว้ที่บ้านย่านเขตประเวศ กรุงเทพฯ โดยเก็บรักษาเศษเหล็กและเครื่องฉายรังสีเอาไว้
จนกระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เขาจึงนำเครื่องฉายรังสีนั้นไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่าของสมจิตร แซ่เจีย ในซอยวัดมหาวงษ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
จากนั้น ลูกจ้างในร้านของสมจิตร 2 คน ก็คือ นิพนธ์ พันธุ์ขันธ์ และสุดใจ ใจเร็ว ช่วยกันตัดแยกสิ้นส่วนจนสามารถผ่าเครื่องฉายรังสี จนพบฝาตะกั่วและแท่งเหล็กขนาดเท่าถ่านไฟฉาย 5 ก้อน ซึ่งแยกได้เป็นตะกั่ว 72 กิโลกรัม และโลหะเหล็กผสม 40 กิโลกรัม พร้อมด้วยเศษชิ้นส่วนโลหะอีกจำนวนหนึ่ง โดยทางร้านให้เขากลับมาส่วนหนึ่ง แต่ตลอดทางที่ขนกลับ เขารู้สึกปวดหัว และคลื่นไส้ จึงโยนทิ้ง
ในตอนนั้น จิตรเสนก็รู้สึกได้ว่าเจ้าก้อนแท่งเหล็กที่ได้มาเป็นของอันตราย เขาจึงไปซื้อโซดามากินล้างท้อง 1 ขวด ก่อนเดินทางกลับบ้าน แล้วเขาก็ป่วยและมือก็เริ่มเป็นแผลเน่า
กระทั่งวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เขารู้สึกทนไม่ไหว จึงไปหมอที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ แต่หมอไม่รับรักษา ให้เพียงยากิน และยาทาเท่านั้น
ต่อมา ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เขาไปหาหมออีกครั้ง และต่อมาญาติอีก 3 คน ก็ไม่สบายเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรปราการด้วย
“ขอยืนยันอีกครั้งว่า ผมไม่ได้ไปขโมยมา แต่ไปซื้อมาจริง และอยากขอร้องสังคมเห็นใจพวกผมบ้าง เพราะจะตายอยู่แล้ว แต่จะต้องมารับโทษในข้อหาลักทรัพย์ทั้งที่ไม่ได้ทำ แล้วแม้จะพ้นข้อหาลักทรัพย์ ก็ต้องโดนข้อหารับซื้อของโจรแน่ ผมไม่ใช่คนผิด” จิตรเสนกล่าว
วันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ ผู้สัมผัสรังสีจาก โคบอลต์ 60 ทยอยเข้ารับการรักษาตัวยังโรงพยาบาล หลังมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มือบวมพอง ปากเปื่อย ผมร่วง ซึ่งแทบทุกคนล้วนมีอาการคล้ายกัน แพทย์จึงสรุปความเห็นว่า น่าจะเกิดจากการได้รับรังสีอันตราย แล้วจึงแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ
เมื่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปัจจุบันคือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ) ได้รับแจ้งเหตุในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ประมาณ 11.00 น. ก็เริ่มลงพื้นที่ตรวจสอบ และดำเนินการตามมาตรการช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันเดียวกัน
เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติและเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ตรวจสอบพบว่าบริเวณ หน้าร้านรับซื้อของเก่ามีระดับรังสีสูงมาก ทางเจ้าหน้าที่จึงคาดว่ามีต้นกำเนิดรังสีตกหล่นอยู่ ณ ที่นั้นจนกระทั่งพบตำแหน่งกองเหล็กในเวลาช่วงเช้าประมาณ 4.00 น. ของวันถัดไป
การค้นหาสิ้นสุดลง พบต้นกำเนิดรังสีเป็นแท่งโลหะทรงกระบอก โดยหลังพบก็จัดเก็บลงภาชนะกำบังรังสี ซึ่งต่อมาตรวจสอบพบว่าเป็นรังสีโคบอลต์-60 แล้วนำไปจัดเก็บไว้ที่ใต้น้ำในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วของสำนักงานพลังงานปรมาณูต่อไป
- ประชาชนได้รับผลกระทบขนาดไหน?
ถึงจะไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุขว่า มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ แต่สำนักข่าวไทยรัฐรายงานว่ามีประชาชนเข้ารับการตรวจร่างกายทั้งสิ้น 948 คนจากประชากร 1,882 คน
โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากรังสี ถูกนำตัวไปรักษา ณ โรงพยาบาลหลาย 10 ราย ในจำนวนนี้ มีหญิงคนหนึ่งที่กำลังตั้งครรภ์ได้ราว 3-4 เดือน ต้องตัดสินใจทำแท้ง เนื่องจากเป็นกังวลว่าเด็กอาจได้รับอันตรายจากรังสี
ในวันที่ 9 มีนาคม นิพนธ์ ลูกจ้างที่ตัดแยกชิ้นส่วนเครื่องฉายรังสี เสียชีวิตเป็นรายแรก เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด โดยนายแพทย์มงคล ณ สงขลา ให้ข้อมูลกับนักข่าวในช่วงเวลานั้นว่า “สำหรับนายนิพนธ์ คนไข้ที่เสียชีวิตนั้น มีสาเหตุมาจากเม็ดเลือดขาวต่ำมาก ไขกระดูกไม่ทำงาน และเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการช็อก และไตวายในที่สุด”
ต่อมา สุดใจ ลูกจ้างที่ตัดแยกชิ้นส่วนเครื่องฉายรังสีอีกหนึ่งคน ก็เสียชีวิตในวันที่ 18 มีนาคม เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด และต่อมาในวันที่ 24 มีนาคม สามีของสมจิตร เจ้าของร้านรับซื้อของเก่า ก็เสียชีวิตเป็นรายที่ 3
ขณะที่จิตรเสน แม้จะรอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมาได้ แต่ก็ต้องรักษาตัวในไอซียู อาการสาหัส และต้องตัดนิ้วมือทิ้ง
- การต่อสู้คดีในครั้งนั้น สะท้อนให้เห็นอะไร?
หลังเหตุการณ์ ‘โคบอลต์-60’ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางรังสีและทายาทของผู้เสียชีวิต รวมทั้งสิ้น 12 รายเข้าไปร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้องสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ต่อศาลปกครองกลาง ในข้อหาละเลยต่อหน้าที่ และยื่นฟ้อง บริษัท กมลสุโกศล อิเล็คทริค จำกัด, บริษัท กมลสุโกศล จำกัด, กมลา สุโกศล กรรมการผู้จัดการบริษัท, เลียบ เธียรประสิทธิ์ กรรมการบริษัท และ เชวง สุวรรณรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายเครื่องมือแพทย์ เป็นจำเลยในคดีละเมิด
สำหรับคดีที่ฟ้องสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ศาลปกครอง พิจารณาว่าสำนักงานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลการเก็บรักษาวัสดุกัมมันตรังสี และการจัดการให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน ทั้งที่ทางโรงพยาบาลทำหนังสือแจ้งมาแล้วว่าขายเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ให้บุคคลอื่น แต่สำนักงานก็มิได้ดำเนินการติดตามใดๆ อย่างละเอียด และมิได้ไปตรวจสอบตามที่มีการขอรับใบอนุญาตประจำปีแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดยังพิพากษาให้สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ชำระค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายทั้งหมดรวมเป็นเงินกว่า 5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป
ส่วนคดีแพ่ง ศาลฎีกา ตัดสินไว้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 สรุปว่า บริษัทฯ มีความผิดฐานมีเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และยังนำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ไว้ในโรงรถเก่าของบริษัท ไม่จัดเก็บเครื่องฉายดังกล่าวให้ปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ จนมีบุคคลภายนอกเอาชิ้นส่วนของเครื่องฉายรังสีไปขายต่อ โดยมีการตัดแยกแท่งตะกั่ว ทำให้กัมมันตรังสีแพร่ออกไปในปริมาณสูง เป็นอันตรายแก่สุขภาพร่างกายของโจทก์ทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในระแวกนั้น
