ทุกวันนี้เวลามีเทรนด์อะไรสักอย่างเกี่ยวข้องกับต่างวัฒนธรรมผ่านตาเราเข้ามา บ่อยครั้งอาการเกร็งตัวอย่างบอกไม่ถูกมักผุดขึ้นข้างในเรา
ความรู้สึกนั่งไม่ติดและความรู้สึกไม่สบายตัวในการขยับตัว หรือรีแอ็กกับการเห็นวัฒนธรรมอันหลากหลายตรงหน้านี้ เป็นปฏิกิริยาที่น่าแปลกใจในโลกที่เรามองว่า กำลัง ‘ก้าวหน้า’ ‘หลากหลาย’ ‘เปิดกว้าง’ ‘ยอมรับ’ ฯลฯ มากขึ้นทุกวินาที การพบเห็นศิลปะและวัฒนธรรมที่มักไม่เป็นที่สนใจมาก่อนนี้ ควรนำมาซึ่งความรู้สึกของการเฉลิมฉลองหรือไม่ แต่ทำไมบ่อยครั้งความรู้สึกที่ตามมากลับตรงกันข้าม?
ในเวลาราวๆ 4-5 ปีที่ คำว่าการฉกฉวยทางวัฒนธรรม (Cultural Appropriation-CA) โผล่เข้ามาอยู่ในจิตสำนึกสาธารณะของเรา วิธีที่เรามองวัฒนธรรม และความเป็นชาติของเราและของคนอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งแย่ เช่นเดียวกันกับทุกสิ่ง ความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ควรถูกตั้งคำถามอยู่เสมอ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ความสัมพันธ์ของคนทั่วไปต่อวัฒนธรรมของตัวเองนั้น มีกำแพงและหิ้งที่ขวางกันและกันเอาไว้อยู่เสมอ ทำให้มุมมองของเราต่อวัฒนธรรมใดๆ แตกต่าง และแตกต่างอย่างมากกับวัฒนธรรมที่มักถูกพูดถึงในประเด็น CA ไม่ว่าจะในฟากฝั่งใด
สรุปแล้ววัฒนธรรมต้องจับต้องได้หรือไม่ได้กันแน่? มีเส้นแบ่งจริงๆ หรือเปล่าระหว่างการชื่นชมกับการฉกฉวย? เราจะแยกออกได้อย่างไร?
การหยิบยืมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของมนุษย์ส่วนมากในสังคมโลกปัจจุบัน ลองมองไปรอบๆ ตัวเรา มีอะไรบ้างที่เราบอกได้แน่ว่า เราไม่ได้หยิบยืมมาจากวัฒนธรรมอื่น? เรายึดถือในเดรสโค้ดที่ไม่เหมาะตามแบบตะวันตกแม้จะอยู่ในเมืองร้อน ดนตรีที่เราเรียกว่าทีป๊อปได้รับอิทธิพลจากเจป๊อปและฮิปฮอป และด้วยธรรมชาติของวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แบ่งปันวัฒนธรรมกัน เราแทบบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่า อะไรคือ ‘ของเรา’ จริงๆ และก่อนจะเถียงกัน เป็นที่รู้กันดีว่ากรณีของการหยิบยืมแตกต่างจากการฉกฉวย เพราะมันมีรายละเอียดมากมายกว่านั้นมากที่เราจะพูดถึงในภายหลัง แต่การได้ลองคิดถึงประเด็นดังกล่าวอาจช่วยให้เรามองเห็นได้ง่ายขึ้นว่า โลกของเราหลอมรวมกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
การหลอมรวมวัฒนธรรมทะลุข้ามพรมแดนและเวลา ผ่านเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียที่พาให้เราสามารถพบเจอผู้คนที่แตกต่างจากเรา ที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ ในห้วงเวลาอื่นๆ การเดินไปในคอมมูนิตี้บางที่เพียงไม่กี่คลิก เราก็สามารถสื่อสารกับคนจากวัฒนธรรมอื่นๆ และซึมซับวัฒนธรรมของพวกเขามาได้ ซึ่งการที่เราสามารถเข้าถึงสื่อและศิลปะจากหลากหลายวัฒนธรรมผ่านอินเทอร์เน็ต ได้ทำลายกำแพงของการเรียนรู้วัฒนธรรมไปอย่างมาก
เทรนด์หนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการยกตัวอย่างของปรากฏการณ์ดังกล่าว คือ Asoka Makeup Trend ที่บิวตี้บล็อกเกอร์/อินฟลูเอนเซอร์มากมายร่วมวงกันแต่งหน้าตามตัวละครของกรีนา กปูร (Kareena Kapoor) จากภาพยนตร์อโศกมหาราชที่ออกฉายเมื่อปี 2001 ก่อนที่เทรนด์ดังกล่าวจะแพร่ออกไปจากการแต่งหน้าตามลุคนั้นๆ อย่างเดียว สู่การแต่งเครื่องแต่งกายชุดแลงก้าและเครื่องประดับมากมาย
กระแสตอบรับจำนวนมากเป็นไปในทางบวก จากแง่มุมการแต่งหน้า แต่งตัว การตัดต่อ แต่มากที่สุดคือเสียงตอบรับจำนวนมากบอกว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นของเทรนด์นี้คือ Cultural Appreciation หรือการยกย่องวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหลายๆ คนอาจไม่ได้คาดหวังจะได้เห็นจากเทรนด์ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมในปี 2024 แปลว่าเทรนด์นี้มีอะไรแตกต่างไปจากเรื่องที่เป็นประเด็นก่อนๆ หน้า เช่น การถักผม ชุดประจำชาติต่างๆ ในฐานะชุดแฟนซี หรือเครื่องหัวชาวเนทีฟอเมริกัน ฯลฯ ใช่หรือไม่?
