ตามที่ประธานสภาใหม่แกะกล่อง ได้เคาะวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 13 กรกฎาคมนี้ ทำให้บรรยากาศการเมืองไทยเพิ่มอุณหภูมิขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะจุดยืนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
นำมาซึ่งประเด็นถกเถียงบนหลักการว่า ‘นายกฯ จะต้องมาจากพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 และสามารถรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้’ โดย มณเฑียร บุณตัน สมาชิกวุฒิสภา ก็เป็นหนึ่งคนที่แสดงจุดยืนมาตลอด
“กลับไปดูบันทึกการเมืองก็จะเห็นว่าผมเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เสนอเข้ามาตั้งแต่เริ่มแรกอยู่แล้ว เหตุผลคือ ต้องการเปิดโอกาสให้ถกเถียงกันในทุกประเด็นไม่ว่าจะเห็นด้วย หรือเห็นต่างก็ตาม ที่เห็นด้วยอย่างยิ่ง คือ ร่างแก้ไขมาตรา 272 เสนอเข้ามาเมื่อไหร่ผมก็เห็นด้วย แล้วก็แพ้ทุกครั้งเลยนะครับ”
มณเฑียร เล่าย้อนไปว่าก่อนจะมีการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งขณะนั้นมีการจัดกิจกรรมของภาคีรัฐธรรมนูญ เขาได้ยืนยันถึงหลักการตนเองที่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ จึงงดออกเสียง “ผมคิดว่าเป็นการคงเส้นคงวากับหลักการเดิม ยอมรับว่าเผลอ การงดออกเสียงเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว. เวอร์ชั่น 1.0” นั่นถึงทำให้การโหวตงดออกเสียงในครั้งนั้น เท่ากับไม่เห็นด้วยกับแคนดิเดตนายกฯ
“ไม่ว่าผมใช้หลักการนี้กับใคร ก็เท่ากับองค์ประชุมนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุผลให้มณเฑียร ตัดสินใจปิดสวิตช์ตัวเองเวอร์ชั่น 2.0”
“การปิดสวิตช์ตัวเองโดยไม่มีผลต่อคะแนนเสียง หรือองค์ประชุม 750 คือโหวตตามมติเสียงข้างมากของ ส.ส. …นั่นหมายความว่า ส.ส. เสียงข้างมากเป็นอย่างไร ส.ว. อย่างผมก็เห็นเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องใช้ดุลยพินิจ ไม่ต้องเอาเรื่องความชอบ ไม่ชอบ ไม่ต้องพูดนโยบาย”
“ไม่ว่าแคนดิเดตจะเป็นใคร ก็ยังใช้หลักการเดิม” เป็นคำยืนยันของสมาชิกวุฒิสภารายนี้
โดยหลักการดังกล่าวนี้ ส.ว.บางส่วนก็ใช้เป็เงื่อนไขในการใช้สิทธิปี 2562 ซึ่งนั่นก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯ ตามการรวมเสียง มณเฑียรจึงมองว่าการลงคะแนนครั้งนี้ก็ควรอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน
ด้วยธรรมชาติของ ส.ว. ที่เป็นปัจเจกตามความเห็นของมณเฑียรนั้น ไม่ได้มีโครงสร้างองค์กรที่ยึดโยงกัน ดังนั้นการรวมกลุ่มก็เป็นไปตามความสมัครใจ ไม่มีเงื่อนไขผูกมัดกันถาวร
มณเฑียร ระบุว่า สภาวะความกลัวสุจริตอยู่ในใจ ส.ว.หลายคน โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษนิยม จึงอาจทำให้เกิดความเชื่อว่ามหาอำนาจตะวันตกจะเข้ามามีอิทธิพลพลต่อไทย ซึ่งอาจเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจในหลักการ เพื่อให้ทุกฝ่ายตัดสินใจอย่างเหมาะสม
สำหรับการพูดคุยนี้ เป็นส่งหนึ่งของเวทีเสวนาภายใต้แคมเปญ Respect My Vote ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของหลายองค์กร นำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw) เพื่อเชิญชวนประชาชนรวมตาม ส.ว. ในการลงคะแนนโหวตเลือกนายกฯ ที่ใกล้มาถึงนี่
“อย่าได้เสียงเขาก็อย่าเพิ่งไปด่า…ไม่มีใครหรอกที่ถูกด่าเช้าด่าเย็นแล้วจะโหวตให้ ต้องสื่อสาร” มณเฑียรกล่าว พร้อมย้ำว่า ถ้ายังอยู่บนพื้นฐานเสียงข้างมากของประชาชน “ยังไงก็ได้เสียงจากผม”
-สามารถติดตามเสวนา ‘เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน’ เต็มๆ ได้ที่: https://www.facebook.com/iLawClub/videos/647524850726309/