“ก็แค่ทำเรื่องปกติให้ปกติไม่ได้หรือ”
นี่คือเสียงของ ‘วารุณี’ ผู้ต้องขังจากคดีมาตรา 112 ที่กำลังอดน้ำ-อดอาหาร เพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสิทธิประกันตัว
ในวันนี้ (5 กันยายน) เวลาก็ได้ล่วงเลยมากว่า 2 สัปดาห์ที่วารุณีอดอาหาร แล้วที่ผ่านมา เธอต้องเผชิญกับอะไรบ้าง? The MATTER จึงได้สรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นเอาไว้ให้แล้ว
I. วารุณีคือใคร?
วารุณีคือผู้ต้องขังในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุโพสต์รูปภาพตัดต่อ ที่รัชกาลที่ 10 กำลังเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต
กรณีนี้ อัยการยื่นฟ้องวารุณีในข้อหามาตรา 112, เหยียดหยามศาสนา, และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยในวันแรกของการสืบพยานเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วารุณีตัดสินใจรับสารภาพในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 แต่ยังตั้งใจสู้ในฐานความผิดเหยียดหยามศาสนา
กระทั่งศาลแจ้งว่าวารุณีควรจะรับสารภาพข้อหาอื่นไปด้วย เพราะถ้าศาลมีคำพิพากษา ก็จะลงโทษในข้อหามาตรา 112 เพียงข้อหาเดียว เพราะมีโทษหนักสุด เธอจึงยอมรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาและตัดสินให้เธอรับโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา
หลังจากนั้นวารุณีก็ควบคุมตัวไปที่เรือนจำ ซึ่งทนายความก็ได้ยื่นขอประกันตัวเธอในวันเดียวกัน แต่ศาลก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยระบุว่า “…ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
II. เกิดอะไรขึ้นกับวารุณีหลังจากที่ถูกจำคุก?
1) หลังจากที่ศาลพิพากษาจำคุก ทนายความก็ได้ยื่นขอประกันตัววารุณีเรื่อยมา แต่ศาลก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ในวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา วารุณีก็ประกาศอดอาหารประท้วงคำสั่งศาล โดยระบุว่าจะดื่มเฉพาะน้ำนม เพราะทนไม่ให้ที่ศาลไม่ให้ประกันด้วยเหตุผลเดิมๆ จนเธอรู้สึกเหมือนถูกกลั่นแกล้ง และเธอก็เชื่อว่าการแสดงออกด้วยวิธีนี้คือหนทางเดียวที่ทำได้
2) แม้ว่าวารุณีจะประกาศอดอาหารเพื่อประท้วงคำสั่งของศาลที่ไม่ให้ประกันตัว แต่คำสั่งของศาลก็ยังไงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ในวันที่ 24 สิงหาคม วารุณีประกาศยกระดับด้วยการอดอาหารและน้ำ โดยจะจำกัดการดื่มน้ำไว้เฉพาะตอนที่ต้องกินยานอนหลับและยารักษาโรคอารมณ์สองขั้ว (Biporlar Disorder) เท่านั้น
นอกจากนี้ วารุณีแจ้งว่า ได้เซ็นเอกสารแสดงเจตจำนงไม่รับการรักษาพยาบาลไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม และมอบต่อเจ้าหน้าที่ในเรือนจำแล้ว เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าหากเกิดอะไรกับร่างกายและชีวิต เธอพร้อมยอมรับความเสี่ยงนั้น
3) ต่อมา ในวันที่ 30 สิงหาคม วารุณีถูกนำตัวไปพบแพทย์ที่ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากมีอาการอ่อนเพลียมาก และเมื่อแพทย์ตรวจร่างกาย ก็ตัดสินใจให้เธอแอดมิทอยู่ที่โรงพยาบาลทันที
4) ในวันที่ 31 สิงหาคม วารุณียอมจิบเกลือแร่เพียงเล็กน้อย ยังคงปฏิเสธการดื่มน้ำ ทานอาหาร และให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด ยังคงไม่ขับถ่าย โดยเธอยังแจ้งว่า แพทย์เป็นห่วงเรื่องไตวายและเรื่องการหายใจ เนื่องจากมีสภาวะเลือดเลือดเป็นกรด จนอาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทั้งยังมีค่าน้ำตาลที่ต่ำกว่าปกติ (ระดับน้ำตาลของคนปกติอยู่ที่ 70-100 มิลลิกรัม/เดชิลิตร)
