แค่พิมพ์คำว่า ‘สมัครงานไรเดอร์’ ไปในช่องค้นหา คุณจะเจอกับคำเชิญชวนจากสารพัดแอปพลิเคชัน
สมัครฟรี รายได้ดี และอิสระ เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของอาชีพ ‘ไรเดอร์’ ที่ทุกๆ แพลตฟอร์มประชาสัมพันธ์กับผู้ที่สนใจ เมื่อคนเจ็บปวดกับงานประจำ คนกำลังตกงาน หรือคนอยากหารายได้เสริมมาอ่านเจอ หลายคนเลยตัดสินใจสมัครไปเป็นส่วนหนึ่งกับอาชีพของยุคสมัย
เรย์-อนุกูล ราชกุณา เคยทำงานเป็นช่างซ่อมรถ เมื่อถูกนายจ้างเอาเปรียบ เขาหันหลังให้งานประจำ แล้วสมัครเป็นไรเดอร์กับแอปฯ เจ้าหนึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ด้วยเวลาทำงานที่น้อยกว่า แต่กลับมีรายได้มากกว่า เขาเลยรู้สึกว่าไรเดอร์คืออาชีพที่พอเหมาะพอดีกับตัวเอง
แต่เวลาผ่านไปราว 1 ปี กลิ่นหอมหวนของความอิสระเริ่มจางหาย กลายเป็นความรู้สึกคับข้องที่ค่อยๆ สะสม ทั้งจากค่าตอบแทนที่ลดลง บทลงโทษที่เข้มงวดมากขึ้น ไปจนถึงข้อบังคับต่างๆ ที่ถูกสั่งให้ทำตาม
เขาตัดสินใจรวบรวมเพื่อนร่วมอาชีพเข้ามาในกลุ่มไลน์ เพื่อต่อรองเรียกร้องกับเจ้าของแพลตฟอร์ม ตามด้วยก่อตั้งเพจสหภาพไรเดอร์ – Freedom Union Rider เพื่อสื่อสารปัญหาต่างๆ ของอาชีพตัวเอง ทั้งกับเพื่อนไรเดอร์ด้วยกันเอง รวมไปถึงคนวงกว้างในสังคมด้วย โดยปัจจุบันเพจมีผู้ติดตามเกือบ 40,000 คนแล้ว
“ผมพูดถึงทุกแอปฯ เรียกร้องโดยภาพรวมเลย ไม่มีสักเจ้าที่ไม่เอาเปรียบเลย อยู่ที่ว่าใครแย่มากหรือแย่น้อย” คือมุมมองของอนุกูล
บางคนอาจเคยสั่งอาหาร แต่ไม่เคยรู้ว่าไรเดอร์เจอปัญหาอะไร บางคนอาจพอรู้บ้าง แต่ไม่ได้เข้าใจชัดเจน เพื่อคลี่ให้เห็นทุกๆ แง่มุมที่เจ้าของแพลตฟอร์มไม่ใส่ไว้ในคำประชาสัมพันธ์ เราเลยชวนเรย์มาค่อยๆ อธิบายให้กระจ่าง โดยลองซักถามในมุมคนทั่วไปที่ขี้สงสัย ส่วนเขาก็ตอบทั้งในฐานะไรเดอร์คนหนึ่ง และคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของเรื่องนี้มาหลายปี
คุณมาทำอาชีพไรเดอร์ได้ยังไง
ผมเคยทำงานเป็นช่างอู่รถยุโรปแห่งหนึ่ง เป็นคนชอบเรื่องรถเลยไปสมัคร ไม่ได้มีความรู้เรื่องช่างเลย เริ่มจากเป็นเด็กรับรถ อาศัยครูพักลักจำ พอได้ช่วยได้ลองทำก็ทำเป็นมากขึ้น ต่อมาค่อยขยับมาเป็นช่าง ช่วงนั้นผมทำงานเกินเวลาแล้วไม่ได้เงินเพิ่ม บางวันทำถึงเที่ยงคืน เจ้าของอู่ซื้อราดหน้าเคี้ยงเอ็มไพร์มาฝาก เขาพูดเหมือนเป็นของหรู ผมก็เคยรู้สึกแบบนั้น (หัวเราะ) แต่เวลาผ่านเราเริ่มมองว่าไม่ใช่ แล้วรู้สึกถึงการกดขี่
