นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนก็ร่วมเอาใจช่วย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 มิถุนายน) มีรายงานว่าเรือวิจัย (research vessel) โพลาร์พริซ์ (Polar Prince) ขาดการติดต่อกับ ‘ไททัน’ (Titan) ยานดำน้ำ (submersible) ที่พานักท่องเที่ยวเข้าไปสำรวจซากเรือไททานิคที่จมไป
โดยจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่ายานดำน้ำนี้อยู่ตรงไหนของมหาสมุทร และไม่สามารถติดต่อได้ ทั้งยังมีประเด็นที่น่ากังวลอีกอย่างก็คือ ออกซิเจนฉุกเฉินภายในเรือก็อยู่ได้เพียง 96 ชั่วโมงนับจากที่เริ่มลงสู่มหาสมุทรเท่านั้น
ล่าสุด หลายๆ คนก็เริ่มมีความหวังมากขึ้น เมื่อมีรายงานว่าหลังจากที่เจ้าหน้าที่ส่งอุปกรณ์ค้นหาตำแหน่งใต้น้ำ ลงไป ก้ได้ยินเสียงดังขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่แน่ชัดว่าเสียงดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อไร และยังไม่สามารถระบุที่มาของเสียงได้
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเรือไททัน ในวันนี้ (21 มิถุนายน) The MATTER จึงอยากจะสรุปเรื่องราวให้ทุกคนฟัง
1. เรือไททันคืออะไร?
หลังจากที่เรือไททานิคจมลงสู่มหาสมุทรเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1912 และซากเรือดังกล่าวก็ยังคงจมอยู่ใต้ทะเลที่พื้นมหาสมุทรแอตแลนติกในความลึก 3,800 เมตร ก็มีการสำรวจซากของไททานิคเรื่อยมา ซึ่งบริษัท โอเชียนเกต เอ็กซ์เพดิชันส์ (OceanGate Expeditions) บริษัทเอกชนเจ้าของเรือไททัน ที่จัดบริการนำเที่ยวก็เป็นหนึ่งในนั้น
ค่าใช้จ่ายสำหรับทริปดังกล่าวก็คือการนั่งเรือ 8 วันในราคา 250,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 8.7 ล้านบาท) ซึ่งการลงไปในยานดำน้ำเพื่อชมซากเรือไททานิคก็เป็นหนึ่งในจุดหมายของภารกิจดังกล่าว โดยคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงในการสำรวจซากเรือไททานิค แล้วจึงนั่งเรือกลับที่หมาย
จุดที่ดำลงไปนั้น จะอยู่ใต้ทะเลลึก 3,800 เมตร ห่างจากชายฝั่งรัฐนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดา ราว 600 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่เรือไททานิคล่ม และจมลงสู่ใต้ทะเล
เรือไททันนี้สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 5 คน ปกติจะประกอบด้วย ผู้บังคับยานดำน้ำ 1 คน และผู้ร่วมสำรวจอีก 4 คน การตกแต่งภายในก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย มีห้องสุขาขนาดเล็ก 1 ห้องไม่มีที่นั่ง ทั้งยังถูกล็อกจากด้านนอก นั่นจึงหมายความว่า คนข้างในไม่สามารถเปิดออกได้
ยานดำน้ำนี้ สร้างจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ มีน้ำหนัก 10,432 กิโลกรัม สามารถดำลงใต้ทะเลลึกสุด 4,000 เมตร
ไททัน ได้เริ่มภารกิจสำรวจวันอาทิตย์ ซึ่งก็มีรายงานว่าจะมีอากาศสำหรับการดำรงชีพของผู้โดยสาร 5 คน นานสุด 96 ชั่วโมง
อีกทั้ง ก่อนที่จะเดินทาง ผู้โดยสารทุกคนก็จะต้องลงนามในเอกสารรับทราบว่า เรือยังไม่ได้รับใบอนุญาตและอาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตได้
2. เกิดอะไรขึ้นกับเรือไททัน?