ปกติแล้วในบทความรูปแบบนี้ จุดที่เราอ่านถึงคงจะเป็นจุดเฉลยว่า เทรนด์นี้มันดียังไงและทำถูกต้องยังไง อย่างไรก็ตาม หากจะให้พูดกันตามตรง นั่นเป็นเรื่องที่ไม่รู้จะไปหาคำตอบยังไงให้สามารถครอบจักรวาลได้ คำตอบของเรื่องนี้ยากเกินกว่าจะลิสต์ออกเป็นข้อๆ หรือการจะพูดว่านี่คือผิดและนั่นคือถูก ตั้งแต่เสียงพูดตัดสินนั้นแตกต่างกันไป ผ่านมุมมองและจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน มิติอำนาจที่แตกต่างกัน อภิสิทธิ์ที่แตกต่างกัน มุมมองเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ต่างกัน ฯลฯ สิ่งที่เราน่าไปสำรวจดูกันมากกว่าเพื่อให้ไปถึงบทสรุปของตัวเอง คือการท้าทายไปยังใจกลางของปัญหาว่า เราแยกการฉกฉวยออกจากการชื่นชมได้จริงๆ หรือไม่?
แน่นอน ในระดับหนึ่งเราสามารถใช้สายตาและความรู้สึกของเรามองได้ ยอดมงกุฎของการยกย่องทางวัฒนธรรมอาจเป็นการนำเสนอวัฒนธรรมนั้นๆ ไปในแง่บวก เพื่อเป็นสระเด็กให้สำหรับใครสักคนที่เห็นแล้วสนใจอยากดำดิ่งลงไปในวัฒนธรรมเหล่านั้น ต่อการศึกษาต่อกับเจ้าของวัฒนธรรม (อย่างน้อยก็หากเราเชื่อว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริง แต่นั่นคือคนละประเด็น) และเรามองแล้วรู้สึกแน่ๆ เมื่อเราเห็นความสุดโต่งของการฉกฉวยวัฒนธรรม อาจจะผ่านทำให้เป็นความตลก การนำไปใช้แบบไม่รู้เรื่องรู้ราว หรือการนำไปใช้เพื่อสร้างผลประโยชน์ โดยที่เจ้าของวัฒนธรรมยังถูกกดลงต่ำ ฯลฯ ประเด็นสุดโต่งของทั้งคู่มองไม่ยากนัก ตรงกลางต่างหากคือส่วนที่น่าสนใจ เส้นแบ่งที่เราต้องก้าวข้าม หรือบังเอิญล้มลงหัวฟาดอยู่อีกฟากโดยไม่รู้ตัวอยู่ที่ตรงไหนแน่ และมีสิ่งนั้นอยู่หรือเปล่า?