เจ้าของอู่มักใช้คำว่า “เราอยู่กันเป็นครอบครัว เป็นพี่น้องกัน” ฟังทีแรกก็รู้สึกดี แต่ตอนหลังเราถึงเข้าใจว่าคือการขูดรีด ร้านปิดตอน 1 ทุ่ม บางวันลูกค้ามา 4 ทุ่ม เจ้าของอู่ก็ปลุกคนงานมาเพื่อซ่อมรถลูกค้า สภาพความเป็นอยู่ไม่ได้ดี เป็นบ้านสังกะสี ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ เช่น คนลาว พวกเขาถูกยึดพาสปอร์ตด้วย หลังจากเป็นช่างอยู่ 2 ปี ผมรู้จักกับงานไรเดอร์ เขาบอกว่าเป็นงานอิสระ มันตรงกับจริตเราในตอนนั้น เลยตัดสินใจลาออกมาสมัครเป็นไรเดอร์
ผมเริ่มเป็นไรเดอร์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ช่วงแรกก็โอเค ขับส่งอาหารแค่วันละไม่กี่ชั่วโมงก็มีรายได้เพียงพอแล้ว เลี้ยงครอบครัวได้เลย เหมือนผมได้หนีการกดขี่และมายาคติการทำงานประจำ ทำงานอู่เข้า 10 โมง เลิก 1 ทุ่ม กลางวันไปไหนไม่ได้เลย งานไรเดอร์ตอบโจทย์กว่ามาก สมัยนั้นรายได้เดือนละเกือบ 30,000 บาท ตื่นไปวิ่งงานสัก 9 โมง เข้าบ้าน 3-4 โมง เราเลือกกดงานตัวใหญ่ วิ่งงานไกลๆ ก็ได้เงินดี
ฟังดูไม่มีปัญหาอะไร งานอิสระ แถมรายได้ดีด้วย
ใช่ แต่ผ่านไปปีกว่า ผมเริ่มเอ๊ะ แอปฯ ที่ผมขับอยู่มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย เมื่อก่อนไรเดอร์ยกเลิกงานแล้วไม่โดนปรับ ก็มาเริ่มปรับ 50 บาท แต่เรายังรายได้เยอะไง ปรับก็ปรับ บางทีเรารีบกดรับเพราะอยากได้งาน แต่พอโทรถามลูกค้า เขาบอกว่าเป็นเค้ก ไรเดอร์ไม่ค่อยอยากรับงานแบบนี้หรอก เพราะมีโอกาสของเสียหายได้ บางคนต้องใส่หมวกกันน็อกแล้วแขวนถุงเค้กไว้ที่สายรัด เพราะใส่ข้างหลังแล้วอาจเสียหายได้ หรือพวกอาหารเป็นน้ำๆ ที่แพ็กมาไม่ดีก็ไม่ค่อยอยากรับกัน จากปรับ 50 บาท เป็น 100 บาท ..จากแบน 3 ชั่วโมง เป็นแบน 6 ชั่วโมง เป็นแบน 1 วัน เลยไม่มีใครกล้ายกเลิกงาน
ค่ารอบก็ปรับลงเรื่อยๆ เจ้าของอ้างว่า ถ้าไม่ปรับลง เราจะแข่งขันกับเจ้าอื่นไม่ได้ มันคือการแข่งที่ราคาอย่างเดียว แต่ไม่ได้แข่งที่คุณภาพ วันหนึ่งแอปฯ ที่ผมขับมีการเปลี่ยนนโยบายอีก บังคับเก็บเงิน 200 บาทจากไรเดอร์ทุกคน เพื่อป้องกันไรเดอร์ทำสินค้าเสียหาย ซึ่งมันขัดแย้งกันเองนะ เจ้าของแอปฯ บอกว่า เงินนั้นจะเป็นกองกลางในกรณีสินค้าลูกค้าเสียหาย แต่ถ้าไรเดอร์ทำเสียหายขึ้นมา เขาต้องชดใช้เองอยู่ดี แล้วเงินที่เก็บไปไหน ไรเดอร์เป็นแสนคน เขาถือเงินไว้หลายล้านบาทเลย
คุณมองว่าเป็นการเอาเปรียบอย่างค่อยเป็นค่อยไปเหรอ
ใช่ครับ ค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ ทำ เหมือนอย่างที่หนังสือ กินกบตัวนั้นซะ! (เขียนโดย Brian Tracy) ระหว่างกบถูกใส่ลงไปในน้ำร้อนเลย กับกบที่ลงไปในน้ำปกติแล้วค่อยๆ ต้มให้เดือด แบบหลังจะไม่ถึงการเปลี่ยนแปลง
เรื่องเงิน 200 บาทที่เก็บไป ทำให้ไรเดอร์หลายคนไม่เห็นด้วยจนเกิดการประท้วงเลยใช่ไหม