ย้อนกลับไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ฮามิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) หนึ่งในผู้โดยสารที่ของยานดำน้ำไททันโพสต์ข้อความว่า “เนื่องจากฤดูหนาวที่เลวร้ายที่สุดในนิวฟันด์แลนด์ในรอบ 40 ปี ภารกิจนี้น่าจะเป็นภารกิจแรกและภารกิจเดียวของปี 2023 ที่ไททันจะออกไปสำรวจไททานิค แต่สภาพอากาศเพิ่งดีขึ้นและเราจะลองดำลงไปในวันพรุ่งนี้”
หลังจากที่เรือไททันเริ่มออกเดินทางเพื่อสำรวจไททานิคในวันอาทิตย์ช่วงประมาณ 8.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เพียงประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที หลังจากนั้น ลูกเรือของเรือโพลาร์พรินซ์ก็ขาดการติดต่อกับเรือไททัน ซึ่งคาดการณ์ว่าในช่วงเวลาที่เรือไททันขาดการติดต่อไป น่าจะอยู่ห่างจากแหลมเคปคอดของสหรัฐฯ ประมาณ 1,450 กิโลเมตร
เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทางหน่วยยามฝั่งสหรัฐก็ให้เรือโพลาร์พริ้นซ์และเรือ 106 Rescue Wing เพื่อค้นหาบนพื้นผิวน้ำในกรณีที่หากเรือไททันลอยขึ้นมาแล้วแต่ยังไม่สามารถติดต่อกับเรือวิจัยได้ ทั้งยังให้ P8 Poseidon aircraft ทำการค้นหาทางอากาศผ่านการใช้เรดาร์ และยังมีการค้นหาให้ US Navy Curv-21 ยานดำน้ำไร้คนขับที่สามารถลงไปได้ลึกถึง 4,000 เมตรไปค้นหา รวมถึงการใช้ทุ่นโซนาร์ในการค้นหาใต้น้ำ
ต่อมา ในวันอังคาร Canadian Aircraft P3 Aurora และ US Air Force C-130 ก็ร่วมค้นหา และได้ขยายการค้นหาออกไปถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร รวมไปถึงหน่วยงานจากที่อื่นๆ ก็ร่วมให้การช่วยเหลือในการค้นหาด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี วันที่ 20 มิถุนายนตามเวลาท้องถิ่น ก็มีรายงานว่าทีมค้นหาได้ยินเสียงทุบดังขึ้นทุก 30 นาที จากนั้น 4 ชั่วโมงให้หลัง เจ้าหน้าที่ส่งอุปกรณ์ค้นหาตำแหน่งใต้น้ำด้วยคลื่นเสียงโซนาร์ ลงไปค้นหาเพิ่มเติมและยังคงได้ยินเสียงดังอยู่ แต่ไม่แน่ชัดว่าได้ยินเสียงเมื่อไร เสียงดังขึ้นเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานเท่าใด และไม่สามารถระบุที่มาของเสียงได้
3. ใครอยู่บนเรือบ้าง
ผู้ที่อยู่บนยานดำน้ำไททันนี้ จากรายงานล่าสุดของ BBC ระบุว่ามี 5 คน ประกอบไปด้วย
– สต็อคตัน รัช (Stockton Rush) อายุ 61 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท บริษัท โอเชียนเกต เอ็กส์เพดิชัน เจ้าของยานดำน้ำ และเป็นผู้ให้บริการนำเที่ยวชมซากไททานิค
– ฮามิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) อายุ 58 ปี นักธุรกิจพันล้านและนักสำรวจชาวอังกฤษ เขาเป็นประธานบริษัทด้านอากาศยาน แอคชัน เอวิเอชัน และฮาร์ดิงก็ประกาศตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนเมื่อปีที่แล้ว ว่าเขาจะเข้าร่วมทริปในครั้งนี้ อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่า ลูกเรือที่ไปกับเขานั้นรวมถึง ‘นักสำรวจระดับตำนาน’ อีก 2-3 คน ซึ่งบางคนนั้นเคยดำน้ำสำรวจ Titanic มาแล้วกว่า 30 ครั้งตั้งแต่ปี 1980