คำตอบในเรื่องนี้ของเราแตกต่างกันออกไป และหนึ่งในงานเขียนวิชาการที่สะท้อนความแตกต่างเหล่านั้นออกมาอย่างชัดเจนคือ Between Cultural Appreciation and Cultural Appropriation: Self-Authorizing the Consumption of Cultural Difference โดยแองเจลา เกรเซีย ครูซ (Angela Gracia Cruz) และคณะนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในทฤษฎีการบริโภคและการสื่อสารเพื่อการตลาดและการสร้างแบรนด์
ในงานเขียนชิ้นนี้ ครูซพาเราไปดูวิธีคิดของผู้คนเมื่อพวกเขาเดินไปพบกับสินค้าทางวัฒนธรรม ในกรณีนี้คือผู้บริโภคสินค้าใต้ร่มของดนตรีป๊อปเกาหลีนานาชาติ เมื่อถูกท้าทายว่ามนุษย์จะทำยังไง หากการบริโภคของพวกเขานั้นอาจตกหล่มการฉกฉวยวัฒนธรรม? ครูซและคณะพบว่ามี 4 ปฏิกิริยาหลักๆ ที่พวกเขาอาจเลือกทำนั่นคือ
- การคิดใหม่ (Reforming) – การปลุกความตื่นรู้ในตัว ศึกษาหาผลเสียของการฉกฉวยทางวัฒนธรรม และใส่จริยธรรมเข้าไปยังการบริโภคของตัวเอง
- การยับยั้งชั่งใจ (Restraining) – การสร้างขอบเขตในการบริโภค เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองมีโอกาสข้ามเส้นแต่แรก
- การปรับบริบท (Recontextualizing) – เรียนรู้เกี่ยวกับบริบททางวัฒนธรรมนั้นๆ อย่างลึกซึ้งขึ้น และรอบด้านมากขึ้น
- การหาคำอธิบาย (Rationalizing) – ปฏิเสธว่าสิ่งที่ตัวเองทำอาจตกหล่มดังกล่าวแต่แรก แล้วหลุดพ้นออกจากความรู้สึกว่าเราต้องบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ
งานเขียนชิ้นนี้เป็นการเขียนเกี่ยวกับวิธีคิดของผู้บริโภคและผลกระทบของมันต่อแบรนด์ แต่สิ่งที่เราสามารถหยิบจับได้จากการวิเคราะห์ดังกล่าวเพื่อมาคุยเรื่องข้างต้น คือนอกจากมันจะบอกว่าเราแต่ละคนอาจทำตัวยังไงได้ สิ่งที่ชัดเจนอีกอย่างคือเส้นกั้นและศีลธรรมที่เราคิดว่ามี ซึ่งบ่อยครั้งบางเบา และถูกบิดเบือนได้อย่างง่ายดายผ่านความต้องการที่จะบริโภคของเรา ปลายทางของทั้ง 4 ปฏิกิริยา จบลงที่เรายังทำในสิ่งที่เราทำแต่แรก เพียงแต่ต่างวิธีกันออกไป และด้วยคำอธิบายที่ต่างคนต่างมองว่ามีเหตุมีผลมากพอหรือไม่ต่างกันออกไป
อีกงานเขียนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับเส้นแบ่งดังกล่าว มาในรูปแบบของการวิเคราะห์และวิจารณ์งานศิลปะ ชื่อบทความว่า The appropriating subject: Cultural appreciation, property and entitlement โดยยาน่า คัตเทียน (Jana Cattien) นักปรัชญาสังคมและการเมือง ผู้วิจัยเกี่ยวกับประเด็นเฟมินิสต์, Critical Race Theory และโพสต์โคโลเนี่ยล มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม
ในงานเขียนชิ้นนี้ คัตเทียนตั้งคำถามเกี่ยวกับการแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ระหว่างการฉกฉวยทางวัฒนธรรมกับการยกย่องทางวัฒนธรรม ซึ่งความแตกต่างของทั้งคู่ในความเข้าใจทั่วไปคือ วัฒนธรรมถูกฉกฉวยก็ต่อเมื่อคนที่ไม่มีส่วนในวัฒนธรรมนั้นๆ หยิบมันมาใช้เหมือนเป็นเจ้าของ ส่วนการยกย่องคือการสำรวจในวัฒนธรรมเหล่านั้นผ่านระยะห่างบางประการ เธอไปไกลจนสรุปว่า ใต้ร่มของคอนเซ็ปต์นี้ แปลว่าการยกย่องคือการหยิบใช้ในสิ่งที่ ‘ถูกอนุญาตให้เข้าถึงได้’ และการฉกฉวยนั้นคือตรงกันข้าม และเธอก็ไม่เห็นด้วยกับมุมมองดังกล่าวแม้จะเป็นความเข้าใจที่แพร่หลายที่สุด