อย่างไรก็ดี วารุณีไม่ประสงค์ที่จะรับการรักษาใดๆ จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ พร้อมกับเขียนบันทึกไว้ในสมุดว่า “ข้าพเจ้านางสาววารุณี วีระศักดิ์ ต้องการตรวจและรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ตามที่ข้าพเจ้าประสงค์”
5) จวบจนวันที่ 1 กันยายน ศาลอุทธรณ์ก็ยังคงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัววารุณีชั่วคราว เนื่องจาก “มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ในระหว่างอุทธรณ์มาหลายครั้ง ที่จำเลย (วารุณี) อ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตาม พ.ร.บ.ราชฑัณฑ์ เหตุตามคำร้องไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”
หลังจากทราบผลของคำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าว วารุณีก็กล่าวว่าเธอไม่หนีไปไหน “หนูมาจนสุดทางแล้ว ใครจะบอกอย่างไรก็แล้วแต่ว่าโทษหนึ่งปีจะเอาชีวิตมาทิ้งทำไม แต่โทษหนึ่งปีแล้วหนูจะต้องหนีทำไมเป็นสิบยี่สิบปี มันไม่ fair (ยุติธรรม) ก็แค่ทำเรื่องปกติให้ปกติไม่ได้หรือ”
6) วารุณีตัดสินใจยกระดับการประท้วงในวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ด้วยการปฏิเสธอาหารและน้ำ (Dry Fasting) รวมถึงเกลือแร่ และยาประจำตัวด้วย
7) อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (4 กันยายน) มีรายงานว่า ค่าน้ำตาลของวารุณีอยู่ที่ 89 “ซึ่งน่าสงสัยมาก ว่าค่าน้ำตาลกลับมาเป็นปกติ แต่แพทย์อธิบายว่าอาจจะเป็นเพราะร่างกายพยายามนำพลังงานส่วนต่างๆ มาใช้” ส่วนผลเลือดอื่นๆ ยังไม่ออก
วารุณียังคงมีอาการอ่อนเพลีย หายใจเร็ว อาการหูอื้อตลอดเวลา ตัวร้อน แต่เหงื่อไม่ออก
อย่างไรก็ดี วารุณียังเล่าอีกว่า เจ้าหน้าที่บอกว่าเธอคิดมาก ฟุ้งซ่าน เธอจึงกลับมาทานยารักษาไบโพลาร์ และจิบน้ำเพื่อทานยาเพียงวันละ 90-100 CC เท่านั้น
ส่วนทางด้านครอบครัวของวารุณีก็ได้เดินทางไปที่ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือขอให้ ส่งตัววารุณีไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ โดยญาติให้เหตุผลว่า เพราะทนไม่ไหวที่ต้องรอสอบถามข้อมูลในวันเวลาทำการ (จันทร์-ศุกร์) ทั้งที่วารุณีเป็นเคสเฝ้าระวัง
อย่างไรก็ดี เรื่องการขอย้ายไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แพทย์ได้ชี้แจงว่า หากมีความจำเป็น ต้องส่งไปโรงพยาบาลตำรวจตามขั้นตอน
นอกจากวารุณีที่อดอาหาร-อดน้ำเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวแล้ว ก็ยังมี ‘เวหา’ ผู้ต้องขังจากความผิดตามมาตรา 112 ที่กำลังอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมกับข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 3 ข้อ
– สส. เข้ามารับข้อเสนอ ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ จากผู้ต้องขังในเรือนจำ
– เรียกร้อง ‘คณะรัฐมนตรีชุดใหม่’ ออกมาแถลงความคืบหน้า และความเป็นไปได้ของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง
– เรียกร้อง ‘ศาล’ ให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดียังไม่สิ้นสุดเด็ดขาด และปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดีสิ้นสุดเด็ดขาดแล้ว
*หมายเหตุ: เมื่อเวลา 17.13 น. เฟซบุ๊ก ‘Warunee Weerasak’ รายงานว่า วารุณีกำลังถูกนำตัวส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ
อ้างอิงจาก