– ชาห์ซาดา ดาวุด (Shahzada Dawood) อายุ 48 ปี นักธุรกิจชาวปากีสถาน
– สุเลมาน ดาวุด (Suleman Dawood) อายุ 19 ปี บุตรชายของชาห์ซาดา
– พอล อองรี นาร์จีโอเลต (Paul-Henri Nargeolet) นักสำรวจชาวฝรั่งเศสวัย 77 ปี เชื่อว่าอยู่ในยานดำน้ำด้วย อ้างอิงจากโพสต์เฟซบุ๊กของ ฮาร์ดิง ก่อนที่จะเริ่มการดำน้ำ
4. อุปสรรคในการค้นหา
ในภารกิจการค้นหานี้ มีอุปสรรคในเรื่องของสภาพอากาศที่มีหมอก ทะเลมีคลื่นสูง 0.9 – 1.8 เมตร และยังมีการคาดการณ์อีกว่า ออกซิเจนภายในยานดำน้ำจะหมดในวันพฤหัสช่วงเช้า ตามเวลาท้องถิ่น
ด้วยระบบของยานดำน้ำนี้ มีการติดตั้งระบบนำทางแบบตรวจจับคลื่นโซนาร์ รวมทั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพความละเอียดสูงทั้งภายในและภายนอก มีเซ็นเซอร์จะตรวจวัดแรงดันในเรือและแจ้งเตือนความผิดปกติ มีอุปกรณ์ยังชีพสำหรับลูกเรือ 5 คน ไว้ใช้กรณีฉุกเฉินเป็นเวลา 4 วัน แต่เมื่อดำดิ่งลงใต้น้ำจะไม่มีระบบ GPS มีเพียงระบบสื่อสารผ่านข้อความที่ให้ลูกเรือรับคำสั่งจากทีมที่อยู่บนเรือใหญ่บนผิวน้ำได้ และการสื่อสารก็ขาดหายไปเรียบร้อยตั้งแต่ไม่ถึง 2 ชั่วโมงแรกของภารกิจชมซากเรือไททานิค
อีกทั้ง เมื่อค้นหาเรือพบแล้ว การเข้าช่วยเหลือก็ยังเป็นนับอีกความท้าทาย เพราะยังต้องดูตำแหน่งและความลึกที่พบ เพื่อพิจารณาวิธีการช่วยเหลืออีกเช่นกัน
ในประเด็นด้านความปลอดภัย เดวิด เพิจ (David Pogue) ผู้สื่อข่าวสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถานีโทรทัศน์ในสหรัฐฯ ซึ่งเคยเดินทางไปกับเรือไททันเพื่อลงไปชมซากเรือไททานิคเมื่อปีที่แล้ว มองว่าอุปกรณ์บางส่วนทำขึ้นอย่างลวกๆ โดยเขาต้องเซ็นชื่อในเอกสารที่ระบุว่า เรือดำน้ำยังไม่ผ่านการรับรองหรือผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ สเตฟาน บี. วิลเลียมส์ (Stefan B. Williams) ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ยังตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องนี้ไว้อีกว่า “สถานการณ์ที่แย่ที่สุดคือยานดำน้ำจะประสบกับอุปสรรคในเรื่องความดัน แม้ว่ายานดำน้ำจะถูกสร้างขึ้นให้ทนทานต่อแรงดันใต้ท้องทะเลลึกที่รุนแรง แต่ข้อบกพร่องด้านรูปร่างหรือโครงสร้างของมันอาจส่งผลต่อความสมบูรณ์ของมันได้ ซึ่งในกรณีนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะระเบิด”
แต่ประเด็นใหญ่ที่สุดคือตอนนี้ยานดำน้ำอยู่ที่ไหน? อยู่ด้านล่างหรือลอยอยู่กลางน้ำหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่ทางผู้ค้นหายังไม่สามารถทราบได้ แม้จะเริ่มได้ยินเสียงทุบดังขึ้นแล้วก็ตาม
อ้างอิงจาก