“เราปฏิเสธมุมมองว่าทั้งสองแยกจากกัน” คัตเทียนเขียน อธิบายว่าในระดับหนึ่งการถูกฝังรากลึกอยู่ในการยกย่องชื่นชม เมื่อพูดถึงวัฒนธรรม “อะไรก็ตามที่ ‘ถูกยกย่องทางวัฒนธรรม’ นั้น ถูกก่อร่างขึ้นในหัวไว้ก่อนหน้าแล้วโดยผู้ที่ยกย่องมัน การ ‘ก่อร่างไว้ก่อนหน้า’ ดังกล่าวในตัวมันเองนี้คือการฉกฉวย” เธอเขียน และเน้นย้ำว่าในการตีความประเด็นนี้ ต้องอาศัยการชั่งน้ำหนักผ่านมิติอำนาจของทั้ง 2 ฝั่ง โดยเธออธิบายมันผ่านการพูดคุยเกี่ยวกับภาพวาด Bathers in Tahiti โดยปอล โกแก็ง (Paul Gauguin)
เพื่อเป็นการใช้พื้นที่น้อยที่สุด คัตเทียนมองภาพวาดของโกแก็งผ่านทฤษฎี Gaze หรือการจ้องมอง เพื่อบอกว่าโกแก็ง คนขาวจากฝรั่งเศส วาดภาพของหญิงตาฮีตี 2 คนกำลังอาบน้ำอยู่ในแม่น้ำ ด้วยสายตาที่ยกย่องชื่นชม “จุดประสงค์ตรงนี้ไม่ได้เพื่อชี้นิ้วด่าทอโกแก็ง แต่ใช้รูปของเขาเป็นตัวอย่างว่าการยกย่องชื่นชมนั้น ถูกกระทบโดยความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างผู้ชม กับสิ่งที่พวกเขาให้ความสนใจยกย่องชื่นชมยังไง” โดยสรุปเธอตีความว่า สิ่งที่โกแก็งนำเสนอในรูปที่สุดไม่ใช่เพียงว่าเขายกย่องความงามของผู้หญิง ของธรรมชาติ ของตาฮีตี แต่คือคือห้วงขณะที่เขา ‘ค้นพบ’ ความงามนั้นซึ่งพร้อมให้คนอย่างเขาค้นพบ นั่นคือการนำเสนอการหยิบฉวยที่วางอยู่ใจกลางความยกย่องโดยผู้เขียน
หากจะยกมาใกล้ตัวของเรา บ่อยครั้งใช่หรือไม่ที่เรายกย่องชื่นชมบางอย่าง เพราะความไม่เท่ากันของอำนาจในตัวเราเอง? การทำให้ความยากจนโรแมนติก การชื่นชมคนที่ลงถนนเพราะไม่มีทางเลือก ฯลฯ เช่นเดียวกันในตัวการกระทำของการยกย่องมีอำนาจอยู่ในนั้น การแยกจากกันในหลายกรณีทำไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่กำหนดมิติอำนาจในตัวเรามักถูกฝังรากตั้งแต่ตอนเราเกิด หรือแม้แต่มันฝังรากลึกอยู่ในวิธีที่สังคมสังคมหนึ่งมองวัฒนธรรมและศิลปะแต่แรก
เช่นนั้นเราต้องทำยังไง? จากที่เราเล่ามาทั้งหมด คงรู้แล้วว่าคำตอบที่ครอบจักรวาลสำหรับทุกคนคงไม่มี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราจับออกมาได้คือ การหยิบยืมนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกที่เชื่อมโยงเข้าหากัน แถมเส้นแบ่งระหว่างการฉกฉวยกับการยกย่องทางวัฒนธรรมก็ไม่ชัด และโลกจะไม่หยุดหมุนให้กับเรา ถ้าอย่างนั้นก้าวถัดไปของเราคืออะไร? เราบางคนอาจจะเลือกปิดตัวแล้วแช่แข็งตัวเองเอาไว้กับสิ่งที่เรารู้ ไม่ยอมให้วัฒนธรรมอื่นโดยรอบมามีส่วนในชีวิตเรา แต่นั่นก็คงได้ในระดับหนึ่ง เพราะมันใช้กำลังมากกว่าที่คิด
หากทางเลือกของเราคือการเดินต่อไปกับโลก หนทางที่ควรเปิดรับไว้ควรเป็นการสนับสนุนเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมรอบๆ ตัวทั้งของผู้อื่นและของตัวเอง ในท่อนปิดของงานเขียนของคัตเทียน เธอทิ้งท้ายว่า ข้อเขียนของเธอไม่ได้บอกว่าคนขาวเสพอะไรไม่ได้เลย เพราะทุกอย่างที่พวกเขาทำคือการฉกฉวย แต่เป็นสารที่ว่าเราแต่ละคนไม่ควรมองว่า การฉกฉวยซึ่งอยู่ใจกลางของการมีอำนาจ เป็นสิ่งที่สามารถตัดทิ้งออกไปได้ง่ายๆ ผ่านการมองโลกแบบขาวกับดำ
“สิ่งสำคัญคือ การที่ทั้งศิลปินและผู้เสพศิลปะควรมีทัศนคติที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ตัวของตัวเอง และที่ทางที่พวกเขายืนอยู่ ในบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมได้” เธอเขียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หากเราจะเริ่มหาคำตอบส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นการหาที่ยืนต่อการเสพ และบริโภควัฒนธรรมที่ไม่ได้เป็นของเรา
นั่นอาจช่วยเป็นหางเสือในการคำนวณเส้นทางของโลกที่ซับซ้อนขึ้นทุกวันนี้ได้
อ้างอิงจาก