ขณะนี้ #NoBarbenheimer กำลังติดเทรนด์ในโลกโซเชียล ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ในแท็กนี้มักจะเป็นคนญี่ปุ่น โดยประเด็นหลักๆ ที่พวกเขาพูดคุยกันก็คือ พวกเขารู้สึกไม่ค่อยพอใจในการตลาดของแอคเคาท์หลักของภาพยนตร์บาร์บี้ (Barbie) ที่มักจะนำออปเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) มาโปรโมตร่วมกัน จนเกิดปรากฏการณ์บาร์เบนไฮเมอร์ (Barbenheimer) ในที่สุด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว #NoBarbenheimer เริ่มติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ญี่ปุ่น โดยบางคนวิจารณ์แนวคิด Barbenheimer ว่าทำให้เหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณูดูไม่สำคัญ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่เคยถูกโจมตีด้วยระเบิดนี้ และยังถูกโจมตีถึง 2 ครั้งที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ
ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่พอใจ คือ การโปรโมทผลงานของแอคเคาท์อย่างเป็นทางการของบาร์บี้หรือ Barbie Movie นั้นเต็มไปด้วยการตอบกลับเชิงบวกต่อมีมที่เกี่ยวกับระเบิดปรมาณูของแฟนๆ เช่น โปสเตอร์ที่ตัดต่อผมของบาร์บี้ให้เป็นเมฆรูปเห็ด (ควันไฟ) หรือโปสเตอร์บาร์บี้ที่มีพื้นหลังเป็นเปลวเพลิง
อย่างไรก็ดี วอร์เนอร์บราเธอส์ญี่ปุ่น (Warner Bros. Japan) ออกมาวิจารณ์การกระทำดังกล่าวแล้ว โดยพวกเขาระบุว่า การโปรโมทในลักษณะนี้ถือเป็นการไม่ให้เกียรติความรู้สึกของผู้อื่น และยังมีการเผยแพร่คำแถลงการณ์ซึ่งมีใจความว่า
“ตั้งแต่ภาพยนตร์ Barbie และ Oppenheimer เข้าฉายพร้อมกันเมื่อไม่นานมานี้ ผู้คนจำนวนมากก็ต่างแนะนำว่าต้องรับชมทั้ง 2 เรื่องพร้อมกัน จนเกิดปรากฏการณ์ ‘Barbenheimer’ แต่นี่เกิดจากความเห็นของคนทั่วไป แต่การที่แอคเคาท์หลักของ Barbie นำสนับสนุนปรากฏการณ์อย่างชัดเจน ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ดังนั้นเราจึงขอให้สำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ ช่วยโปรโมทอย่างเหมาะสม และเราต้องขออภัยต่อการกระทำที่ไม่รอบคอบเหล่านี้”
ส่งผลให้ในขณะนี้ทวิตเตอร์ได้เสริมข้อความต่อโพสต์ที่กล่าวถึงเหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่นว่า “เมื่อเวลา 08.15 น. ของวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ระเบิดปรมาณูถูกทิ้งลงที่ฮิโรชิมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ซึ่งเป็นการทำลายล้างและการสังหารหมู่ผู้คนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว”
ทั้งนี้ Barbie มีกำหนดเข้าฉายที่ญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคมนี้ แต่ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ฮอลลีวูดรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นยังไม่ประกาศวันฉายของ Oppenheimer แต่ได้รับการยืนยันว่าจะฉายแน่นอน ถึงแม้จะมีเนื้อหาที่ละเอียดอ่อนก็ตาม เพราะญี่ปุ่นมักฉายภาพยนตร์ต่างประเทศที่บรรยายถึงเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาโดยตลอดเพราะผู้คนให้ความสนใจ
อ้างอิงจาก