พรรคใดควรเป็นเจ้าของตำแหน่ง ‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’ คือหนึ่งในประเด็นที่คนถกกันกว้างขวาง บ้างก็ว่าพรรคนั้นควรได้ บ้างก็ว่าพรรคนี้ควรเป็น …เชื่อว่าหลายคนอาจสงสัยว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ สำคัญอย่างไร มีอำนาจอะไรบ้าง และทำไมใครต่อใครถึงเชียร์ให้บางพรรคครองตำแหน่งนี้
ประธานสภาฯ ไม่ใช่แค่ผู้คุมการประชุม และไม่ใช่แค่ผู้ขานคะแนนการลงมติของ ส.ส. อย่างที่เราอาจคุ้นชิน ตำแหน่งนี้คือหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ดำเนินกิจการของรัฐสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม และยังมีอำนาจหน้าที่ต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายและข้อบังคับ
ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ระบุอำนาจหน้าที่ของประธานสภาฯ ไว้ ดังนี้
- เป็นประธานที่ประชุมรัฐสภา และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
- กำหนดการประชุมรัฐสภา
- ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา
- รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภา ตลอดจนบริเวณรัฐสภา
- เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก
- แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินการใดๆ
- และมีอำนาจหน้าที่อื่น ตามกฎหมายบัญญัติ ที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
ทั้งนี้ ประธานสภาฯ ถือ 2 หมวก รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรรับบทเป็น ‘ประธานรัฐสภา’ พร้อมระบุอำนาจหน้าที่ไว้ด้วย เช่น เป็นผู้กราบบังคมทูลตำแหน่งนายกฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เช่น แต่งตั้ง แต่งตั้งประธานองคมนตรี แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นต้น
หากพูดให้เข้าใจง่าย ประธานสภาฯ เป็นเหมือนคนคุมเกมที่สามารถนัดประชุม สั่งปิด–พักประชุม และมีอำนาจบรรจุวาระ–จัดลำดับวาระการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติได้ ที่แน่นอนว่าย่อมมีผลกับอนาคตของประเทศ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น ร่างแก้ไข ม.112 โดยคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) เมื่อปี 2556 เคยถูกประธานรัฐสภามีคำสั่งไม่รับร่างกฎหมายไว้พิจารณา เพราะเห็นว่าไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ
หรือร่างแก้ไข ม.112 ฉบับพรรคก้าวไกล ก็เคยถูกแย้งโดยประธานสภาว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ได้นำเข้าบรรจุสู่ระเบียบวาระการประชุม ง่ายๆ ก็คือ กฎหมายนั้นๆ ก็ไม่ถูกนำมาถกกันในสภาสักที จนหมดวาระไปแล้ว
ไม่จำเป็นต้องกฎหมายเรื่อง ม.112 ก็ได้ นโยบายหรือกฎหมายสำคัญใดก็ตามจะผ่านหรือไม่ผ่านเพื่อนำไปบังคับใช้ ก็จำเป็นต้องผ่านการพูดคุยกันในที่ประชุมรัฐสภา และคนที่กำหนดว่าจะเอามาคุยเมื่อไหร่ บรรจุเข้าวาระตอนไหน จะถ่วงเวลาหรือไม่ ก็คือประธานสภาฯ นี่แหละ
ด้วยความสำคัญเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการถกเถียงว่า พรรคไหนกันนะ ควรจะเป็นเจ้าของเก้าอี้ประธานสภา
อ้างอิงจาก
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=72753&filename=index
https://voicetv.co.th/read/cERwzz3aV