“ชาวเชียงรายร่วมมือร่วมใจ คนเชียงรายสร้างฝน” หลังจากสถานการณ์ PM 2.5 ในประเทศร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ เราก็มักจะเห็นโพสต์ที่ออกมาชวนให้ฉีดน้ำลดฝุ่นกันเถอะ หรือไม่ก็ขอให้ฝนตกเยอะๆ ฝุ่นจะได้หายไป
แล้วว่าแต่การฉีดน้ำหรือการที่ฝนตกมันช่วยให้ฝุ่น PM 2.5 หายไปจริงไหมนะ?
คำตอบนี้ นักวิชาการหลายคนก็ออกมาบอกว่าการฉีดน้ำไม่ได้ช่วยให้ PM 2.5 หายไป และทางออกที่ต้องรีบทำ คือต้องหยุดการเผาไหม้ทุกจุดในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดข้างเคียงให้ได้
เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าการฉีดน้ำพ่นขึ้นฟ้า ไม่สามารถลดฝุ่น PM 2.5 ได้ เพราะหยดน้ำมีผลในการจับฝุ่นได้น้อย อีกทั้ง PM 2.5 ก็เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กจิ๋ว หยดน้ำจึงมีผลในการจับฝุ่นค่อนข้างน้อย ดังนั้นการฉีดน้ำพ่นขึ้นฟ้าก็ไม่ต่างอะไรกับการที่อยากให้คลองแสนแสบสะอาด แต่แก้ปัญหาด้วยการเอาน้ำขวดไปเทลงคลอง
ข้อมูลของเจษฎาก็สอดคล้องกับที่กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) เคยระบุไว้ว่า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในประเทศจีน ชี้ให้เห็นว่า ฝนตกไม่ได้ช่วยให้ความเข้มของฝุ่นละอองลดลงมากเท่าไร แม้จะเป็นช่วงที่ฝนตกหนักสุดก็ยังลดความเข้มของ PM 2.5 ลงไปได้เพียง 8.7% เท่านั้น และไม่ต้องกล่าวถึงฝนที่ตกมาเพียงเล็กน้อย เพราะฝนลักษณะนี้แทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย
ส่วนการแก้ปัญหาด้วยการฉีดน้ำแบบที่ทำอยู่ ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวไว้เช่นกันว่าสามารถช่วยลดได้เฉพาะฝุ่นขนาดใหญ่ หรือ PM 10 เท่านั้น ไม่สามารถช่วยลดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ แต่ถ้าต้องการฉีดน้ำเพื่อลดฝุ่น สิ่งที่ควรใช้คือการใช้เครื่องเจ็ททางวิศวกรรมแบบอินเดียที่สามารถพ่นละอองน้ำให้เล็กกว่า 2.5 ไมครอน เพื่อให้ละอองน้ำไปติดกับฝุ่นแล้วชะล้างลงมา
“ทางออกที่ต้องรีบทำ คือต้องหยุดการเผาไหม้ทุกจุดในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดข้างเคียง ให้ได้ต่างหากครับ” เจษฎากล่าว
แล้วเราจะแก้ปัญหาเรื่อง PM 2.5 ได้อย่างไรกัน แค่ให้คนไทยหยุดเผาก็พอแล้วเหรอ?
แต่ก่อนเราจะไปพูดถึงเรื่องหยุดเผา ก็คงจะต้องขอเกริ่นถึงจุดเริ่มต้นของการที่เกษตรกรนิยมปลูกข้าวโพดและเผาซังข้าวโพดก่อน ในประเด็นนี้สำนักข่าว The Active รายงานว่า การที่เกษตรกรต้องปลูกข้าวโพดก็มีปัจจัยมาจากทั้งสิ้น 2 ปัจจัย
ปัจจัยแรกคือการที่ให้บริษัทเข้าไปควบคุมการผลิตของเกษตรกรได้ ซึ่งเป็นเปลี่ยนระบบการเกษตรดั้งเดิมเป็นระบบเกษตรอุตสาหกรรม ทำให้ต้องทำลายซากซังข้าวโพดที่เหลือ ด้วยการเผา เพราะว่าการเผาใช้งบประมาณน้อยกว่าการฝังกลบ
ส่วนปัจจัยที่ 2 ก็มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ โดยในแต่ละปี ภาครัฐจะมีมาตรการต่างๆ มากมายที่ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประกันรายได้เกษตรกร หรือเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ทั้งนี้ ยังพบอีกว่า ประเทศไทยมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ให้สามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านโดยการลดภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือ 0% ซึ่งทำให้ประเทศเพื่อนบ้านปลูกข้าวโพดกันมากขึ้น และพื้นที่ดังกล่าวก็คือแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศที่ข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยอีกเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อวานนี้ (27 มีนาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ถึงสาเหตุของการเผาไหม้ไว้ว่า การขยายตัวของกลุ่มทุนไทยที่เข้าไปรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรมในลาวและเมียนมา และเป็นที่มาของฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย
หากจะแก้ปัญหา PM 2.5 นอกจากต้องมีมาตรการผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว พิธากล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องจัดการกับต้นตอที่ทำให้เกิดการก่อมลพิษในประเทศ นั่นก็คือการไม่ยอมรับการเผาทุกกรณี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาในประเทศต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อตัดวงจรการเผา
นอกจากนี้ พิธายังเสนอว่าประเทศไทยยังต้องมีกฎหมายให้ผู้มีส่วนในการสร้างหมอกควันพิษต้องรับผิดชอบทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง ส่วนประชาชนก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ หากพิสูจน์ได้ว่าบริษัทใดรับซื้อหรือมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษลอยเข้ามาในประเทศไทย หลักการเดียวกันกับ ‘กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act)’ ของประเทศสิงคโปร์
อ้างอิงจาก