“เราจะรู้ได้ยังไงว่า เบื้องหลังกำแพงสีขาวทุกคนอยู่ดีหรือปลอดภัย?” นี่คือข้อสังเกตจากทนายความที่ต้องพบเจอผู้คนในเรือนจำมาจำนวนมาก
หลังจากทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกส่งตัวไปเรือนจำ แล้วมีอาการป่วยในช่วงกลางดึกจนถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในคืนเดียวกันนั้น ก็ทำให้หลายคนออกมาตั้งข้อสังเกตถึง ‘สิทธิของผู้ต้องขัง-สิทธิของผู้ต้องหา’ กันมากขึ้น เกิดเป็นข้อเปรียบเทียบกรณีของผู้ต้องขังคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งก็อาจจะต้องกล่าวก่อนว่า สิทธิในการรักษาพยาบาลนั้นเป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังทุกคนต้องได้อยู่แล้ว
เมื่อสิทธิของผู้ต้องขังได้รับการพูดถึงอีกครั้ง ทั้งยังมีข้อสงสัยว่าทำไมผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคนถึงไม่ได้รับสิทธิตรงนี้ ทั้งๆ ที่สิทธิเหล่านั้น ก็เป็นสิทธิที่มีอยู่ The MATTER จึงได้ต่อสายหา ทราย—กุณฑิกา นุตจรัส หรือ ‘ทนายทราย’ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อพูดคุยถึงปัญหาสิทธิของผู้ต้องขังทางการเมืองในประเทศไทยที่เกิดขึ้น
กุณฑิกาเล่าให้ฟังว่า นักโทษทางการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นคดีมาตรา 112 อย่างเดียว และถ้าจะนิยามคำนี้ เธอก็ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า คือคนที่เข้าร่วมกิจกรรมหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นการตั้งคำถามกับรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การแสดงออก การไปม็อบ การเผา การครอบครองระเบิดหรือประทัดเพลิงหรือสิ่งเผาไหม้ในที่ชุมนุม หรือการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เช่นทำโพลก็ตาม
แล้วถ้าจะกลับมาพูดถึงสิทธิของผู้ต้องขังในคดีการเมือง กุณฑิกาก็เล่าให้ฟังว่า จริงๆ ก็สิทธิมีเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไทยก็ลงนามในภาคีหลายอย่าง ได้พัฒนาระบบกฎหมายบนกระดาษ มีข้อเขียนลายลักษณ์อักษรที่ดูดี ในทางโครงสร้างตัวบทกฎหมายก็ได้รับการออกแบบแล้วบัญญัติเอาไว้อย่างดี แต่เมื่อย้อนกลับมาดูในเชิงปฏิบัติ ก็อดไม่ได้ที่จะเกิดคำถามตามมาว่า แล้วผู้ต้องขังเหล่านั้น ได้รับสิทธิในเชิงปฏิบัติจริงหรือเปล่า
จากประสบการณ์การทำงานของกุณฑิกาในฐานะทนาความที่ต้องเจอกับผู้ต้องขังทางการเมืองมากหน้าหลายตา เธอก็บอกเลยว่า “ถ้าคุณเป็นคนไม่มีเงิน จะอยู่ลำบาก”
ยิ่งทวีความลำบากขึ้นไปอีกเมื่อคนคนนั้นเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองที่มีคู่ขัดแย้งเป็นรัฐ เพราะเมื่อย้อนกลับมาดูสิทธิของผู้ต้องหาที่เขียนเอาไว้นั้น ก็จะมีตั้งแต่ ตำรวจจะไม่มีสิทธิไปจับ ถ้ายังไม่ได้แสดงหมายจับ หรือกระทำความผิดซึ่งหน้า ฯลฯ ผู้ที่ถูกกล่าวหาก็มีสิทธิในการเข้าพบทนายความเป็นการส่วนตัว ผู้ต้องขังก็มีสิทธิได้รับสิทธิประกันตัวโดยทันทีอย่างรวดเร็ว
นั่นก็เป็นสิ่งที่บัญญัติเอาไว้เท่านั้น เพราะเมื่อตัดภาพมาในความเป็นจริง กุณฑิกาก็พบว่า ผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายๆ คนกลับไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว
“ในทางปฏิบัติ ทำให้เห็นว่าสิทธิของผู้ต้องหาในคดีการเมือง มันจำกัดในทางปฏิบัติมากกว่าที่เราเขียนกันไว้อย่างสวยหรู” กุณฑิกากล่าว
แล้วปัญหาตรงนี้เกิดจากอะไร? ส่วนตัวของกุณฑิกาก็มองว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจาก ‘การขาดการตรวจสอบ’ ในเรือนจำ ซึ่งกรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้เมื่อระบบมีปัญหา เพราะต่อให้กฎหมายจะเขียนดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถหาความยุติธรรมได้จากกระบวนการยุติธรรม ก็จะไม่มีใครเคารพกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเรือนจำ ตำรวจ หรือหน่วยงานรัฐเอง หากลอยนวลได้ก็จะไม่ได้รู้สึกว่าจำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบที่เขียน ไม่ทำตามก็ไม่ได้โดนลงโทษ
