การนัดประท้วงหยุดงานหลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังกลุ่มคนทำงานในวงการฮอลลีวูดประท้วงหยุดงานกว่า 2 เดือน เพื่อเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรง และเรียกร้องความคืบหน้าของการชำระเงินส่วนที่เหลือเมื่อภาพยนตร์หรือรายการได้รับการฉายอีกครั้ง
นั่นจึงทำให้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความเห็นถึงประเด็นการนัดหยุดงานว่าเป็น ‘อาวุธที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนทำงาน’ เพราะเป็นการประกาศให้เห็นว่าถ้าต้องทำงานที่เป็นการกดขี่ ก็จะไม่ทำ “เราไม่ใช่ทาสที่ใครจะมาบังคับให้เราทำงานได้”
ในวันนี้ (17 กรกฎาคม) The MATTER จึงอยากชวนทุกคนไปดูกฎหมายบางข้อที่ทำให้การประท้วงหยุดงานของแรงงานไทยเป็นไปได้ยาก
เซีย จำปาทอง ส.ส.จากพรรคก้าวไกลที่ทำงานด้านแรงงานระบุว่า ที่ผ่านมาแรงงานถูกกีดกันการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน-การนัดหยุดงานมาตลอด มีแต่คนงานในโรงงานเดียวกันเท่านั้นที่ทำได้ตามกฎหมาย เนื่องจากมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 117 ที่วางหลักไว้ว่า ผู้ใดยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน ร่วมกันปิดงานงดจ้าง หรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขาย หรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใดๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาลหรือเพื่อข่มขู่ประชาชน ต้องระวางโทษ
อีกทั้ง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ยังกำหนดคำนิยามของ ‘การนัดหยุดงาน’ ว่าหมายถึง การที่ลูกจ้างทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ยอมทำงานให้กับนายจ้างเป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานระหว่างกันเท่านั้น ทั้งใน พ.ร.บ.นี้ยังมีการกำหนดขั้นตอนอีกว่า ต้องมีการแจ้งข้อเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ แล้วจึงเจรจากัน แต่ถ้าเจรจากันไม่ได้ก็จะเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงาน ต่อมาพนักงานจึงประนอมฯ จึงไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งถ้าหากไม่สำเร็จก็จะเกิด ‘ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้’ จึงจะสามารถนัดหยุดงานได้
ไม่เพียงเท่านั้น เพราะถ้าในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าการนัดหยุดงาน อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน รัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจ สั่งให้ลูกจ้างซึ่งนัดหยุดงานกลับเข้าทำงานตามปกติ, หรือจัดให้บุคคลเข้าทำงานแทนที่ลูกจ้างซึ่งมิได้ทำงานเพราะนัดหยุดงาน โดยนายจ้างต้องยอมให้บุคคลเหล่านั้นเข้าทำงาน และห้ามมิให้ลูกจ้างขัดขวางเช่นกัน
ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงานเคยอธิบายถึงการนัดหยุดงานของประเทศไทยไว้ว่า ย้อนกลับไปยังช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 การนัดหยุดงานเป็นสิ่งปกติ ที่ทำได้และถูกรับรองด้วยกฎหมาย “แต่พอหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการรัฐประหาร บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย…ประเด็นของแรงงานจึงหายไปพอสมควร รัฐกลัวการรวมตัวของแรงงานเหมือนผี ผีที่เขาสร้างขึ้นมาแล้วกลัวกันเอง”
หลังการรัฐประหารของคณะ รสช. เมื่อปี 2534 ก็มีการออกประกาศที่ทำให้ขั้นตอนการนัดหยุดงานของแรงงานภาคเอกชนทำได้ยากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลขณะนั้นก็ได้ออกกฎหมายแยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกไปจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับปี 2518 เพื่อแยกสลายทำลายความเป็นเอกภาพของฝ่ายแรงงาน