ทั้งนี้ การที่ผู้เสียหายรับซื้อแท่งโลหะสแตนเลส ซึ่งภายในบรรจุวัสดุกัมมันตรังสีโคบอลต์-60 แม้จะฟังได้ว่าผู้รับซื้อของเก่าขาดความระมัดระวังไปบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการรับซื้อไว้โดยประมาทเลินเล่อ ให้บริษัทชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 529,276 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์
อย่างไรก็ดี สุรชัย ตรงงาม ทนายความของโจทก์ในคดีดังกล่าว กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีแรกๆ ที่มีการฟ้องทั้งศาลปกครองและศาลแพ่ง คือมีการฟ้องหน่วยงานรัฐ เรื่องการควบคุมดูแลไม่ดี และฟ้องต่อเอกชนซึ่งเก็บรักษาวัตถุอันตรายไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
“เนื่องจากศาลปกครองตัดสินไปก่อน ค่าเสียหายใดๆ ที่ศาลปกครองตัดสินจึงถูกนำมารวมในคดีแพ่งด้วย ซึ่งทำให้เห็นปัญหาว่า
1.ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายนั้น ยังไม่รับผิดชอบจากการกระทำหรือรับผิดชอบน้อยจนเกินไป
2.ไม่มีระบบไล่เบี้ยเอาคืนจากหน่วยงานรัฐอย่างชัดเจน ตั้งแต่ปี 2545 ที่มีการฟ้องร้องศาลปกครองและได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงิน 6 ล้านกว่าบาท เหตุใดหน่วยงานรัฐไม่ได้มีการไปไล่เบี้ยเอาคืนจากผู้ประกอบการ รวมถึงบรรดาค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมียอดรวมถึง 7 ล้านกว่าบาท สิ่งนี้สะท้อนระบบบิดเบี้ยวของกระบวนการการเยียวยาด้านสิ่งแวดล้อม” สุรชัยกล่าว
สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าคำพิพากษานี้ยังปัญหาในเรื่องการพิจารณาจ่ายค่าเสียหาย เพราะกลายเป็นว่าผู้ประกอบการชดใช้น้อยมากและน้อยกว่าหน่วยงานรัฐ ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการต้องเข้าไปตรวจคนบริเวณรอบๆ ซึ่งเข้าใจว่ามีค่าใช้จ่ายเยอะมาก แต่ไม่แน่ใจว่ากระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายคืนจากผู้ประกอบการหรือไม่ “คดีนี้เป็นบทเรียนให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐต้องเรียกร้องจากผู้ประกอบการในการรับผิดชอบด้วย”
ขณะที่ สนธยา สระประทุม 1 ในโจทก์ผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า เขาต้องอยู่กับปัญหาสุขภาพมาต่อเนื่องถึง 15 ปี และยังอาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื่องจากมือทั้ง 2 ข้างใช้งานได้ไม่เต็มที่ และไม่เคยรักษาหายขาด
“มือข้างซ้ายตอนนี้ที่แขนมีแผลพุพองขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง ในระยะเวลา 15 ปี ไม่มีภาครัฐเข้ามาหรือจะเรียกผู้ป่วยเข้าไปตรวจโครโมโซมหรือตรวจเลือด นอกจากผู้ป่วยมีปัญหาอะไรขึ้นมาก็วิ่งเข้าไปหาหมอเอง ผมอยู่แถวบางนา ผมจะต้องดูว่าโครงการ 30 บาทให้ใช้บริการในโรงพยาบาลไหนได้บ้าง โรงพยาบาลที่ใช้บริการหมอบางคนบอกรักษาได้บางคนรักษาไม่ได้ แม้ผมขอไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น เขาก็จะต้องตรวจว่าสามารถส่งไปโรงพยาบาลดังกล่าวได้รึเปล่า” สนทยากล่าว
เหตุการณ์ ‘โคบอลต์-60’ นี้ถูกยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งหลังจากที่ซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าที่จังหวัดปราจีนบุรี เพราะนับว่าเป็นเหตุการณ์อุบัติเหตุเกี่ยวกับกัมมันตรังสีครั้งแรกๆ ของไทย ที่แม้ว่าจะเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 23 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังสามารถเป็นบทเรียนชั้นเยี่ยมในการแสดงให้เห็นถึงความหละหลวมในการเก็บป้องกันของอันตรายเหล่านี้
อ้างอิงจาก