“หนูรู้สึกว่าคาดหวังกับความยุติธรรมมากเกินไป แต่ไม่โทษศาลนะ เพราะคนเรามีมุมมองที่ต่างกัน หนูได้คิดและตกตะกอนว่า สิ่งที่หนูทำก็คงมีคนไม่เห็นด้วย แต่หนูยังมีความหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะให้ความยุติธรรมกับหนู เพราะนี่เป็นการกระทำความผิดครั้งแรก” วารุณี ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 กล่าวกับทนายความของเธอ
วันนี้ (6 กรกฎาคม) เมื่อเวลา 16.00 น. มีการจัดงาน ‘ดนตรีเปิดหมวกไล่หวดเผด็จการ ตอน Free our friends’ เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับนักโทษทางการเมืองที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ โดย 1 ในนั้นก็คือ ‘วารุณี’ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีที่โพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตที่ถูกตัดต่อเป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัข
The MATTER จึงอยากจะชวนย้อนดูว่า ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับวารุณีบ้าง?
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 วารุณี ถูกจับกุมที่พิษณุโลก หลังจาก นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ‘ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.)’ กล่าวหาว่าเธอกระทำความผิด และถูกควบคุมตัวมาสอบปากคำที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในกรุงเทพฯ จากกรณีดังกล่าว
ต่อมาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีของวารุณีต่อศาล ระบุ “จำเลย (วารุณี) มีเจตนาเพื่อให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทําให้ดูตลกขบขันและถูกด้อยค่าต่อประชาชน และเป็นการแสดงความไม่เคารพสักการะต่อวัตถุและสถานที่ทางศาสนา เป็นการกระทําที่ไม่สมควรและไม่เคารพต่อพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปที่เคารพสักการะในทางศาสนาพุทธของประชาชนชาวไทย อันเป็นการเหยียดหยามศาสนา”
วันแรกของการสืบพยานเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วารุณีตัดสินใจรับสารภาพในข้อกล่าวหามาตรา 112 แต่ตั้งใจสู้ในฐานความผิดเหยียดหยามศาสนา เพราะเธอมองว่าไม่ได้กระทำการใดๆ ต่อวัตถุหรือสถานที่ของศาสนา แต่ศาลแจ้งว่าในเมื่อรับข้อหามาตรา 112 แล้ว ก็ควรจะรับสารภาพข้อหาอื่นๆ ไปด้วย เพราะหากศาลมีคำพิพากษาก็จะลงโทษในข้อหามาตรา 112 ที่มีบทลงโทษหนักที่สุดเพียงข้อหาเดียวอยู่แล้ว เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนไปรับสารภาพทุกข้อหา
ในวันนั้น ทนายความก็ได้แถลงถึงอาการป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว หรือไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) ซึ่งส่งผลให้สภาพจิตใจของวารุณีไม่มั่นคง ทั้งทนายความยังระบุอีกว่าเธอต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง ศาลจึงให้งดสืบพยาน และมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา
ในวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลเห็นว่าวารุณีรับสารภาพ และจากรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติ ไม่ปรากฏข้อเสียหายใดมาก จึงพิพากษาว่า เธอมีความผิดตามมาตรา 112, มาตรา 206 [เหยียดหยามศาสนา] และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) [นำข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหรือการก่อการร้ายเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์] เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุดคือ มาตรา 112 จำคุก 3 ปี แต่จำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน
ศาลยังระบุต่อว่า ความผิดที่จารุณีกระทำ เป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ดังนั้นการกระทำของเธอจึงเป็นการกระทำที่กระทบต่อความรู้สึกประชาชน แม้ว่าจะมีเหตุสุขภาพจิต ก็ไม่เป็นเหตุให้รอการลงโทษได้ พร้อมทั้งยังให้ริบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของกลางอีกเช่นกัน
หลังศาลมีคำพิพากษา วารุณีก็ถูกเจ้าหน้าที่ศาลคุมตัวไปขังที่ห้องขังของศาล ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ต่อมาศาลอาญาก็ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ในวันเดียวกันนั้น วารุณีก็ถูกควบคุมตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
แล้วสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำของวารุณีเป็นอย่างไรบ้าง?
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทนาความเข้าเยี่ยมวารุณี โดยเธอระบุว่าอยากได้ยา [โรคไบโพลาร์] ซึ่งทางทนายความก็ฝากยาเข้าไปแล้ว แต่การรับยารักษาโรคในเรือนจำมีขั้นตอนปฏิบัติซึ่งเธอจะต้องเข้าพบจิตแพทย์ที่จะเข้าไปสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นั่นก็หมายความว่าในสัปดาห์นั้น เธอจะไม่ได้รับยาที่ปกติต้องทานเป็นประจำทุกวัน
เมื่อถามถึงความเป็นอยู่ด้านใน เธอก็เล่าว่าต้องปรับตัวหลายอย่าง เช่นต้องนอนคลุมโปง เพราะเรือนจำเปิดไฟสว่างทั้งคืน แต่เธอได้รับสิ่งของจำเป็นอย่างยาสีฟัน แปรงสีฟัน ชุดนอน 1 ชุด และชุดที่ใส่ออกไปพบทนายความในวันนั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ยังคงยกคำร้องที่ขอประกันตัววารุณี ระบุ “เหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
ทั้งนี้ ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563-5 กรฎาคมที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 252 คน จำนวน 271 คดี โดยในจำนวนนี้ ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วอย่างน้อย 72 คดี
นอกจากนี้ ศูนย์ทนายยังระบุอีกว่า คดี มาตรา 112 ตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่าน 2566 มีทั้งสิ้น 12 คดี ศาลยกฟ้อง 2 คดี และยังมีผู้ต้องขังอีก 2 รายคือ ทีปกร และวารุณีที่ยังถูกขังในเรือนจำ เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ โดยอ้างโทษสูงและกลัวหลบหนี ซึ่งใน 12 คดีนี้
– มีจำเลยสู้คดี 4 คดี (33.3%) ศาลยกฟ้อง 2 คดี, ไม่รอลงอาญา 2 คดี ในจำนวนนี้ไม่ได้ประกันตัวและถูกขังมาจนถึงตอนนี้ 1 ราย คือทีปกร
– จำเลยรับสารภาพ 8 คดี (66.7%) ศาลพิพากษาจำคุกทุกคดี, รอลงอาญา 6 คดี, ไม่รอลงอาญา 2 คดี ในจำนวนนี้ มี 1 รายที่ไม่ได้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์ คือ วารุณี
อ้างอิงจาก