สืบเนื่องจากกรณี Shopee ประเทศไทย เตรียมเลย์ออฟพนักงานร่วมกว่าร้อยชีวิต หลังจากเพิ่งมีการเลิกจ้างพนักงานมาแล้วในเดือนกรกฎาคมในอัตราส่วนคล้ายคลึงกัน และในช่วงเดียวกันคงมีอีกหลายบริษัทที่ตัดสินใจเช่นนี้ ก็คงไม่แปลกที่นายจ้างผู้ประกอบการร้านค้าจะตัดสินใจเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่มันก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามในประเด็นเชิงจริยธรรมที่เกี่ยวกับแรงงาน ความยากง่ายในการเลิกจ้าง ที่เป็นอยู่ตอนนี้มันยุติธรรมกับทุกฝ่ายจริงหรือไม่ ไหนจะกระบวนการทางกฎหมาย หรือภาพรวมของสังคมแรงงานเป็นอย่างไร การรวมตัวของ ‘สหภาพแรงงาน’ นั้นมีเรื่องติดขัดตรงไหน
หนึ่งในคำถามที่มันสงสัยกันคือ แล้วทำไมสหภาพแรงงานในไทยถึงไม่ได้เข้มแข็งหรือมีอำนาจในการต่อรองกับเหตุการณ์ใดๆ ในลักษณะเช่นนี้ ถ้าหากนี่เป็นประเทศที่มีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง
การเลิกจ้างพนักงานในลักษณะฟ้าผ่าแบบนี้จะมีผลกระทบอะไรต่อสังคม? และจะมีวิธีเยียวยาแรงงานเช่นไร? คำตอบอย่างง่ายและคงเป็นเรื่องที่ไม่แปลกไปเกินจะคาด คือ ทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหารนั้น มักตามมาด้วยความพยายามในการลดทอนคุณค่าของสหภาพแรงงานอยู่เสมอ อาทิ สมัยการรัฐประหารในยุค รสช. ปี พ.ศ.2534 มีการแก้ไขข้อกฎหมายแรงงานดั่งในแถลงการณ์ฉบับที่ 54 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกประเภทกลุ่มแรงงาน และยังทำให้การหยุดงานของแรงงานเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งในยุค คสช. ก็มีประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในปี พ.ศ.2558 หรือการที่เราแทบจะไม่สัมผัสได้ถึงความพยายามของกระทรวงแรงงานในการผลักดันให้ประเทศเราได้ลงนามในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ที่เป็นหลักประกันการรับรองสิทธิลูกจ้างทั้งไทยและต่างด้าวให้จัดตั้ง รวมตัว และต่อรองกับนายจ้างได้ หรือการจัดตั้ง ‘สหภาพแรงงาน’
ผลลัพธ์หนึ่งที่ชัดเจนของความพยายามอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร คือ ความยุ่งยากในการนัดหยุดงานของแรงงาน ตัวอย่างหนึ่งก็คือ เหตุการณ์ในปี พ.ศ.2551 ที่บริษัทเครือซีพีสั่งปลดฟ้าผ่าพนักงาน 25 คน หลังมีความพยายามตั้งสหภาพแรงงานสัมพันธ์ขึ้นมา หากสังเกตดูดีๆ ในกลุ่มนายทุนผู้ประกอบการนายจ้างยังมีการรวมตัวเป็นสมาคมพ่อค้า หรือเป็นหอการค้าต่างๆ นานา ที่บางทีก็ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้ปรับลดต้นทุนหรือพยุงราคาสินค้า และหลายครั้งรัฐบาลก็ดูจะรับฟังพวกเขาด้วย แต่ในขณะที่กลุ่มแรงงาน อย่าว่าแต่จะได้ออกมาเรียกร้องอะไร แค่การรวมตัวของสหภาพแรงงานเราก็ยังแทบไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันเสียทีเดียว
แต่ก่อนที่เราจะลงรายละเอียดไปไหนไกลมาก มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากชวนมาลองคิดกันดูนั่นคือ ชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางแตกต่างกันอย่างไร? หากคุณเป็นพนักงานประจำในออฟฟิศคุณเป็นชนชั้นใด หากคุณทำฟรีแลนซ์ล่ะ หรือเป็นลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ประกอบการ หรือนักลงทุน ฯลฯ เป็นไปได้มั้ยที่คนส่วนมากอยากจะนิยามตัวเองว่าเป็น ‘ชนชั้นกลาง’ มันคงไม่ได้แปลกอะไร เพราะคนส่วนมากก็ไม่ใช่คนรวยระดับท็อปของประเทศ และก็คงไม่เชื่อว่าตัวเองยากจนถึงขั้นด้อยโอกาส แต่บางทีนั่นแหละอาจเป็นปัญหา เพราะแนวคิดเรื่องชนชั้นอาจทำให้เราเข้าใจอะไรผิดๆ ไปกับคำว่า ‘แรงงาน’ หากคิดตามดู มันอาจเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้หลายคนอาจรู้สึกห่างเหินไม่เชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องนี้ พอขึ้นชื่อว่า ‘สหภาพแรงงาน’ มันก็ฟังดูเป็นเรื่องของชนชั้นแรงงาน ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นกลาง
ทีนี้เรามาดูที่นิยามของแรงงานบ้าง ซึ่งนักวิชาการจำนวนมากก็ให้ความหมายต่างกัน บ้างก็อาจกล่าวถึงแรงงานในและนอกระบบ บ้างก็อาจยกความเห็นของ คาร์ล มาร์กซ์ มาใช้โดยอ้างอิงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนและปัจจัยการผลิต คือ ถ้าครอบครองปัจจัยการผลิตก็เป็นนายทุน แต่ถ้าใช้แรงเพื่อแลกเงินก็เป็นแรงงาน ทีนี้หากเราดูตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานนิยามคำว่า แรงงานไว้ว่า “แรงงาน น. ประชากรในวัยทำงาน ไม่รวมถึงคนพิการ คนวิกลจริต นักเรียน นักศึกษา แม่บ้าน นักบวช ทหาร ผู้ต้องขังและผู้ประกอบกิจการเพื่อหากำไร; ความสามารถในการทำงานเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ กิจการที่คนงานทำในการผลิตเศรษฐทรัพย์ ผู้ใช้แรงงาน.”
ทีนี้เราก็อาจตีความได้ว่า ฟรีแลนซ์ พนักงานประจำ วิศวกรกินเงินเดือน นักออกแบบ หมอ และอาชีพอีกมากมายที่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจของประเทศซึ่งเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ในสังคม ล้วนแล้วก็คือแรงงานเหมือนกันนะ แต่มันก็ให้ความรู้สึกคัดค้านกับความคิดว่า “แต่ฉันเป็นชนชั้นกลาง ไม่ใช่ชนชั้นแรงงานซะหน่อย” อย่างที่เรียนไปว่า เรื่องนิยามของชนชั้นทั้งหลายนี้ นักวิชาการเองก็ยังไม่มีฉันทามติที่ชัดเจน ความคิดเรื่องใครเป็นชนชั้นแรงงาน ใครเป็นชนชั้นกลาง มันอาจเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ทำให้การรวมตัวกันของสหภาพแรงงานเป็นไปได้ยากก็ได้ หากคนจำนวนมากไม่ได้ตระหนักว่าต่อให้ตัวเองจะเป็นชนชั้นใด พวกเราหลายๆ คนก็ยังเป็นแรงงานอยู่ดี
แล้วสหภาพแรงงานมีประโยชน์อย่างไร เราจะได้อะไรจากการรวมกันตัว ถ้าให้ตรงตัวที่สุด วันนี้บางคนอาจเคยได้ยินไอเดียเรื่องการทำงาน 4 วัน (มีวันหยุด 3 วัน) ซึ่งอาจจะดีกว่าในแง่ของการพัฒนาประสิทธิผล (productivity) หรือความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ในการทำงาน และเกิดเป็นข้อถกเถียงกันว่าหยุดวันพุธกลางสัปดาห์หรือหยุดวันศุกร์สุดสัปดาห์ อันไหนให้ผลดีกว่ากัน ซึ่งเราคงไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องเหล่านี้เลย หากไม่มีสหภาพแรงงาน เผลอๆ วันเสาร์อาทิตย์เราก็อาจไม่ได้หยุดเสียด้วย นับเฉพาะในประเทศไทย วันลาคลอด สิทธิในการเข้ารับรักษา หรือลาป่วย การได้ค่าแรงเยียวยาเมื่อไม่มีงานทำ หรือสิทธิอื่นๆ ก็คงหายไป หากกลุ่มแรงงานในอดีตไม่เคยต่อสู้ให้เกิดเรื่องเหล่านี้ ดั่งคำกล่าวที่เคยได้ยินมาในแทบทุกกระบวนการเรียกร้อง “สิทธิเป็นสิ่งที่เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา มิใช่เกิดจากการร้องขอ หรือคาดหวังว่าผู้มีอำนาจจะหยิบยื่นให้เราโดยไม่ทำอะไร”
