“ข้าฯ กลายเป็นทูตมรณะผู้หยิบยื่นความตาย เป็นผู้ทำลายโลกพิภพทั้งมวล”
คำกล่าวจากนักวิทยาศาสตร์และนักฟิสิกส์ทฤษฎีชื่อก้องโลก เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) ผู้เป็นเจ้าของฉายา ‘Father of Atomic Bomb’ หรือ ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’ จากโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
นั่นคือโครงการผลิตระเบิดปรมาณูที่เป็นความลับในทีแรก แต่ต่อมาทั่วโลกก็รู้จักกันดี หลังจากที่กองทัพสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูกลงที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิในญี่ปุ่น
เรื่องราวนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer (2023) จากผู้กำกับแห่งยุค คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) สร้างปรากฏการณ์และทำยอดขายทั่วโลกไปแล้ว 400 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับคำวิจารณ์ว่าเป็นตัวเต็งเข้าชิงรางวัลอีกมากมาย
แต่ท่ามกลางบุคลากรนับพันในโครงการแมนฮัตตันที่ร่ายเรียงกันปรากฏในภาพยนตร์ของโนแลนนั้น กลับมี ‘ผู้หญิง’ อยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น และแม้ว่าในช่วงเวลานั้น ผู้หญิงจะเผชิญกับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมมากหมาย แต่ความจริงแล้ว ในโครงการแมนฮัตตันก็มีผู้หญิงร่วมทีมอยู่ด้วยหลายร้อยคน ไม่ว่าจะเป็นนักเคมี นักฟิสิกส์ ช่างเทคนิค เลขา บรรณารักษ์ และอื่นๆ อีกมากมาย
เราจึงอยากชวนทุกคนมาดูเรื่องราวของ ‘ผู้หญิง’ ที่อาจเล่าถึงไม่หมดในหนังเรื่อง Oppenheimer แต่ล้วนมีบทบาทสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อโครงการแมนฮัตตัน โครงการผลิตระเบิดปรมาณูที่ทำให้ทั่วโลกสั่นสะเทือนและถูกขนานนามว่าเป็นตัวยุติสงครามโลกครั้งที่ 2
ลิลลิ ฮอร์นิ่ง (Lilli Hornig)
จากนักพิมพ์ดีด สู่นักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยเรื่องเคมีพลูโตเนียมและเลนส์กันระเบิดแรงสูง ในโครงการแมนฮัตตัน
ท่ามกลางนักวิทยาศาสตร์ชายจำนวนมากในโครงการแมนฮัตตันใน Oppenheimer เราจะได้ ลิลลิ ฮอร์นิ่ง (Lilli Hornig) หญิงสาวผู้ร่วมทีมที่ปรากฏออกมาในบทบาทของ ‘นักพิมพ์ดีด’ ประจำห้องปฏิบัติการลอสอะลามอส (Los Alamos) โดยออพเพนไฮเมอร์องว่า การให้ภรรยาของนักวิทยาศาสตร์มาเป็นผู้รับหน้าที่นี้จะง่ายกว่าการไปคัดเลือกคนนอก เพราะภรรยาของนักวิทยาศาสตร์นั้นล้วนผ่านการตรวจเช็กความปลอดภัยพอที่จะเข้าถึงข้อมูลลับได้
อย่าเพิ่งโวยวายว่า “อ่าว ก็มีคนนี้อยู่ในหนังนี่” เพราะแม้ว่าเธอจะมีตัวตนในภาพยนตร์ แต่ความจริงแล้ว ฮอร์นิ่งเป็นมากกว่านักพิมพ์ดีด เธอยังมีทักษะวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่น เพราะหลังจากร่วมโครงการในฐานะนักพิมพ์ดีด เธอยังได้ทำงานกับกลุ่มที่วิจัยเคมีพลูโตเนียมด้วย ซึ่งหลังจากทีมร่วมกันวิจัยพลูโตเนียมนานหลายเดือนแล้วพบว่าพลูโตเนียม-240 ที่ทุกคนกำลังศึกษากันนั้น มีฤทธิ์มากกว่าพลูโทเนียม-239 จึงทำให้ผู้หญิงถูกห้ามร่วมวิจัยต่อไป เนื่องด้วยความกังวลว่า พลูโตเนียม-240 อาจส่งผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์ได้