การเอาเปรียบมีมาเรื่อยๆ จนถึงเรื่องเงิน 200 บาท ไรเดอร์ประท้วงมาหลายรอบ เราจัดตั้งกันผ่านกลุ่มไลน์ เวลาผ่านไปก็เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ผมฮึดสู้ คือผมรวมกลุ่มไรเดอร์ได้ 70 คนในไลน์ เป็นกลุ่มไลน์ธรรมดา ผมมารู้ทีหลังว่า ใครเข้ากลุ่มมาก็เตะคนอื่นได้ บริษัทคงรู้ว่ามีคนรวมตัวก็ส่งคนเข้ามาแล้วเตะทุกคนออก ไม่รู้ว่าใครทำ มันทำให้เราเข้าใจว่า อ๋อ.. มึงไม่ชอบให้กูรวมกลุ่มกัน มันเป็นความโกรธปนกับการเข้าใจอะไรบางอย่าง
ผมเลยตั้งกลุ่มใหม่ ครั้งนี้ทำเป็น Openchat เตะใครไม่ได้แล้ว มีผู้ดูแลห้อง รวมกลุ่มได้ 300 คน หลังจากนั้นก็ตั้งเพจ สหภาพไรเดอร์ – Freedom Rider Union เมื่อเดือนมกราคม 2564 ผมใช้เพจเป็นช่องทางสื่อสารประเด็นไรเดอร์มาตลอด วันหนึ่งมีเพื่อนไรเดอร์แนะนำให้ปรึกษากับสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เราเลยได้พูดคุยกัน ผมได้คุยกับผู้นำแรงงานและอาจารย์หลายคน ได้แนวคิดในการรวมกลุ่ม รวมทั้งได้ศึกษาจากช่องทางอื่นๆ เพิ่มด้วย
คุณพยายามรวมตัวและถึงขนาดปรึกษาองค์กรแรงงาน ตอนนั้นอยากให้เกิดอะไรขึ้น
อยากทำให้อาชีพไรเดอร์เป็นอาชีพที่น่าทำ มีกฎหมายรองรับ ดูแล และควบคุมแพลตฟอร์ม ผมเคยอยู่ในกลุ่มที่ยื่นหนังสือที่คณะกรรมาธิการแรงงาน เรื่องเงิน 200 บาทต้องได้คืน ตอนนี้ก็ยังไม่ได้คืน บริษัทอ้างว่า คุณจะได้คืนหลังจากปิด ID รวมถึงเรียกร้องในเรื่องอื่นๆ ด้วย
หลายคนเจอนายจ้างไม่ดี มักจบลงที่การลาออกแล้วเปลี่ยนบริษัท ทำไมคุณถึงอยากเรียกร้อง
วิธีคิดว่า ถ้าไม่ดีก็เปลี่ยนงาน เป็นวิธีคิดแบบไม่แก้ปัญหา สุดท้ายคนอื่นเข้ามาก็เจอปัญหานี้ต่อไป ลูกหลานเราล่ะ
ตอนนั้นผมคิดแบบนี้เลย ถ้าเราไม่เรียกร้อง ถ้าไม่ทำให้การจ้างงานเป็นธรรม คนรุ่นหลังก็ต้องเจอปัญหาเดียวกัน เราถูกปลูกฝังมายาคติเรื่องการยอมจำนนมาตลอด ซึ่งผมมองว่า การย้ายงานใหม่ก็คือการยอมจำนน
แต่ตอนทำงานเป็นช่าง คุณก็หนีออกมาไม่ใช่เหรอ
ใช่ เพราะตอนนั้นผมยังไม่มีมุมมองทางการเมืองที่กว้าง
คิดแบบนี้ได้ไหม เจ้าของแพลตฟอร์มก็ควรมีอำนาจในการออกแบบเงื่อนไขต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมไง
แล้วใครทำผลกำไรให้คุณ ถ้านายทุนมีเงินหนึ่งก้อน แต่ไม่มีคนทำงานเลย เขาทำเองได้ไหม เราไม่ติดหรอกว่า นายทุนต้องได้ผลตอบแทนมากสุด แต่การแบ่งก็ควรแฟร์ ทุกวันนี้ไรเดอร์แบกรับต้นทุนแทบทุกอย่างแทนบริษัท แต่คุณกำหนดกฎเกณฑ์ทุกอย่างได้ ขณะที่ไรเดอร์กำหนดอะไรไม่ได้เลย World Bank บอกไว้ว่า ประเทศที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็ง เขาจะต่อรองผลประโยชน์จากคนส่วนน้อยกลับมายังคนส่วนใหญ่ได้
