ในขณะที่ข่าวเรือดำน้ำกำลังสูญหาย เวลาเดียวกันนี้เรื่องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยกว่าร้อยคนเสียชีวิตกลางทะเลก็ถือเป็นข่าวสำคัญด้วยเช่นกัน แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะผ่านมาเป็นสัปดาห์แล้ว แต่การตามหาผู้สูญหายยังคงดำเนินการอยู่ รวมถึงการพยายามเอาผิดต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมในครั้งนี้
ขอย้อนไปตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ชาวอียิปต์ ปากีสถาน และชาติอื่นๆ ประมาณ 500 คน ยังคงสูญหายจากเหตุเรืออวนลากอับปางที่นอกชายฝั่งทางตะวันตกของกรีซใกล้กับเมืองไพลอส จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 82 คน แต่มีผู้รอดชีวิตเพียง 104 คน ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ร้ายแรงที่สุด
เล่าก่อนว่า ผู้คนที่อยู่บนเรือต่างตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและสงครามที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเดินทางโดยเส้นทางอันตรายไปยังยุโรปเพื่อค้นหาอนาคตที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม อิลวา โยฮันส์สัน (Ylva Johansson) กรรมาธิการของสหภาพยุโรป (EU) ออกมาประณามนายหน้าที่ส่งผู้คนขึ้นเรือลำนี้
“พวกเขาไม่ได้ส่งพวกคุณไปยุโรป แต่พวกเขาส่งพวกคุณไปตาย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันไม่ให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก” เธอกล่าว
อย่างไรก็ดี สังคมยังมีคำถามมากมายเกี่ยวกับบทบาทของเจ้าหน้าที่ประจำชายฝั่งกรีซต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ ว่าทำไมผู้ที่อยู่บนเรือจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เร็วกว่านี้จากพวกเขา
เจ้าหน้าที่ผู้รอรับสายด่วนจากผู้คนที่ประสบภัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระบุว่า “เราได้แจ้งเตือนต่อทางการกรีซเมื่อเวลา 17.53 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) หลังจากได้รับการขอความช่วยเหลือจากผู้ประสบภัย”
อีกทั้งการสืบสวนของสื่อยังพบว่า เรือแทบจะไม่เคลื่อนที่เลยตลอด 7 ชั่วโมงก่อนที่เรือจะล่ม ซึ่งขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างของหน่วยยามชายฝั่งกรีซที่อ้างว่า เรือลำนี้กำลังมุ่งหน้าไปยังอิตาลี ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้คนได้
โดยคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า การสอบสวนเหตุการณ์ในครั้งนี้ ควรกระทำอย่างละเอียดถี่ถ้วนและโปร่งใสที่สุด ซึ่งตรงกันข้ามกับจุดยืนของ อิซิโดรอส โดเกียคอส (Isidoros Dogiakos) อัยการสูงสุดของกรีก ที่เรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างเป็นความลับ
“เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องผลักภาระและความรับผิดชอบให้แก่กรีซ เพราะพวกเขาอยู่ในที่เกิดเหตุ เขตค้นหาและช่วยเหลือ แต่พวกเขากลับล้มเหลวในการช่วยชีวิตและการประสานงานกู้ภัย” โนรา มาร์คาร์ด (Nora Markard) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนระหว่างประเทศฯ แห่งมหาวิทยาลัยมุนสเตอร์กล่าว
เธอเสริมว่า “เมื่อเรือประสบภัย การช่วยเหลือจะต้องเกิดขึ้นทันทีโดยเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้ที่สุด พวกคุณจะไม่มีหน้าที่ก็ต่อเมื่อมีเรือลำอื่นเข้าช่วยเหลือแล้วเท่านั้น ดังนั้นจนกว่าจะถึงเวลานั้นภาระหน้าจะตกเป็นของเรือทุกลำที่อยู่ใกล้เรือที่อับปางมากที่สุด”
“พวกเขาต้องถูกนำตัวขึ้นศาล เราไม่สามารถมีคดีเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบ” มาร์คาร์ดระบุ
โอเมอร์ แชตซ์ (Omer Shatz) นักกฎหมายระหว่างประเทศและผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของฟรอนเล็กซ์ (front-LEX) กล่าวว่า “อนุสัญญาทางทะเลไม่น้อยกว่าสามฉบับที่เป็นตัวกำหนดให้กรีซ ต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที”
แชตซ์เสริมว่า ทั้งนี้โอกาสที่กรีซจะถูกนำตัวขึ้นศาลภายใต้การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการเดินเรือนั้นมีน้อยมาก เพราะตัวกฎหมายยังมีปัญหาอยู่ แต่เขาชี้ว่ายังมีช่องทางทางกฎหมายอีกทางหนึ่ง ที่สามารถทำให้กรีซได้รับความผิด ซึ่งก็คือการยื่นเรื่องต่ออนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ECHR) เพราะเมื่อปีที่แล้ว ECHR เคยตัดสินให้กรีซมีความผิดหลังพยายามลากเรือผู้ลี้ภัยไปยังน่านน้ำตุรกี แต่ทำไม่สำเร็จจึงส่งผลให้เด็กและผู้หญิงจำนวนมากเสียชีวิต
“หากผู้ที่อยู่บนเรือไม่ใช่ผู้ลี้ภัยแต่เป็นชาวยุโรปผิวขาวแทน กรีซคงรีบเข้าไปช่วยเหลือ และไม่ปล่อยให้พวกเขาเสียชีวิต?” แชตซ์ถามทิ้งท้าย
อ้างอิงจาก