ภารกิจตามหายานดำน้ำ ‘ไททัน’ ดำเนินมาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา กระทั่งในวันนี้ (23 มิถุนายน) ช่วงประมาณ 2.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย บริษัท โอเชียนเกต (OceanGate) เจ้าของไททัน ก็ได้ออกแถลงการณ์เชื่อว่าทั้ง 5 คนที่เข้าร่วมภารกิจสำรวจซากเรือไททานิคเสียชีวิตแล้ว
นับจาก เหตุการณ์ที่ไททันขาดการติดต่อและหายไป นอกจากภารกิจตามหายานดำน้ำและผู้ที่อยู่ในยานทั้ง 5 ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของยานดำน้ำนี้ ก็ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน ในวันนี้ The MATTER จึงได้รวบรวมคำกล่าวอ้างจากอดีตพนักงานและผู้เชี่ยวชาญที่เคยแสดงข้อกังวลเอาไว้ รวมถึงข้อชี้แจงบางส่วนจากบริษัทเอาให้ทุกคนได้อ่านกัน
1. โครงสร้างของยานบางไป: ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2018 เดวิด ลอชริดจ์ (David Lochridge) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการยานดำน้ำของโอเชียนเกต ได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของไททันไว้ว่า อาจเกิดอันตรายต่อผู้โดยสารเรือไททัน เนื่องจากโครงสร้างของไททันหนาเพียงแค่ 5 นิ้วเท่านั้น ทั้งๆ ที่วิศวกรบริษัทเคยบอกเขาว่าจริงๆ แล้วโครงสร้างของยานดำน้ำนี้ควรจะต้องหนากว่านี้อีก 2 นิ้ว แต่คำเตือนดังกล่าวก็ถูกเพิกเฉย ทั้งเขายังถูกไล่ออกและโดนฟ้องในข้อหาเปิดเผยความลับของบริษัท
2. ไม่มีองค์กรรับรอง-ตรวจสอบ (ไม่ได้บังคับ): จดหมายจากสมาคมเทคโนโลยีทางทะเล (MTS) ที่ส่งถึงบริษัทโอเชียนเกต เมื่อเดือนมีนาคม 2018 ระบุว่า วิธีการทดสอบไททันอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ในด้านลบตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงขั้นหายนะ
อีกทั้งในเอกสารของศาลยังระบุว่า ไททัน ไม่เคยเข้าสู่กระบวนการตรวจรับรองสภาพและมาตรฐาน แม้ว่าอดีตลูกจ้างของโอเชียนเกต พยายามบอกให้บริษัทนำยานดำน้ำไททันไปเข้ากระบวนการตรวจสอบและรับรองจากองค์กรทางทะเลแล้วก็ตาม
สำหรับเรือดำน้ำหรือยานดำน้ำ มีองค์กรอย่างเป็นทางการหลายองค์กรที่ให้การตรวจรับรอง ได้แก่ องค์การขนส่งทางเรืออเมริกัน (American Bureau of Shipping-ABS) องค์การดีเอ็นวีในนอร์เวย์ หรือ ลอยด์สในลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยองค์กรเหล่านี้จะทำการรับรองพาหนะใต้น้ำ ซึ่งจะตรวจสอบมาตรฐานในหลายๆ ด้าน ได้แก่ ความมั่นคง ความแข็งแรง ความปลอดภัย และการทำงานของยานดำน้ำ
รวมไปถึง ยังมีการตรวจสอบเรื่องการออกแบบ การผลิต การทดสอบ และเมื่อยานดำน้ำได้ถูกนำไปใช้งานแล้ว ก็จะมีการตรวจสอบสภาพตามระยะเวลา แต่ไม่ได้มีการบังคับว่าทุกๆ พาหนะที่ใช้ใต้น้ำจะต้องเข้ารับกระบวนการตรวจรับรอง