เวลาคนทำงานแสดงตัวเยอะๆ ก็กลายเป็นแกะดำ ใช้ชีวิตยาก ทำไมคุณถึงไม่หาทางอยู่กับระบบให้ได้
ผมมองว่าการอยู่แบบเชื่องๆ ไม่ใช่เรา เราเป็นมนุษย์ ต้องตั้งคำถามได้ ถ้าเราเชื่องไปตลอด ไม่ต่างอะไรจากคนที่อยู่ในกรงในคอก ใครด่าผมว่า ‘ไอ้นอกคอก’ ใช่ กูนอกคอก คำถามที่ผมอยากบอกคือ เรากำลังอยู่ในกรอบของผู้ปกครองหรือเปล่า โลกนี้มีคน 2 ประเภทแหละ ผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง เราอยากเป็นคนประเภทไหนล่ะ
คนทำอาชีพไรเดอร์เริ่มต้นโดนเอาเปรียบยังไง
ถ้าเอาแค่เริ่มต้นเลย แพลตฟอร์มมักใช้คำว่า ‘พาร์ตเนอร์’ ซึ่งมันควรจะอิสระใช่ไหม แต่ในความเป็นจริง พวกเขามีอำนาจในการสั่งการ มีอำนาจในการให้คุณให้โทษ เป็นนิยามการจ้างงานที่ผิดแล้ว นั่นคือนายจ้าง-ลูกจ้าง
คำว่าพาร์ตเนอร์คือการหลบเลี่ยงเรื่องสวัสดิการ เราต้องออกมาต่อสู้กับมายาคตินี้ ตอนนี้หลายคนก็เริ่มตาสว่างแล้ว
แพลตฟอร์มพยายามจะบอกว่า พาร์ตเนอร์คือความอิสระ
ใช่ เขาขายความอิสระ บางเจ้ามีบริษัทแม่อยู่ยุโรป ไรเดอร์ที่นั่นเป็นลูกจ้างประจำ มีสวัสดิการ มีวันหยุด แต่ที่ไทยเป็นพาร์ตเนอร์เฉยเลย บางแบรนด์ก็โปรโมตแต่คำว่า พาร์ตเนอร์ๆๆ ผลิตซ้ำวาทกรรมนี้ไปเรื่อยๆ เวลาออกกฎระเบียบหรือนโยบายต่างๆ เขาไม่ได้ถามไรเดอร์เลย ถ้าเป็นพาร์ตเนอร์จริง ทำไมปรับลดค่ารอบโดยไม่ถามความยินยอมจากไรเดอร์ ประกาศแล้วปรับเลย ถ้าเป็นพาร์ตเนอร์ อำนาจต้องเท่ากันสิ
ทั้งที่แอปฯ เดียวกัน ทำไมพอเป็นคนละประเทศแล้วมีการจ้างงานไม่เหมือนกัน
เสรีนิยมใหม่แหละ เน้นลงทุนในประเทศที่ขูดรีดง่าย กฎหมายอ่อนแอ ภาคประชาสังคมอ่อนแอ หวานหมูเลย เขาจะมาทำอะไรกับเราก็ได้ ประเทศต้นสังคมขูดรีดไม่ได้ เขาก็ย้ายไปขูดรีดประเทศที่ขบวนการแรงงานอ่อนแอ รัฐบาลที่ไม่ได้เห็นหัวประชาชนก็มีส่วน มององค์กรของภาคประชาชนเป็นภัยคุกคาม มีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.การรวมกลุ่ม
แล้วไรเดอร์ควรได้สัญญาจ้างแบบไหน
มีข้อถกเถียงว่า ควรเป็นอิสระหรือเป็นลูกจ้าง มีกฎหมายตัวหนึ่งชื่อ Prop 22 ที่รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา แพลตฟอร์มเขียนเองด้วยว่า แพลตฟอร์มต้องให้สวัสดิการขั้นพื้นฐานกับไรเดอร์ตั้งแต่เริ่มทำงาน คือประกันอุบัติเหตุ แล้วจะให้มากขึ้นตามชั่วโมงทำงาน
แต่ตัดมาที่ไทย แพลตฟอร์มไม่ให้อะไรเลย ไรเดอร์ต้องขวนขวายวิ่งทำรอบให้ได้หลายร้อยงานต่อเดือน ถึงจะได้ประกันอุบัติเหตุ แต่ไรเดอร์เริ่มวิ่งงานแรกก็เสี่ยงแล้ว ดังนั้นควรมีประกันอุบัติเหตุตั้งแต่ต้น ทุกคนควรได้สวัสดิการขั้นต่ำเท่ากัน วิ่งวันละรอบก็ต้องได้ และควรได้มากขึ้นตามชั่วโมงการทำงาน