“อันนี้ในความรู้สึกทราย…ชนชาติหรือสังคมใดที่ระบบกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา มันมีเรื่องนี้ทั้งนั้น และมันไม่ใช่แค่ในเรือนจำ แต่มันตั้งแต่จับเขามาแบบไม่มีหมาย หรือเขาไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาเด็ดขาด จนเข้าเรือนจำ ซึ่งสิ่งนี้ก็มีมาตลอด” กุณฑิการะบุ
ปัญหาจริงๆ คือเรือนจำไม่ใช่สถานที่ที่คนเข้าไปตรวจสอบได้ โดยมีเหตุผลด้านความมั่นคง เช่นใครจะไปถ่ายรูปทุกซอกทุกมุมก็คงไม่ได้ เป็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยและกลัวมีคนหนี เป็นต้น ซึ่งเหตุผลนั้นก็ดี แต่กุณฑิกาก็มองว่า เมื่อไม่มีการตรวจสอบการทำงานก็ทำให้คนเกิดข้อสงสัยได้เหมือนกัน
รวมไปถึง เรื่องสิทธิการประกันตัวที่ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองหลายคนไม่ได้รับ กุณฑิกาก็ยกตัวอย่างเหตุผลของการไม่ให้ประกันตัวว่า ‘ระบุเหตุผลเป็นคดีที่มีโทษร้ายแรง’ ‘ไม่มีเหตุผลที่จะปล่อยตัว’ แต่ในทางปฏิบัติ คดีการเมืองหลายคดีไม่มีลักษณะอุกฉกรรจ์เช่นลักวิ่งชิงปล้นข่มขืน เพราะหลายครั้ง คดีการเมืองก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ จึงไม่ควรที่จะใช้เหตุผลว่าโทษร้ายแรงแบบนี้มาขังคนคนหนึ่งเอาไว้
แต่ในช่วงหลังมานี้ กุณฑิกาก็ระบุว่า ในคดีมาตรา 112 ศาลก็จะอนุญาตให้ประกันออกไปได้เลย แต่จะให้เงื่อนไขประหลาดๆ บางอย่าง เช่น ให้ติดกำไล EM, เรียกหลักประกันเงินสดที่สูงมาก สั่งให้อยู่บ้าน 24 ชั่วโมง, ห้ามชุมนุม, ห้ามก่อความวุ่นวายในสังคม, ห้ามกระทำการใดๆ ในทางที่ทำให้สถาบันพระมหากษริย์หรือทำให้ศาลเสื่อมเสีย ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้เป็นคำที่กว้างมากๆ จนไม่สามารถรู้ได้เลยว่าทำอะไรไปแล้วจะผิดเงื่อนไขบ้าง
กุณฑิกายังยกตัวอย่างเงื่อนไขที่ระบุว่า ‘ห้ามก่อความวุ่นวาย’ แล้วอะไรคือความวุ่นวาย?
อีกทั้ง คำสั่งหลายๆ ครั้งกุณฑิกาก็ระบุว่า มันยาวจนเกินครึ่งหน้ากระดาษ A4 ซึ่งหากนักกิจกรรมเหล่านั้นไปปราศรัยหรือร่วมกิจกรรมใดๆ ก็มีโอกาสที่จะถูกเรียกมาไต่สวนเพื่อถอนประกัน เพราะถือว่าได้กระทำการทำผิดเงื่อนไขที่ศาลเคยให้ไว้
เมื่อเป็นเช่นนั้น หลายครั้งนักกิจกรรมหลายคนก็ต้องกลับเข้าเรือนจำ แล้วก็ทำให้การยื่นประกันตนครั้งใหม่ก็มักจะถูก ‘ยกคำร้อง’ ไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยอ้างเหตุว่าเคยทำผิดเงื่อนไขที่ศาลสั่ง ซึ่งเงื่อนไขตรงนี้ กุณฑิกาก็มองว่าไม่ได้เป็นไปหลักกฎหมายอาญาด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี กุณฑิกาเองก็ยังไม่ได้หมดหวังกับเรื่องนี้ เพราะในส่วนของเรือนจำ เธอก็คิดว่ามันเป็นเรื่องที่คนต้องเข้าไปสู้แล้วก็พัฒนา
เช่นในกรณีที่ดูเหมือนจะเล็กๆ ที่มีนักกิจกรรมทางการเมืองเข้าไปในเรือนจำ แล้วออกมาบอกว่าต้องการยางรัดผม เพราะในเรือนจำต้องใช้หนังยางรัดถุงแกงมัดผม ภายหลัง เรือนจำก็ต้องเปลี่ยนแปลง และจนทุกวันนี้นักโทษก็มียางรัดผมที่ไม่ยางรัดถุงแกงใช้มัดผมแล้ว
หรืออย่างกรณีของทักษิณ ที่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล จนจุดประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ต้องขังตามมา กุณฑิกาก็ยืนยันให้เราฟังด้วยน้ำเสียงหนักแน่นเลยว่า ที่จริงแล้วนั่นคือสิทธิที่ผู้ต้องขังทุกคนควรได้รับ ไม่ควรมีใครแปลกใจที่มีคนได้ หรือเอาไปเทียบเคียงกับผู้ต้องขังทางการเมือง-นักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่เคยอดอาหารแล้วได้มา “จริงๆ แล้วเราควรจะพูดได้ว่าที่ทักษิณได้ ทุกคนในประเทศนี้ก็ได้แบบนี้”
“ทุกวันนี้ลักษณะของผู้ต้องขังทางการเมืองเปลี่ยนไป คิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณจะช่วยเรา เวลาจะอยู่ข้างเรา…สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ ก็คือสิ่งไหนที่มันดื้อดึงไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา พยายามฝืนความเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นมักจะอยู่ไม่ได้ ในเรื่องของสิทธิผู้ต้องหาเช่นกัน” กุณฑิกากล่าว