ช่วงนี้เรื่องที่หลายคนจับตาคงจะเป็นการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย แม้ว่าประชาชนนับล้านจะเลือกตั้งไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทเฉพาะกาลให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ชุดนี้มีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ดังนั้น ‘เสียงของประชาชน’ เลยอยู่ภายใต้อำนาจการตัดสินใจของเหล่า ส.ว. 250 คนอีกที (ทั้งที่เงินเดือนของ ส.ว. ก็มาจากประชาชนอย่างเราๆ นี่แหละ)
และถ้าถามว่า ส.ว.เงินเดือนเท่าไรกันบ้าง?
หากเป็นสมาชิกวุฒิสภาทั่วไปเงินเดือนจะอยู่ที่ 113,560 บาท (เงินประจำตำแหน่ง 71,230 + เงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท) ส่วนรองประธานวุฒิสภา 115,740 บาท และประธานวุฒิสภา 119,920 บาท แต่ขอดอกจันตัวโตๆ ว่าทั้งหมดนี้ยังไม่รวมเงินและสวัสดิการอื่นๆ ที่มี ‘เพิ่ม’ ไปจากเงินเดือน เช่น ค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยงประชุม ค่าที่พัก งบสำหรับจ้างผู้ช่วยทำงานได้อีก 8 คน และสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลและตรวจสุขภาพ
ไหนๆ ก็เป็นภาษีของประชาชนแล้ว เราเลยอยากจะลองเทียบดูว่าเงิน 1 เดือน ของ ส.ว. 1 คน คือ 113,560 บาท จะสามารถเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายแบบไหน หรือมีสวัสดิการอะไรให้เราได้อีกบ้าง?
- ค่าอาหารกลางวันนักเรียนอนุบาล – ป.6 มื้อละ 22 บาท/คน ได้ 5,161 มื้อ
ถ้าลองเปลี่ยนเป็นสวัสดิการภายในโรงเรียน งบส่วนนี้สามารถนำมาใช้กับค่าอาหารกลางวันของเด็กๆ ชั้นอนุบาลจนถึงป.6 ได้ โดยงบค่าอาหารกลางวันของโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป จะอยู่ที่ 22 บาท/คน/วัน ซึ่งถ้าลองคำนวณดูแล้ว เงินเดือน ส.ว. 1 คน สามารถจ่ายค่าอาหารกลางวันให้นักเรียน 1 คนได้ถึง 5,161 มื้อ หรือถ้าคิดต่อไปอีกจะเท่ากับงบอาหารกลางวันฟรีสำหรับนักเรียน 2 คนตั้งแต่เรียนอนุบาล 1 จนจบ ป.6 เลยทีเดียว
- ค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (60-69 ปี) 1 เดือน เดือนละ 600 บาท ได้ 189 คน
นอกจากวัยเด็กแล้ว อีกสวัสดิการที่สำคัญคือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่าผู้สูงอายุ 60-69 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ที่ 600 บาท/เดือน (ซึ่งจะเพิ่มขึ้นไปแบบขั้นบันไดตามอายุที่เพิ่มขึ้น) นั่นหมายความว่า เงินเดือน ส.ว. 1 เดือน สามารถใช้เป็นงบจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้ถึง 189 คน
- ค่าวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ราคาเข็มละ 5,500 บาท ได้ 20 เข็ม
หนึ่งในวัคซีนจำเป็นสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงคือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) แต่วัคซีนนี้ไม่ได้ฟรีและมีราคาค่อนข้างสูง แถมต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็มอีกต่างหาก
โดยวัคซีนป้องกัน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ราคาราคาต่ำสุดเท่าที่เราหาข้อมูลมา คือวัคซีนจากสภากาชาดไทย (และเป็นราคาพิเศษ) เข็มละ 5,500 บาท ดังนั้นถ้าคิดจากวัคซีนราคานี้ เงินเดือน ส.ว. 1 คน 1 เดือน จะเท่ากับค่าวัคซีน HPV 20 เข็มเลยทีเดียว
- ค่าเตียงผู้ป่วยสามัญ เตียงละประมาณ 10,000 บาท ได้ 11 เตียง