ทุกวันนี้ไรเดอร์คิดว่างานอิสระจะทำให้สร้างชีวิตได้ แต่จริงๆ งานอิสระที่ถูกกดค่ารอบ ไม่มีใครโอเคหรอกครับ
นิยามส่งผลยังไงในแง่กฎหมายด้วย
ถ้าคุณเป็นลูกจ้าง คุณต้องเข้าประกันสังคมมาตรา 33 บริษัทต้องส่งเงินประกันสังคม ต้องมีวันหยุด มีชุดฟอร์ม กล่อง ต้องให้เลย ถ้าไรเดอร์อยู่ในกฎหมายแรงงาน บริษัทจ่ายบานเลย
แต่ฟรีแลนซ์ที่ทำอาชีพอื่นๆ ก็ไม่ได้สวัสดิการนะ
ฟรีแลนซ์ไม่ต้องใส่ชุดนายจ้างทำงานใช่ไหม แต่ไรเดอร์ต้องใส่ชุดยูนิฟอร์มทำงาน ต้องเสียเงินเอง มีการควบคุมพฤติกรรมบางอย่าง แต่งตัวยังไง กล่องแบบไหน สมมุติส่งอาหารเสร็จต้องถ่ายอาหารส่งให้ทุกรอบ มันคือการควบคุมแล้ว มันจะอิสระแบบพาร์ตเนอร์ได้ยังไง แบบนี้จ้างไรเดอร์เป็นลูกจ้างดีกว่า
คุณมองว่าทุกวันนี้ไรเดอร์มีจำนวนเยอะเกินไปไหม
เยอะเกินไปครับ ความผิดไม่ใช่เพราะไรเดอร์สมัครนะ แต่บริษัทควรกำหนดเงื่อนไขในการรับคน แพลตฟอร์มรับคนเยอะไว้ก่อน เพื่อรองรับดีมานด์ที่ไม่แน่นอนในแต่ละวัน คุณเลยโอเวอร์ซัพพลายไว้ก่อน บางบริษัทโฆษณาอีกว่า คนเกษียณก็ทำได้ เราอยู่ในประเทศที่ขูดรีดคนแก่อีก แต่พอเขาขับแล้วเกิดอุบัติเหตุ คุณปัดความรับผิดชอบเลยนะ
ไรเดอร์ทำงานภายใต้ภาพลักษณ์แพลตฟอร์ม ใส่ชุดฟอร์ม หมวก กระเป๋าของแบรนด์ บริษัทได้โฆษณาฟรีๆ สมมุติคุณจ้างไรเดอร์แสนคน คุณก็ควรมีศักยภาพในการดูแลแสนคนนั้น แต่กลายเป็นว่า การสร้างภาพลักษณ์และผลกำไรจากแสนคน แต่คุณกลับมาคัดกรองการจ่าย ทั้งที่ทุกคนก็ทำงานให้คุณ มันยุติธรรมกับไรเดอร์ไหม ถ้าคุณรับคนแสนคนมาทำงาน แต่ไม่มีศักยภาพในการดูแล มันเป็นตัวชี้วัดว่าคุณไม่มีศักยภาพในการทำธุรกิจ
ไรเดอร์ในบ้านเราไม่มีหลักประกันในชีวิต ตายแล้วบริษัทไม่รับผิดชอบ มีเคสหนึ่งที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดอุบัติเหตุในเวลางาน โดนหกล้อเบียด เสียขาขวาไปข้างหนึ่ง รถใหญ่มาไกล่เกลี่ย ชดเชยให้เกือบล้าน นั่นเป็นส่วนของรถใหญ่ แต่บริษัทแอปฯ ให้เงิน 15,000 บาท KFC หนึ่งกล่อง คุณควรรับผิดชอบเขามากกว่านี้ เขาเสียขาในขณะที่เขาทำงาน เราอยากให้เรียกร้องมากกว่านี้นะ แต่พอเขาไม่ทำ คงไม่อยากมีเรื่อง เราก็ต้องเคารพความคิดของเขา
เคยเอาทั้งหมดนี้ไปคุยกับตัวแทนจากแพลตฟอร์มบ้างไหม
เขามักปฏิเสธที่จะเจอ ไรเดอร์รวมตัวกันหลายกลุ่ม บางกลุ่มเคยรวมตัวไปเจอ ส.ส. เจอคณะกรรมาธิการแรงงาน มีแบรนด์หนึ่งส่งตัวแทนมา แต่ไม่ใช่คนมีอำนาจตัดสินใจ แต่ผมไม่ได้ไปยุ่มย่าม เข้าร่วมในฐานะแอดมินเพจและไรเดอร์คนหนึ่ง มีหน้าที่ทำข่าวประชาสัมพันธ์ ไรเดอร์คนอื่นก็พูดคุยไป สะท้อนปัญหาของตัวเองไป
ไรเดอร์ออกมาเรียกร้องหลายครั้ง เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างไหม