อย่างไรก็ดี ในบล็อกของบริษัทเมื่อปี 2018 ระบุว่าไททันมีการออกแบบที่อยู่นอกเหนือจากมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าการผลิตของโอเชียนเกตจะไม่มีมาตรฐาน อีกทั้งมาตรฐานที่องค์กรเหล่านั้นตั้งขึ้น ก็ยังทำให้การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ช้าลง
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก เดวิด เพิจ (David Pogue) ผู้สื่อข่าวของ CBS ที่เคยโดยสารยานดำน้ำลำนี้เมื่อปีที่แล้ว (แต่ไม่ได้ลงไปสำรวจซากเรือไททานิค) ที่อ้างถึงการลงนามยินยอมของผู้โดยสารก่อนลงเรือไททัน ซึ่งระบุว่าเป็นการทดลองของยานดำน้ำที่ไม่ได้รับการรับรองหรืออนุมัติโดยหน่วยงานกำกับดูแลใดๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย กระทบกระเทือนทางอารมณ์ และเสียชีวิต
3. วัสดุที่ใช้ไม่ใช่วัสดุโดยทั่วไปในการลงทะเลลึก: ไททัน ซึ่งถูกนิยามจากโอเชียนเกตว่าเป็น ‘การทดลอง’ สร้างขึ้นด้วยวัสดุที่ไม่ได้ใช้สำหรับใช้ลงไปในมหาสมุทรระดับลึก เนื่องจากโดยปกติแล้ว นิโคไล รอตเตอร์ดาม (Nicolai Roterdam) นักชีววิทยาทางทะเลที่มหาวิทยาลัย Portsmouth ระบุว่า ยานดำน้ำที่มีมนุษย์โดยสาร จะต้องใช้วัสดุที่แข็งแรงอย่างไททาเนียมทรงกลงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร เพื่อให้สามารถทนต่อแรงดันในระดับความลึก และต้านทานน้ำหนักของน้ำด้านบนที่กดทับมายังตัวถังของยานได้
แต่จากข้อมูลวัสดุของไททัน กลับพบว่า ตัวถังมีรูปทรงโค้งล้อมรอบส่วนที่เป็นที่นั่งผู้โดยสารเอาไว้ ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ปิดด้วยแผ่นไททาเนียมเท่านั้น ซึ่งคาร์บอนไฟเบอร์ มีราคาที่ถูกกว่าไททาเนียมหรือเหล็ก ซึ่งแม้จะแข็งแรง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกทดสอบกับเรือเดินทะเลลึกอย่างยานดำน้ำไททัน
สอดคล้องกับที่ สต็อกทัน รัช (Stockton Rush) ซีอีโอของโอเชียนเกต เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปีที่แล้วว่า “คาร์บอนไฟเบอร์ถูกนำไปใช้อย่างประสบความสำเร็จกับเรือยอชต์และการบิน แต่มันยังไม่เคยถูกนำมาใช้กับยานดำน้ำแบบที่มีผู้โดยสาร”
4. วัสดุทนแรงดันได้แค่ 1,300 เมตร – ยังไม่เคยวิเคราะห์ปัญหาที่อาจเกิด: จากเอกสารของศาลสหรัฐฯ ลอชริดจ์ ระบุว่า ตัวถังของไททันยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างถูกต้องตามสภาพแวดล้อมที่มีแรงดันมหาศาล ทั้งยังไม่เคยมีการวิเคราะห์ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นด้วย