ส่วนโรงพยาบาล ถ้าลองนับเป็นเตียงผู้ป่วยสามัญ หรือเตียงซิมมอนส์ (เตียงสำหรับผู้ป่วย มีล้อเคลื่อนย้ายได้ นิยมใช้กับผู้ป่วยที่พักฟื้นในโรงพยาบาลและอาการไม่สาหัส) ซึ่งราคาส่วนใหญ่จะอยู่ที่หนึ่งหมื่นต้นๆ เราเลยขอตีเป็นตัวเลขกลมๆ ว่าเตียงละประมาณ 10,000 บาท ดังนั้นเงินเดือน ส.ว. 113,560 บาท จะสามารถซื้อเตียงซิมมอนส์ให้โรงพยาบาลเพิ่มได้ถึง 11 เตียง
- ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คนละ 353 บาท ได้ 321 วัน
อ้างอิงจากประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ค่าจ้างขั้นต่ำในกรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี สมุครสาคร ปทุมธานี และสมุทรปราการ อยู่ในอัตราคนละ 353 บาท/วัน (8 ชั่วโมง) นั่นหมายความว่า เราสามารถนำเงิน 113,560 บาท มาจ่ายให้กับแรงงาน 1 คนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ถึง 321 วัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเท่ากับรายได้ทั้งปีของแรงงาน 1 คน
- ค่ารถไฟฟ้า BTS เที่ยวที่แพงที่สุด 47 บาท ได้ 2,416 เที่ยว
อีกค่าใช้จ่ายที่แพงแสนแพง คือค่าเดินทาง ซึ่งเงิน 113,560 บาทสามารถเปลี่ยนเป็นค่ารถไฟฟ้า BTS ที่ราคาสูงสุด 47 บาท (ไม่รวมส่วนต่อขยาย) ได้ถึง 2,416 เที่ยว ถ้าคิดต่อไปอีกนิด สมมุติว่ามีคนใช้รถไฟฟ้า BTS ไป-กลับด้วยราคานี้ทุกวัน (94 บาท/วัน) แสดงว่า เงินเดือนสมาชิกวุฒิสภาสามารถจ่ายค่าเดินทางตลอด 1 เดือนให้กับคนกลุ่มนี้ได้ถึง 40 คนเลยทีเดียว
- จ่ายค่าเวรแพทย์ 1 คน เวรละ 1,200 บาท ได้ 94 ครั้ง
ส่วนค่าตอบแทนของแพทย์ อ้างอิงจากเอกสาร หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2566 ที่ระบุว่า “กรณีที่ปฏิบัติงานประจำอาคารผู้ป่วยนอก จะต้องพร้อมที่จะให้การดูแลผู้ป่วย ได้ตลอดเวลาและทันท่วงทีเมื่อผู้ป่วยมารับบริการ เช่น แพทย์เวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตรา คนละ 1,200 บาท”
ถ้าลองคำนวณจากตัวเลขดังกล่าว เงินเดือนของส.ว. 1 เดือน จะสามารถจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการเข้าเวรในอัตรานี้ได้ถึง 94 ครั้ง
- ซื้อกะเพรา จานละ 60 บาท ได้ 1,892 จาน
มาถึงเรื่องปากท้องของทุกคนกันบ้าง ซึ่งข้อมูลของ LINE MAN Wongnai ระหว่างปี 2563 – 2565 พบว่าราคาเฉลี่ยของอาการจานเดียวปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 2564 อย่างชัดเจน โดยข้าวผัดกะเพรา 1 จาน ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่จานละ 59 บาท แต่เราขอตีเป็นตัวเลขกลมๆ ให้คำนวณง่ายขึ้น เป็น 60 บาท/จาน
ดังนั้นเงิน 113,560 บาท จะสามารถซื้อข้าวผัดกะเพราได้ 1,892 จาน และถ้าสมมุติว่าเรากินข้าวมื้อละ 60 บาท นั่นหมายความว่า เงินเดือนส.ว. 1 คน จะเท่ากับค่าอาหารของเราตลอด 1 ปี 3 เดือน เลยทีเดียว
นอกจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ เราเชื่อว่าเงินหลักแสนคงเปลี่ยนเป็นอะไรที่ช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อีกเยอะมาก และวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566 ก็จะถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 แล้ว แต่ ส.ว.จะใช้อำนาจตามเสียงของประชาชน คุ้มกับเงินเดือนที่ประชาชนจ่ายให้หรือไม่ ก็คงเป็นเรื่องที่จะต้องจับตามองกันต่อไป
อ้างอิงจาก