วันนี้ (6 พฤษภาคม) ผู้คนหลายล้านคนทั้งจากสหราชอาณาจักรและทั่วโลก กำลังเตรียมเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งเป็นพิธีแห่งสัญลักษณ์ที่ผสมผสานพิธีทางศาสนาและพิธีการที่มีขนบธรรมเนียม ย้อนหลังไปมากกว่า 1,000 ปี
ขอเล่าก่อนว่า ชาร์ลส์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและอีก 14 อาณาจักรในเดือนกันยายนปี 2022 ที่ผ่านมา หลังจากพระมารดาอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 40 ที่จัดขึ้นที่พระอารามหลวงดังกล่าวนับตั้งแต่ปี 1066
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เกิดขึ้นในรอบ 70 ปี จะเริ่มต้นในเวลา 10.00 น. (หรือ 16.00 น. ตามเวลาบ้านเรา) พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (King Charles III) และพระราชินีมเหสี (Queen Consort) จะเสด็จด้วยรถม้าไปยังเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ พระอารามหลวงสำคัญแห่งกรุงลอนดอน โดยแขกที่ถูกรับเชิญมีจำนวนทั้งหมด 2,200 คน ทั้งประมุขจากประเทศต่างๆ จำนวน 100 คน รวมทั้งในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี
ไม่เพียงเท่านี้ บุคคลสำคัญมากมายทั่วโลกก็ต่างมาร่วมงานนี้เช่นกัน ได้แก่ เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ (Prince Harry, Duke of Sussex), จัสติน เวลบี (Justin Welby) อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี, จิล ไบเดน (Jill Biden) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ, แอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส
ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (5 พฤษภาคม) หลังพระอาทิตย์ตกดิน เต็นท์หลายร้อยหลังได้ปรากฏขึ้นตามเส้นทางพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งผู้คนต่างมารวมตัวกันโดยหวังว่าจะได้เห็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ
ทั้งนี้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ จะเน้นความหลากหลายและการรวมเป็นหนึ่ง โดยจะมีองค์ประกอบและความเชื่อมากกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งก่อนๆ อาทิ มีผู้แทนชาวยิว มุสลิม พุทธ และซิกข์
ริชี ซูแน็ก (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นชาวฮินดู ก็ได้รับหน้าที่อ่านพระคัมภีร์ไบเบิล และดนตรีจะถูกขับร้องเป็นภาษาเวลส์ สกอตแลนด์ และไอริช นอกจากนี้ จะมีบาทหลวงสตรีเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ 1,000 ปีที่ผ่านมา
จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก?
โดยปกติแล้วพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่ การถวายความจงรักภักดี, กล่าวคำปฏิญญา, การเจิม, การเครื่องราชกกุธภัณฑ์, การประทับบนราชบัลลังก์ และพิธีสำหรับราชินี ซึ่งพิธีทั้งหมดจะกินเวลาทั้งสิ้น 2 ชั่วโมง
และช่วงสุดท้ายของพิธีจะมาถึงก็ต่อเมื่อมงกุฎของเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St Edward’s Crown) วางอยู่บนพระเศียรของกษัตริย์ หลังจากนั้นจะมีเสียงระฆังจากพระอารามหลวงดังขึ้น พร้อมทั้งเสียงปืนจากขบวนพาเหรดยามม้าที่อยู่ใกล้เคียง นอกจากนี้ คามิลลาจะสวมมงกุฎคู่กับชาร์ลส์ และเธอจะได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ราชินีคามิลลา’ อย่างเป็นทางการ
หลังพิธีจบลงในเวลาประมาณ 13:00 น. (หรือ 1 ทุ่มตามเวลาประเทศไทย) กษัตริย์ชาร์ลส์และพระราชินีคามิลลาจะเสด็จโดยรถม้า (Gold State Coach) กลับไปยังพระราชวังบักกิงแฮม
ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกดังกล่าว ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มต่อต้านสถาบันกษัตริย์จำนวนมาก รวมทั้งกลุ่มรณรงค์สาธารณรัฐยังได้ประกาศความตั้งใจที่จะจัดการประท้วงในเส้นทางของขบวน อย่างไรก็ตาม จะมีการปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยครั้งใหญ่ โดยตำรวจนครบาลได้วางกำลังเจ้าหน้าที่ มากกว่า 11,500 นาย
นอกจากนี้ รายชื่อแขกที่ถูกรับเชิญบางคน ยังถูกผู้คนวิจารณ์อย่างหนัก เช่น ฮัน เจิ้ง (Han Zheng) รองประธานาธิบดีจีน ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้นำในการปราบปรามเสรีภาพของพลเมืองฮ่องกง
อย่างไรก็ดี พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ จะถูกถ่ายทอดสดให้ผู้คนทั่วโลกได้รับชม ทุกคนจะได้เห็นขบวนแห่ สัญลักษณ์ทางศาสนา และประเพณีโบราณ ซึ่งเป็นพิธีที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต
อ้างอิงจาก