ศักดินา ยังระบุต่อว่ากฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่ออกมาบังคับใช้ในปี 2543 มาตรา 33 ยังห้ามพนักงานรัฐวิสาหกิจทำการนัดหยุดงานในทุกกรณี เช่นใน ปี 2552 เกิดอุบัติเหตุรถไฟตกรางจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคนเนื่องจากหัวรถจักรไม่สมบูรณ์ พนักงานรถไฟนำโดยสหภาพแรงงานจึงปฏิเสธที่จะปฏิบัติหน้าที่
จากกรณีนี้ก็นำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งท้ายที่สุดในเดือนมีนาคม 2561 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ผู้นำแรงงาน 7 คนต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเงิน 15 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย
รวมไปถึง หลังการรัฐประหารของคณะ คสช. ก็ยังเคยออกกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะออกมาบังคับ ทำให้การนัดชุมนุมประท้วงของฝ่ายแรงงานทำได้ยากขึ้น อีกทั้ง เมื่อมีการนัดหยุดงาน ก็ยังมีทั้งทหารและเข้าไปในเข้าไปในห้องเจรจาอ้างว่ามาดูแลความสงบ
กระทรวงแรงงาน ยังเคยออกประกาศวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 เรื่อง “ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน” โดยหนึ่งในข้อปฏิบัติคือ ห้ามมิให้นายจ้างปิดงาน หรือลูกจ้างนัดหยุดงาน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งต่อมาก็ยกเลิกไปแล้วเช่นเดียวกัน
ศักดินา ยังระบุอีกว่า แม้บางประเทศ กฎหมายให้สิทธินัดหยุดงานแต่ในทางปฏิบัติการนัดหยุดงานทำได้ยากมากเพราะมีการกำหนดขั้นตอนที่ยุ่งยากจนทำให้ไม่สามารถนัดหยุดงานจริงๆ ได้
“มีความพยายามสร้างช่องทางหรือกลไกอื่นๆ ขึ้นมาดักหน้า ดักหลัง เพื่อไม่ให้แรงงานไปถึงการใช้สิทธิดังกล่าว เช่นกำหนดให้มีการแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลานานมาก และต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมายกว่าจะมาถึงจุดที่คนงานจะสามารถใช้สิทธิในการนัดหยุดงาน เช่นให้มีคณะกรรมการเพื่อไกล่เกลี่ย ให้มีผู้ชี้ขาด หรือมีคณะอนุญาโตตุลาการขึ้นมาชี้ขาด การจะหยุดงานจะต้องขอมติจากเสียงข้างมาก โดยต้องลงคะแนนเสียงแบบลับ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้การนัดหยุดงานทำได้ยากมาก บางประเทศจะพยายามส่งให้ข้อพิพาทแรงงานไปสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่ยาวนานมาก ซึ่งส่งผลเสียกับอำนาจต่อรองของฝ่ายแรงงาน” ศักดินาระบุ
รวมไปถึง การนิยามสถานะของแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น พาร์ทเนอร์ ผู้ร่วมธุรกิจ คนงานอิสระ ฯลฯ ยังส่งผลให้สิทธิ สถานภาพ สวัสดิการ และสวัสดิภาพที่พวกเขาควรได้รับอยู่ในสถานะที่คลุมเครือ
“ในความเป็นจริง ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกจ้างหรือไม่ใช่ลูกจ้าง หากขึ้นชื่อว่าเป็นคนทำงาน คุณควรได้รับสิทธิที่พึงมีทั้งหลาย เพราะในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เขาพยายามที่จะกำหนดมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำขึ้นมา ไม่ว่าคุณจะทำงานประเภทไหน รัฐมีหน้าที่ทำให้คนทำงานในประเทศของตนไปถึงสิทธิเหล่านั้น แม้กฎหมายฉบับที่มีอยู่จะไม่ครอบคลุม รัฐก็มีหน้าที่จัดหากฎหมายฉบับอื่น มาตรการหรือกลไกอื่นๆ เข้ามาเพื่อให้คนทำงานเข้าถึงสิทธิเหล่านั้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายจะเปิดช่องให้สามารถนัดหยุดงานได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ดังนั้นหลายคนจึงเห็นว่า กลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการนัดหยุดงานขึ้นมาได้จริงๆ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก็คือการมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง
อ้างอิงจาก
nakhonsrithammarat.labour.go.th