และเพราะลึกๆ แล้ว ผมเชื่ออย่างใจจริงว่า เราทั้งหลายที่เป็นผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ต่างมีสำนึกในการต่อสู้และเรียกร้องเพื่อให้เกิดความยุติธรรม หากมีช่องทางให้เราเข้าถึงมันได้ ยกตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ทัวร์ลงในโลกออนไลน์ ทั้งร้านค้า ผู้ประกอบการ นายจ้างที่หากปฏิบัติไม่ดีกับลูกจ้าง หากเกิดเป็นกระแสขึ้นมา หลายต่อหลายคนก็พร้อมจะเข้าไปถล่มคอมเมนต์ติเตียนวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งๆ ที่จะคิดว่าเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องของตัวเองก็ยังได้ มันก็พอจะให้เห็นว่าสำนึกในการปฏิเสธความอยุติธรรมพวกเรายังมีอยู่ จริงอยู่ว่า การกระทำอะไรเหล่านี้อาจไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบสังคมแบบโครงสร้าง เป็นเพียงบทลงโทษทางสังคมต่อปัจเจกบุคคล เป็นคู่กรณีไป แต่เพียงเสี้ยวหนึ่งของความรู้สึกไม่อยากอยู่เฉยต่อเหตุการณ์เหล่านี้ ผมก็เชื่อว่า มันก็พอจะเป็นความหวังได้บ้างแล้ว
ท้ายที่สุด ผมคงไม่พูดถึงความถูกผิด หรือยุติธรรมหรือไม่ เกี่ยวกับการที่ห้างร้านค้าผู้ประกอบตัดสินใจปลดพนักงานแบบฟ้าผ่า เรื่องนี้เราคงโต้แย้งถกเถียงในเชิงจริยธรรมได้อีกมาก แต่อย่างน้อยๆ ผมเชื่อว่าพนักงานเหล่านั้นก็คือสมาชิกครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ที่ตอนนี้อาจจะกำลังเครียดกับการหางานใหม่ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ในช่วงนี้ และกังวลเรื่องเงินเยียวยาในระหว่างหางานใหม่ ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งในสังคมของเรา และเราสามารถมีส่วนร่วมด้วยได้จากการเพิ่มความตระหนักรู้ และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงาน
หากสนใจสมัครสหภาพคนทำงานเข้าได้ที่ลิงก์นี้เลย : cutt.ly
อ้างอิงข้อมูลจาก
- ‘3 เหตุผล’ ถึงเวลาไทยต้องลงนาม ‘ILO 87 และ 98’ (ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และราตรี ประสมทรัพย์, 20 ธันวาคม 2019) tdri.or.th
- สหภาพแรงงานไทยที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวในสังคม (นภาพร อติวานิชยพงศ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน) ตีพิมพ์ครั้ง 1 พฤศจิกายน 2561. library.fes.de
- บริษัทเครือซีพีสั่งปลดฟ้าผ่าพนักงาน 25 คนหลังตั้งสหภาพแรงงานสัมพันธ์ (MGR Online, 11 มี.ค. 2551) mgronline.com
- นิยาม “แรงงาน” อย่างที่ควรจะเป็น เพื่อมองคนให้เป็นคน (พจนา วไล, 02 มิถุนายน 2554) prachatai.com
- แนวคิดว่าด้วยชนชั้นกลางในสังคมไทย (ศิริพร ยอดกมลศาสตร์ วารสารสังคมศาสตร์) ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 หน้าที่ 143-156 library.polsci.chula.ac.th
- รวมแถลงการณ์ ประกาศ ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2534 (พัธนิยา ดวงรัตน์., nd) dl.parliament.go.th
Illustration by Manita Boonyong