ทำไมช่วงนี้สั่งอาหารผ่านแกรป (Grab) แต่ไม่ค่อยมีไรเดอร์รับ? เหตุของการขาดแคลนแรงงานกลุ่มนี้อาจเกิดจากการท่ีบริษัทแกรป ประเทศไทย ประกาศลดค่ารอบขั้นต่ำที่การันตีไว้ 40 บาท เป็น 28 บาท (คิดเป็นราวๆ 30%) จนคนทำงานประกาศนัดหยุดงาน
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แกรปเพิ่งมีนโยบายปรับค่ารอบของสายวิ่งส่งอาหารและส่งสินค้า (mart) จากเดิมที่จะการันตีค่ารอบขั้นต่ำที่ 40 บาท เปลี่ยนเป็นการันตีค่ารอบขั้นต่ำที่ 28 บาท และอ้างว่าจะได้ค่ารอบเพิ่มจากการรออาหารนานแทน
การปรับนโยบายแบบนี้ ทำให้ไรเดอร์แกรปจากหลากหลายกลุ่มชวนกันหยุดงาน/ปิดระบบ ไม่รับงานส่งอาหารและสินค้าให้แพลตฟอร์มแกรป หรือย้ายไปขับแอปฯ อื่น เพื่อประท้วงถึงค่ารอบที่ไม่เป็นธรรม เช่น นัดกันไม่วิ่งส่งอาหารให้แกรปฯ ในวันท่ี 3 เมษายน ช่วง 10.00-13.00 และ 17.00-20.00 น.
ทั้งนี้ มีคนตั้งข้อสังเกตว่า แพลตฟอร์มมักจ่ายงานร้านอาหารที่ไกลจากจุดที่อยู่ของคนขับมาให้ ซึ่งกว่าจะถึงร้านก็อาจจะทำเสร็จหรือใกล้เสร็จแล้ว ทำให้ไม่ต้องรอ และเท่ากับว่าอาจไม่ได้ค่ารอเพิ่มสักบาทเดียว
ปล. เงินค่ารอบขั้นต่ำที่การันตีเริ่มต้น 28 บาทเนี่ย ไม่ได้คำนวณระยะทางระหว่างจุดที่ไรเดอร์อยู่กับร้านอาหารเข้าไปด้วย แปลว่า ไรเดอร์ต้องรับผิดชอบต้นทุนและตีรถเปล่าไปหาร้านค้าเอง ชวนสงสัยเหมือนกันนะว่าราคาขั้นต่ำใหม่มันเป็นธรรมหรือยัง?
เพื่อเข้าใจสถานการณ์ The MATTER พูดคุยกับอนุกูล ราชกุณ เลขาธิการและแอดมินเพจสหภาพไรเดอร์ถึงผลกระทบจากการลดค่ารอบ เขาอธิบายกับเราว่า การลดค่ารอบกระทันหันเหลือเพียง 28 บาท คือการขูดรีดไรเดอร์ให้ไม่มีทางเลือกกว่าเดิม และไม่ได้ฟังเสียงไรเดอร์เลย
เมื่อปรับค่าแรงลง ไรเดอร์แกรปก็อาจต้องวิ่งงานให้ถี่ขึ้น ซึ่งอนุกูลวิเคราะห์ว่ามันไม่ได้กระทบแค่กับคนทำงาน แต่จะส่งผลในวงกว้างถึงคนทั่วไปด้วย เช่น ผู้ใช้รถใช้ถนนในภาพรวม “อันตรายบนท้องถนนก็อาจเพิ่มขึ้น เพราะไรเดอร์ถูกบีบให้ต้องเร่งทำรอบเพื่อรายได้”
“28 บาทเนี่ย ลองให้ผู้บริหารมาวิ่งเองมั้ย ถ้าเกิดผู้บริหารบอกว่าค่ารอบนี้เป็นธรรมแล้ว ลองมาวิ่งงานสักเดือนนึงก็ได้ หลายอย่างเขาไม่ได้เผชิญหรือประสบเอง เขาอยู่บนหอคอยงาช้าง คอยบริหารงาน ได้สวัสดิการ เชิดหน้าชูคอบนความทุกข์ หยาดเหงื่อ และคราบน้ำตาของไรเดอร์ ลองถามตัวเองกลับหน่อยว่ามีความสุขกับสิ่งแบบนี้จริงไหม” อนุกูลบอกกับเราด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
ขณะเดียวกัน บางส่วนในสังคมตั้งคำถามว่าเพราะบริษัทต้นทางกำลังขาดทุนจึงต้องลดภาระลง อนุกูลตอบทันทีว่าการขาดทุนไม่ใช่เหตุผลให้ขูดรีดคนทำงาน “ขาดทุน มันคนละเรื่องกับการขูดรีดไรเดอร์ มันไม่ใช่เหตุผลที่เอามาขูดรีดคนทำงาน มันไม่เมคเซนส์”
เลขาธิการสหภาพไรเดอร์ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า ทุกบริษัทแพลตฟอร์มควรมีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจกว่านี้ และควรดูแลไรเดอร์อย่างเท่าเทียม เพราะบริษัทควบคุมทั้งกติกา นโยบาย และระบบที่ไม่เป็นธรรมแทบทั้งหมด แทบจะไม่ต่างจากการเป็นลูกจ้างเลยแม้บริษัทจะใช้วาทกรรม ‘พาร์ทเนอร์’ ก็ตาม
อ้างอิงบางส่วนจาก
https://www.facebook.com/1nakub/videos/947338672956825/