อีกทั้ง เขายังอ้างว่าในการทดสอบด้วยโมเดลจำลองขนาดเล็ก ก็ยังพบปัญหาในตัวคาร์บอนไฟเบอร์เมื่อต้องเจอกับแรงดันสูงๆ รวมทั้งหน้าต่างกระจกของเรือไททันก็มีข้อบกพร่องด้วย โดยบริษัทที่ผลิตบานกระจก (ช่องชมวิว) ดังกล่าว ให้การรับรองว่ากระจกสามารถทนแรงดันได้ที่ความลึก 1,300 เมตรเท่านั้น (แต่การสำรวจซากเรือไททานิคต้องลงไปลึกถึง 3,800 เมตร) และบริษัทก็ไม่ยอมจ่ายเงินให้บริษัทผู้ผลิตสร้างบานกระจก เพื่อใช้วัสดุที่สามารถทนแรงดันได้ลึกถึง 4,000 เมตร
อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ของบริษัทโอเชียนเกตเมื่อปี 2018 ระบุว่า ยานดำน้ำไททันได้รับการตรวจสอบรับรองการดำน้ำลึก 4,000 เมตร ตามมาตรฐานทางวิศวกรรมและการผลิตของโอเชียนเกต ซึ่งใช้วัสดุตัวถังเป็นคาร์บอนไฟเบอร์และไททาเนียม อีกทั้ง 2021 บริษัทโอเชียนเกตระบุว่า เรือไททันได้รับการทดสอบดำน้ำกว่า 50 ครั้ง ทั้งในระดับความลึกเทียบเท่าจุดซากเรือไททานิค, ที่นอกชายฝั่งบาฮามาส และห้องแรงดันสูง
5. ตัวถังเป็นรูปกระบอก รับแรงดันได้ไม่เท่ากันทุกจุด: รูปทรงของยานดำน้ำไททันนั้นแตกต่างจากยานดำน้ำทั่วไป ตัวถังของลำยานดำน้ำลึกจะมีรูปทรงกลม ซึ่งทำให้สามารถรับแรงดันจากน้ำได้เท่ากันทุกจุด แต่ตัวถังของเรือไททันเป็นทรงกระบอก ดังนั้นแรงดันที่กดเข้าไปที่ตัวถังก็จะกระจายไปไม่เท่ากัน
อีกทั้ง เมื่อปี 2020 ซีอีโอของโอเชียนเกตก็เคยระบุว่า การทดสอบทำให้เห็นว่าตัวถังของเรือไททันเกิดการเสียหายเมื่อต้องรับแรงดันสูงซ้ำๆ (cyclic fatigue)
6. ไททันเคยขาดการติดต่อกับเรือแม่: เพิจระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมาบริษัทโอเชียนเกตก็เคยพาเขาลงไปดำน้ำชมไททานิค แต่ก็ต้องยกเลิกภารกิจไปเนื่องจากอุปกรณ์ทำงานผิดพลาดหลังจากลงไปเพียง 11 เมตรเท่านั้น และหลังจากนั้นก็ไททันก็ยังขาดการติดต่อกับเรือแม่ที่อยู่บนผิวน้ำ โดยหลงทางอยู่ตรงนั้นประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (22 มิถุนายน) เวลา 23.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ก็มีรายงานถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการค้นหาไททันว่า ยานใต้น้ำแบบอาร์โอวี (ROV) พบชิ้นส่วนของยานดำน้ำไททันชิ้นแรก บริเวณพื้นท้องมหาสมุทรห่างจากบริเวณหัวเรือไททานิค 487 เมตร ก่อนพบชิ้นส่วนอื่นๆ ของไททันทั้งสิ้น 5 ชิ้น โดยชิ้นส่วนหลักๆ ได้แก่ กรวยหางยานดำน้ำ แท่นลงจอด และส่วนของช่องหน้าต่างด้านหน้า
ยามชายฝั่งสหรัฐฯ ระบุว่า ชิ้นส่วนเหล่านี้ เป็นผลมาจากการถูกบีบอัดอย่างรุนแรงเฉียบพลัน (implosion) และผู้โดยสารทั้ง 5 คน เสียชีวิตทั้งหมด แต่ยังไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่าจะค้นหาร่างของผู้เสียชีวิตพบหรือไม่ เพราะมีอุปสรรคคือเรื่องสภาพแวดล้อม ส่วนเสียง ‘ปัง’ ที่ตรวจพบก่อนหน้านี้ คาดการณ์ว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับไททัน
อ้างอิงจาก