เวลามีการเรียกร้องกับแพลตฟอร์มไหนก็ตาม เขาจะให้ตัวแทนไรเดอร์ขึ้นไปคุย ไรเดอร์ 2-3 คนก็ขึ้นไปคุยข้างบน พอลงมา แกนนำเหล่านั้นก็ค่อยๆ ลดบทบาท หรือขอยุติบทบาท ไม่รู้ว่าเขาไปคุยอะไร ถ้ากระบวนการนี้จะแฟร์ คุณควรคุยต่อหน้าสาธารณะ มันเป็นเล่ห์กลของบริษัท เรียกแกนนำขึ้นไป สร้างความเคลือบแคลงให้กับสมาชิกคนอื่น
บริษัทมีแพตเทิร์นในการจัดการอยู่แล้ว มีการประท้วง เขาก็บอกว่า โอเค เรารับฟัง คนของบริษัทมารับหนังสือไป แต่เป็นคนที่ไม่ได้มีอำนาจ นัดวันกัน ขอสัก 1 สัปดาห์จะให้คำตอบ พอกระแสเริ่มซา ถึงวันนัดก็ประกาศว่า เราไม่สามารถทำให้ได้ แต่กระแสซาไปแล้ว คนที่รวมตัวก็ถอดใจยอม ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป
อีกแบบคือบริษัทจะประเมินเรา ถ้าวันนั้นเราแข็ง คนมารวมตัวกันมาก เมื่อ 2 ปีที่แล้วคนรวมตัวประท้วงแอปฯ หนึ่ง คนเข้าร่วมหลายร้อยคน อยู่จนถึงสองทุ่มเลย สุดท้ายบริษัทต้องปรับค่ารอบให้ทุกจังหวัด เอาให้คนในวันนั้นสลายตัวไปก่อน หลังจากนั้นอาทิตย์นึงก็ปรับลงเงียบๆ แกนนำบางคนก็แถลงยุติบทบาทการเป็นแกนนำ
กลุ่มที่รวมตัวก็มีหลายกลุ่ม ความเห็นก็หลากหลาย
มีหลายกลุ่มเลย ผมมองว่าบางการเคลื่อนไหวก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะเขาไม่ได้เรียกร้องให้ไรเดอร์ได้สวัสดิการตามกฎหมาย บางคนไว้ใจรัฐไม่ไว้ทุน บางคนไว้ใจทุนไม่ไว้ใจรัฐ ส่วนผมไม่ไว้ใจทั้งทุนและรัฐ (หัวเราะ) เพราะในมุมมองของผม เขาคือพวกเดียวกัน เลยเรียกร้องกับรัฐและทุน นั่นคือทุนต้องดูแลคนงาน และรัฐต้องออกกฎหมายมาควบคุมแพลตฟอร์มให้ดูแลไรเดอร์ เพราะถ้าไม่ออกเป็นกฎหมาย วันนี้ทุนยอมให้ แต่วันข้างหน้าเขาก็เอาคืนได้
ทุกวันนี้เห็นไรเดอร์เต็มท้องถนนเลย รายได้เป็นยังไง
เมื่อก่อนผมเคยวิ่ง 91 บาท ระยะทางไม่เกิน 3 กิโล ทุกวันนี้เหลือ 30 กว่าบาทไม่เกิน 3 กิโล บางแบรนด์ตั้งราคาในบางจังหวัดแค่ 15-17 บาทด้วยซ้ำไป ยังไม่รวมตีรถเปล่าไปรับระยะทางไม่เกิน 8 กิโล รายได้ต่อเดือนได้สัก 15,000 บาทก็ยากแล้ว น้ำมันขึ้นราคาอีก เจอค่าสึกหรอรถ ไรเดอร์เก่าๆ เลยตัดสินใจเลิกไปโดยปริยาย บริษัทไม่ค่อยอยากรักษาคนเก่าไว้ คงมองว่าปกครองยาก ต่างจากคนใหม่ที่ปกครองง่าย เขาเลยเอาน้ำดีไล่น้ำเสีย คนใหม่เชื่องๆ มาทำงาน คนเก่าไม่รับงานก็ไม่ต้องทำ
ไม่ใช่แค่ไรเดอร์นะ ร้านค้าก็ถูกกดด้วย คิด GP 30-35% ไรเดอร์โดนหัก 18% บางกรณีลูกค้าก็โดนกด ถ้าฝนตก แพลตฟอร์มจะขึ้นเลยว่า ถ้าคุณจ่ายเพิ่มเดี๋ยวจะหาไรเดอร์ให้เร็วขึ้น จริงๆ ไม่มีอะไรหรอก มีไรเดอร์อยู่แล้ว เป็นแค่ข้ออ้างในการเก็บเงินเพิ่มเฉยๆ บางคนรีบจริงๆ อาจยอมจ่าย แต่เงินนั้นไม่ได้เข้าไรเดอร์ มันเข้าแพลตฟอร์ม การให้ทิปในระบบก็เช่นกัน เงินไม่ได้ถึงมือพวกเรา ถ้าอยากให้ทิป คุณให้กับมือเลยดีกว่า
