ชายผู้ฆ่าคนบริสุทธิ์ไปนับแสน แต่ก็ช่วยคนที่ไม่สมควรตายได้นับล้าน!
แม้จะเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่ 12 ของผู้กำกับที่หลายคนเรียกกันเล่นๆ ว่า ‘เสด็จพ่อ’ แต่จริงๆ แล้ว Oppenheimer ก็เพิ่งจะเป็นหนังอัตชีวประวัติเรื่องแรกของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) เท่านั้น
ย้อนกลับไปเกือบ 2 ทศวรรษ โนแลนเคยหมายมั่นปั้นมือว่าจะทำหนังชีวประวัติของ โฮเวิร์ด ฮิวจ์ส (Howard Hughes) มหาเศรษฐีจอมมุทะลุ ทว่าในเวลาเดียวกันนั้นเอง ผู้กำกับชั้นครูอย่างมาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ก็ดันชิงเล่าเรื่องของมนุษย์คนนี้ปาดหน้า หรือกระทั่งใน Dunkirk ที่แม้จะสร้างจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง ก็ยังไม่ได้จับภาพไปที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ จึงทำให้การมาถึงของ Oppenheimer เป็นที่น่าจับตาของทั้งแฟนคลับโนแลนและผู้ที่สนใจในแวดวงวิทยาศาสตร์ทั่วโลก
Oppenheimer คือนามสกุลของผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Father of Atomic Bomb’ หรือ ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’ โดยชื่อเต็มๆ ของเขาคือ จูเลียส โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (Julius Robert Oppenheimer) นักวิทยาศาสตร์เชื้อสายเยอรมันที่เติบโตในสหรัฐอเมริกา และเปลี่ยนชะตากรรมของโลกทั้งใบในเวลาต่อไป
ออพเพนไฮเมอร์ถูกยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก ปี 1916 กับวัยเพียง 12 เขามีความเข้าใจทางด้านฟิสิกส์และเคมีในระดับยอดเยี่ยม ถึงขนาดได้รับการเชื้อเชิญจากสมาคมแร่วิทยาแห่งนิวยอร์กให้ไปบรรยาย โดยที่สมาชิกสมาคมไม่รู้เลยสักนิดว่าชายที่ถูกเชิญยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมเท่านั้น
ในวัยเพียง 19 ว่าที่นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ในสาขาวิทยาศาสตร์เคมี โดยเรียนได้ดีในทุกรายวิชา ทั้งยังสามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาครองด้วยระยะเวลาเพียง 3 ปี และนอกเหนือจากความเก่งแล้ว ออพเพนไฮเมอร์ก็เฮงสุดๆ เพราะจบมาในยุคสมัยที่ความรู้ด้านฟิสิกส์กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน แถมประจวบเหมาะกับการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 วิทยาการวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งถูกคาดหวังว่าอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยย่นระยะเวลาสงครามให้สั้นลง และก็เป็นตอนนั้นเองที่ออพเพนไฮเมอร์เข้ามามีบทบาทในเรื่อง
แม้จริงๆ จะเป็นชาวเยอรมัน แต่ด้วยความที่ถือสัญชาติและอาศัยอยู่ในอเมริกามาโดยตลอด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ออพเพนไฮเมอร์ในบทบาทอาจารย์ฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ จะถูกชักชวนมาร่วมโปรเจ็กต์ลับที่ฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งใจใช้โต้กลับกองทัพนาซีของฮิตเลอร์ โดยโปรเจ็กต์ดังกล่าวถูกเรียกว่า ‘Manhattan Project (โปรเจ็กต์แมนฮัตตัน)’
เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเบอร์ในตำแหน่งผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทำการระดมพลนักวิทยาศาสตร์หัวกะทิหลายสิบชีวิตเข้ามาช่วยพัฒนายุทโธปกรณ์ จนในที่สุด ผลการทดลองที่ทุกคนทุ่มเทแรงใจก็ออกผล และผลลัพธ์ของมันก็น่ากลัวในระดับที่ไม่มีใครในยุคนั้นจินตนาการได้
‘ระเบิดปรมาณู’ หรือ ‘Atomic Bomb’ ถูกตัดสายสะดือโดยชายที่ชื่อออพเพนไฮเมอร์ เขาตระหนักดีว่าอาวุธที่เขาและทีมร่วมพัฒนาจะสามารถกำหนดชะตากรรมของสงครามได้ในเสี้ยววิ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็รู้อย่างแจ่มชัดว่าเทคโนโลยีที่ถือครองอยู่จะเป็นอันตรายร้ายแรงเกินกว่าที่มนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นเผ่าพันธุ์ไหนควรเผชิญ
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์สหรัฐกำลังตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก กองทัพของอเมริกา โดยเฉพาะบรรดานายพลก็เห็นชอบที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการต่อสู้โดยไม่มีข้อโต้แย้ง และปลายทางก็เป็นอย่างที่ทุกคนรู้กันดี นั่นคือภาพการทำลายล้างบนเกาะฮิโรชิม่าและนางาซากิของประเทศญี่ปุ่น ที่กลายเป็นความบอบช้ำซึ่งเตือนใจมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยถึงความเลวร้ายของสงครามและอาวุธนิวเคลียร์
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 200,000 คน แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็ช่วยให้สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงทันทีอย่างที่ออพเพนไฮเมอร์คาดการณ์ไว้
ชีวิตที่เหลือของบิดาแห่งระเบิดปรมาณูคือการจมอยู่กับความรู้สึกผิด แม้จะรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำรักษาคนได้หลายชีวิต แต่มันก็คร่าครอบครัวของผู้บริสุทธิ์ไปอย่างไม่น่าให้อภัย ออพเพนไฮเมอร์จึงตัดสินใจรณรงค์ต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์จวบจนลมหายใจสุดท้ายของตัวเอง
เรื่องราวของออพเพนไฮเมอร์เตะตายอดผู้กำกับเข้าอย่างจัง โดยโนแลนเผยว่าได้นำหนังสือเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์อย่าง American Prometheus: The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ความยาว 180 นาที โดยคาดว่าเรื่องราวจะครอบคลุมตั้งแต่ช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 จนไปจบที่การสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น หรือพูดง่ายๆ คือน่าจะพาผู้ชมไปสำรวจตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทดลองจวบจนวันสุดท้ายที่ต้องอยู่กับความรู้สึกผิดของออพเพนไฮเมอร์
ดูตัวอย่าง Oppenheimer ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=uYPbbksJxIg
หนังเข้าฉายแล้ววันนี้ทุกโรงภาพยนตร์
อ้างอิงจาก
https://ahf.nuclearmuseum.org/ahf/profile/j-robert-oppenheimer/
https://www.imdb.com/name/nm0634240/