หลายคนอาจได้ยินข่าวคราวเรื่องข้อพิพาทของแอปพลิเคชั่น TikTok กับสหรัฐฯ มานาน แต่ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะมีข่าวคราวการแบนแอปพลิเคชั่น TikTok เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ทั้งจากสหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรป เพราะเกรงกลัวว่าข้อมูลต่างๆ อาจตกไปอยู่ในมือของรัฐบาลจีน จนซีอีโอของ TikTok ถูกเรียกให้ไปปากคำที่สภาคองเกรส
เมื่อวานนี้ (23 มีนาคม) โจวโซ่วจือ (Shou Zi Chew) ซีอีโอของ TikTok เดินทางเข้าไปให้ปากคำต่อสภาคองเกรส และเข้าแถลงต่อหน้าฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ว่าแอปพลิเคชั่นวิดีโอสั้นของจีน ซึ่งมีผู้ใช้ชาวอเมริกันมากกว่า 150 ล้านคน ไม่เคยเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ของผู้ใช้จากสหรัฐฯ ให้แก่รัฐบาลจีน
ในระหว่างการพิจารณาคดีที่ยาวนานกว่า 5 ชั่วโมง คลิปจำนวนมากก็ถูกเผยแพร่ออกมา และก็นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เพราะหลายคนเห็นช่องโหว่หลายครั้งในการพิจารณาคดี เช่น ถามคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี หรือเจ้าหน้าที่ถามคำถาม แล้วจือจะตอบก็ขัดจังหวะด้วยการพูดเรื่องอื่นแทน
อย่างหนึ่งในวิดีโอที่มีการแชร์มากที่สุด คือตัวแทนของรัฐจอร์เจีย เอิร์ล บัดดี้ คาร์เตอร์ (Earl Buddy Carter) ถามโจวโซ่วจือว่า “กล้องโทรศัพท์ (ขณะใช้ TikTok) สามารถทำให้รูม่านตาของผู้ใช้ขยายใหญ่ขึ้นหรือไม่? ซึ่งจือก็ตอบปฏิเสธกลับอย่างรวดเร็วโดยบอกว่า “TikTok ไม่ใช้ร่างกาย ใบหน้า หรือข้อมูลเสียงใดๆ เพื่อระบุตัวผู้ใช้”
หรือคาร์เตอร์ถามจือว่า “แอปพลิเคชั่นกำหนดอายุของผู้ใช้งานได้อย่างไร? โดยจืออธิบายว่า “ผู้ใช้ทุกคนจะต้องระบุอายุของตนเอง ตั้งแต่สมัครบัญชีก่อนใช้แอปพลิเคชั่นแล้ว”
นอกจากนี้ ยังมีคลิปที่ทำให้ผู้คนต่างเกิดความงุนงง นั่นก็คือคลิปที่ ริชาร์ด ฮัดสัน (Richard Hudson) ตัวแทนจากรัฐนอร์ทแคโรไลนา ถามจือว่า “TikTok สามารถเข้าถึงเครือข่าย Wi-Fi ที่บ้านได้หรือไม่? ซึ่งคำถามนี้ทำให้คนในโลกโซเชียลต่างเกิดความสับสน เนื่องจากแอปพลิเคชั่นส่วนใหญ่ต่างต้องเข้าถึงเครือข่ายก่อนถึงจะใช้งานได้
“เขาไม่เข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตทำงานอย่างไร!” ผู้ใช้ TikTok แสดงความคิดเห็น
อย่างไรก็ดี วิดีโอที่เป็นไวรัลมากที่สุดอีกวิดีโอหนึ่ง ก็คือเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ พยายามขัดจังหวะจือมากกว่าจะปล่อยให้เขาตอบคำถาม เช่น เจ้าหน้าที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความอันตรายของ Blackout Challenge (การใช้เข็มขัด เชือก หรือใช้แขนของผู้อื่นรัดคอเพื่อให้หมดสติจากขาดออกซิเจน) เมื่อปี 2021 แต่คาร์เตอร์ตัดบทจือด้วยการพูดเรื่องอื่นแทน
หลังการพิจารณาคดี มีผู้ใช้ TikTok หลายคนต่างเย้ยหยันการพิจารณาคดีของรัฐสภาสหรัฐฯ ที่ต่อต้านแอปพลิเคชั่นนี้ โดยเรียกผู้ร่างกฎหมายว่า ‘พวกเบบี้บูมเมอร์ (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 1946-1964)’ เพราะพวกเขากำลังทำให้ชาวอเมริกัน ‘อับอาย’ หรือ ‘ดูโง่’ ต่อหน้าคนทั้งโลก และฝ่ายนิติบัญญัติยังไม่รู้จัก TikTok ดีพอที่จะดำเนินคดี
“ฉันรู้สึกละอายใจเมื่อเห็นคนเหล่านี้พยายามสร้างประเด็น” ผู้ใช้ TikTok รายหนึ่งกล่าว
ทั้งนี้ หลังการพิจารณาคดีจบลง กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังดำเนินอยู่ โดยผู้ใช้หลายคนประณามวิธีที่สภาคองเกรสจัดการกับข้อกังวลของภัยคุกคามด้านความปลอดภัยของแอปพลิเคชั่นที่ระบุว่า ชาวอเมริกันกำลังถูกสอดแนมหรือเพื่อถูกเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ
ไม่เพียงเท่านี้ ผู้คนออกมากล่าวว่า การแบน TikTok จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ที่หารายได้จากการสร้างคอนเทนต์ในแอปพลิเคชั่นนี้ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในสหรัฐฯ และยังกล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำไม่ใช่การแบน แต่คือการออกมารักษาผลประโยชน์-ข้อมูลของประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่างหาก
อ้างอิงจาก