ทุกวันนี้มีเรื่องงานพ่วงอีก ถ้าไปทางเดียวกัน ลูกค้าสั่งกาแฟเย็น ผมดันได้รับงานพ่วงเข้ามา เป็นแกงร้อนๆ เอาไปด้วยกัน กาแฟเย็นก็ละลาย ทำงานมากขึ้นได้ค่าแรงน้อยลง ปฏิเสธได้ แต่มีผลต่อการรับงานครั้งต่อไป เดี๋ยวจะให้เห็นงานน้อยลง บางแอปฯ ต้องแย่งกันกด บางแอปฯ เด้งเข้าหาเครื่องนั้นเลย
แล้วค่ารอบคือเท่าไรถึงโอเค
คงไม่ต้องถึงขนาดเท่ากับช่วงแรก แต่ต้องมีราคากลางที่อยู่ได้ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งบริษัทและไรเดอร์ เรื่องนี้ต้องสำรวจจากไรเดอร์ทั่วประเทศ ฟังเสียงสะท้อนว่าขั้นต่ำที่อยู่ได้คือเท่าไร แต่สิ่งสำคัญคือทุกพื้นที่ต้องได้ค่ารอบเท่ากัน
มีไรเดอร์คนไหนที่โอเคไหม ทำงานโดยไม่ได้มีปัญหากับแพลตฟอร์มเลย
ผมมองว่าส่วนใหญ่คือหน้าม้าของบริษัท ถ้าคนนั้นรายได้ดีจริง ทำไมคนอื่นถึงไม่ได้เหมือนกันล่ะ คุณลองลองสุ่มสัมภาษณ์ไรเดอร์ทั่วไปเลย ทุกคนเจอปัญหาแบบเดียวกัน ส่วนคนที่รายได้ดี บริษัทจะทำให้คนเหล่านี้มีรายได้ดีเพื่อกลายเป็นตัวอย่างให้ไรเดอร์หน้าใหม่สนใจ อยากทำให้ได้บ้าง เคยมีข่าวว่าไรเดอร์บางคนวิ่ง 15 วันได้ 50,000 บาท ตอนนี้คนนั้นหายไปเลย เขาคือตุ๊กตาของบริษัทนั่นแหละ
ไม่ใช่ว่าเขาขับเก่งเหรอ
ผมก็ขับเก่ง (หัวเราะ) เอาง่ายๆ เลย ผมวิ่ง ID เดียว ไม่มีทางที่จะมีรายได้ 50,000 บาทใน 15 วัน ต่อให้วิ่งทั้งวันทั้งคืนก็ไม่มีทาง เว้นแต่มีกลไกบางอย่างทำให้เขาเห็นงานมากกว่า ผมเคยได้ยินว่า ถ้าคุณรู้จักกับคนใน เขาสามารถป้อนงานให้ได้ด้วยซ้ำ
อัลกอริทึมของแอปฯ ก็มีปัญหาเหรอ
แพลตฟอร์มต้องเปิดเผยว่าจ่ายงานไรเดอร์ยังไง ทุกวันนี้ปิดบังเป็นความลับ ไม่มีใครรู้ว่าไรเดอร์ถูกจ่ายงานยังไง ผมเคยเอามือถือ 2 เครื่องมาเทียบกัน เครื่องหนึ่งงานเข้าเต็มเลย อีกเครื่องไม่เห็นงานเลย คนนั้นอาจบัญชีใหม่กว่า การให้คะแนนจากลูกค้า การโดนคอมเพลน ลูกค้าบางคนสั่งซื้อน้ำแข็งกลางทาง พอเราไม่ทำให้ ก็โดนคอมเพลนไรเดอร์ เราทำงานตามปกติก็โดนกลั่นแกล้งได้ แพลตฟอร์มจะฟังลูกค้า ไม่ได้ฟังไรเดอร์ มีอะไรก็แบนไรเดอร์ก่อนเลย
เราสามารถมีงานเยอะโดยไม่ต้องรู้จักคนในได้ไหม
ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับไรเดอร์ใหม่ ทำได้ไม่กี่เดือน อัลกอริทึมป้อนงานให้ตลอด เขาก็รู้สึกว่าตัวเองมีรายได้ เกิดการบอกต่อ ดึงดูดไรเดอร์ใหม่ๆ เข้ามา แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขากลายเป็นคนเก่าแล้ว ไม่ค่อยเห็นงานแล้ว บริษัทต้องการเอาน้ำดีไล่น้ำเสีย วนคนใหม่เข้าไปเรื่อยๆ ตอนนี้ยังมีคนไม่รู้อีกเยอะ
ทุกวันนี้คนตกงานกันเยอะ อาชีพไรเดอร์สมัครง่าย แต่คุณมาบอกว่ากดขี่เอาเปรียบอีก เราควรมองอาชีพนี้ยังไง
ควรมองเป็นอาชีพที่ต้องมีรายได้และสวัสดิการที่ดี ทุกวันนี้มันบิดเบือนทุกอย่าง ผมไม่ได้ห้ามสมัครนะ สมัครได้ ผมไม่ได้มีปัญหากับคนสมัคร บริษัทรับไรเดอร์แสนคนก็ได้ ไม่มีปัญหา แต่คุณควรดูแลคนเหล่านั้นให้ดีด้วย พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนสั่งอาหารผ่านเดลิเวอรี่กันเยอะมาก อาชีพนี้ควรเป็นอาชีพที่ได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ ในกฎหมายแรงงาน
ปัญหาต่างๆ ที่คุยกันมา คุณพูดถึงทุกแอปเลยใช่ไหม ไม่ได้เจาะจงใคร
ผมพูดถึงทุกแอปฯ เรียกร้องโดยภาพรวมเลย ไม่มีสักเจ้าที่ไม่เอาเปรียบเลย อยู่ที่ว่าใครแย่มากหรือแย่น้อย
ถ้าคนทั่วไปไม่ชอบไรเดอร์ที่ออกมาประท้วง มองว่าเป็นความวุ่นวาย คุณอยากบอกอะไร
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กฎหมายต่างๆ เช่น วันลา สิทธิการลาคลอด หรืออะไรต่างๆ มาจากการประท้วงทั้งนั้น ไม่มีใครที่อยู่ๆ อยากประท้วงหรอก เขาต้องถูกกดขี่จนไม่ไหวแล้ว
การประท้วงเป็นแค่ปรากฏการณ์ เบื้องลึกลงไปมีปัญหาหลายอย่างที่เราไม่รู้ การประท้วงไม่ใช่ความรุนแรง เป็นสิ่งที่ทำได้ในระบอบประชาธิปไตย
การเคลื่อนไหวของไรเดอร์หลังจากนี้เป็นยังไง
ต้องตั้งเป็นองค์กร เป็นสมาคมตามภาค มีการยื่นจดทะเบียนไปแล้ว เป็นสมาคมไรเดอร์ภาคต่างๆ แต่ผมไม่ได้เกี่ยวข้องนะ เป็นแค่คนทำข่าวและให้ความรู้ สุดท้ายจะรวมเป็นสมาพันธ์ หาสมาชิกเพิ่ม จำนวนคนมีผลต่อการเรียกร้อง เวลาเรียกร้องกับภาครัฐ การรวมกลุ่มเป็นองค์กรจะทำได้ง่ายขึ้น ภาครัฐจะฟังองค์กรที่มีกฎหมายรองรับ มากกว่าไปเรียกร้องเปล่าๆ
สิ่งที่เราเรียกร้องคือ ค่ารอบที่เหมาะสม กฎหมายรองรับ วันหยุด เงินกองทุนทดแทน สวัสดิการเหมือนที่พนักงานประจำควรได้ ถ้าเรียกร้องถึงตอนนั้น เราก็ต้องมีองค์กรบาลานซ์อำนาจ เพราะทุนเอาคืนได้ทุกเมื่อ ถ้าเราอ่อนแอ ทุนก็มาทวงคืน สวัสดิการบางอย่างที่เคยได้ก็ไม่ได้ เราต้องหาสมาชิกเพิ่มแล้วสร้างความรับรู้ให้สมาชิก
เวลาเราสู้กับทุน มันคือการสู้ตลอดชีวิต การขูดรีดเพื่อสร้างผลกำไร ก็อยู่ในเงื่อนไขที่เขาสร้างผลกำไร การขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน ก็คือเงื่อนไขในการสร้างผลกำไรของทุน เราต้องบังคับให้เขาทำ การเรียกร้องไม่ได้เกิดจากความเมตตา เกิดจากการต่อสู้ทั้งนั้น ผมไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นยังไง แต่ตัวเองมีความเชื่ออยู่ตลอดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้