ดังที่เราเห็นการถกเถียงแว็บผ่านในหนัง Oppenheimer ฮอร์นิ่งย้ำว่าเธอไม่เห็นด้วยกับการกันผู้หญิงออกจากการวิจัยเพราะเรื่องนี้ และย้อนถามกลับไปว่า มันอาจจะส่งผลกระทบกับผู้ชายมากกว่าด้วยซ้ำ
“เห็นได้ชัดว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับความเสียหายของระบบสืบพันธุ์” ฮอร์นิ่งกล่าว “ฉันพยายามชี้ให้เห็นว่า [ผู้ชาย] อาจอ่อนแอกว่าฉัน แต่มันไม่ได้ผลเดาว่าฉันเองจัดการเรื่องแบบนั้น [การโน้มน้าว] ไม่เก่งนัก”
ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังร่วมการพัฒนาเลนส์กันระเบิดแรงสูง และเป็นหนึ่งในผู้ที่ลงนามในคำร้องที่ห้ามการใช้ระเบิดลูกแรกในสงคราม แต่ให้ใช้บนเกาะที่ไม่มีคนอาศัยอยู่เพื่อเป็นการสาธิต – ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์
หลังจากจบโครงการนั้น ฮอร์นิ่งได้กลายเป็นอาจารย์สอนวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) และเป็นประธานแผนกวิชาเคมีที่ Trinity College รวมถึง เป็นผู้อำนวยการผู้ก่อตั้ง HERS (บริการทรัพยากรการศึกษาระดับอุดมศึกษา) ซึ่งส่งเสริมการวิจัยเรื่องความเสมอภาคทางเพศและโปรแกรมความเป็นผู้นำสำหรับผู้หญิง และเป็นประธานการวิจัยของคณะกรรมการเพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิงที่ฮาร์วาร์ดอีกด้วย
ประวัติที่น่าสนใจของเธอนี้เอง ที่ทำให้เราอยากนับรวมมาเล่าเพิ่มเติมจากเนื้อหาที่ภาพยนตร์อาจไม่ได้พูดถึง
มาเรีย เกิปเปิร์ต เมเยอร์ (Maria Goeppert Mayer)
ผู้ศึกษาไอโซโทปของยูเรเนียมและการแยกไอโซโทปด้วยปฏิกิริยาโฟโตเคมี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโครงการแมนฮัตตัน และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปี 1963
ในฐานะลูกคนเดียวของนักวิชาการรุ่นที่ 6 มาเรีย เกิปเปิร์ต เมเยอร์ (Maria Goeppert Mayer) ถูกคาดหวังให้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย “พ่อของฉันบอกว่า ‘อย่าโตไปเป็นผู้หญิง’ และในความหมายของเขาคือ ‘แม่บ้าน’”
การเป็นแม่บ้านไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะผู้หญิงทุกคนควรมีทางเลือกตามใจตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในช่วงเวลานั้นผู้หญิงหลายคนถูกขีดเส้นให้เป็น ‘แม่บ้าน’เท่านั้น – การมีโอกาสเข้าถึงและเลือกเส้นทางที่ต่างจากกรอบที่สังคมกำหนด จึงเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย
เห็นได้ชัดจากปี 1924 ที่เกิปเปิร์ต เมเยอร์เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยเยอรมนีมีนักเรียนหญิงน้อยกว่า 1 ใน 10 คนเสียด้วยซ้ำ
ตลอดเวลา 3 ทศวรรษ เกิปเปิร์ต เมเยอร์ติดตาม โจเซฟ เมเยอร์ (Joseph Mayer) สามีของเธอซึ่งเป็นนักเคมีไปยังมหาวิทยาลัย Johns Hopkins, มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) และมหาวิทยาลัยชิคาโก้ (University of Chicago) ในแต่ละมหาวิทยาลัย เธอทำงานเป็น ‘สมาชิก’ หรือ ‘ผู้ร่วมวิจัย’ หรือ ‘รองศาสตราจารย์อาสาสมัคร’ ด้วยความมุ่งมั่น แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนให้เงินเดือนหรือตำแหน่งเต็มเวลาแก่เธอเลย
และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีโครงการแมนฮัตตันเกิดขึ้น เกิปเปิร์ต เมเยอร์ ทำงานอยู่ที่ห้องปฏิบัติการ Substitute Alloy Materials (SAM) ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เพื่อดำเนินการวิจัยลับสุดยอดเพื่อเสริมสร้างยูเรเนียมสำหรับระเบิดปรมาณู เกิปเปิร์ต เมเยอร์ค้นคว้าเรื่องคุณสมบัติทางเคมีและอุณหพลศาสตร์ของยูเรเนียม เฮกซะฟลูออไรด์ และตรวจสอบความเป็นไปได้ในการแยกไอโซโทปด้วยปฏิกิริยาโฟโตเคมี
จากนั้นในปี 1945 เธอย้ายไปลอสอะลามอสเพื่อทำงานร่วมกับเอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ (Edward Teller) (ซึ่งต่อมาถูกยกย่องว่าเป็นผู้ให้กำเนิดระเบิดไฮโดรเจนของสหรัฐ) ในการพัฒนาระเบิดขั้น ‘สุดยอด’
อย่างไรก็ดี เกิปเปิร์ต เมเยอร์ ไม่ได้รู้สึกดีนักกับการทำงานนี้ เพราะแม้ว่าเธอจะต่อต้านฮิตเลอร์ แต่ก็กังวลว่าอาวุธที่โครงการกำลังพัฒนาอยู่นั้น อาจถูกใช้ฆ่าเพื่อนและครอบครัวชาวเยอรมันของเธอได้
หลังสงครามโลก เธอได้รับข้อเสนอให้ทำงานพาร์ทไทม์ที่ Argonne National Laboratory ซึ่งเป็นศูนย์ฟิสิกส์นิวเคลียร์ ซึ่งแม้ว่าตอนแรกเธอจะทักท้วงว่าไม่ได้มีความรู้ด้านนี้เลย แต่ในช่วงต้นวัย 40 ปี เกิปเปิร์ต เมเยอร์ ก็ได้พัฒนาคำอธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างนิวเคลียสของอะตอม เพราะจากการตรวจสอบความเสถียรที่แปลกประหลาดของไอโซโทปบางชนิด เธอพบว่าหากนิวเคลียสมีจำนวนโปรตอนหรือนิวตรอน 2, 8, 20, 28, 50, 82 และ 126 มันมักจะไม่สลายตัวและมีจำนวนมากขึ้นเกินกว่าแบบจำลองที่มีอยู่จะอธิบายได้ – นำไปสู่สมมติฐานว่า ภายในนิวเคลียส โปรตอนและนิวตรอนถูกจัดเรียงเป็นชุดของชั้นนิวคลีออน เหมือนกับหัวหอม
หลังจากเผยแพร่ทฤษฎีนี้ เกิปเปิร์ต เมเยอร์ พบว่า ฮานส์ เจนเซน (Hans Jensen) ก็ศึกษาเรื่องนี้อยู่เช่นกัน และได้ตีพิมพ์ทฤษฎีร่วมกันในปี 1955 ซึ่งเป็นผลให้ทั้งคู่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1963
เมื่อถึงจุดนั้นในที่สุดเธอก็เป็นศาสตราจารย์เต็มตัว มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก จ้างเกิปเปิร์ต เมเยอร์ ในปี 1960 กว่าทศวรรษหลังการค้นพบที่ทำให้เธอได้รางวัลโนเบล และ 30 ปีให้หลังจากที่เธอเริ่มอาชีพนักวิทยาศาสตร์
ลีโอนา วูดส์ มาแชล ลิบบี้ (Leona Woods Marshall Libby)
นักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมทีมสร้าง Chicago Pile ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างระเบิดปรมาณูของโครงการแมนฮัตตัน
ผู้หญิงอีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในโครงการแมนฮัตตันคือ ลีโอนา วูดส์ มาแชล ลิบบี้(Leona Woods Marshall Libby) ซึ่งต่อมาจะรู้จักกันในชื่อลีโอนา วูด มาร์แชล (Leona Woods Marshall) และลีโอนา มาร์แชล ลิบบี้ (Leona Marshall Libby)
เธอเรียนจบชั้น ม.ปลายตั้งแต่อายุ 14 ปี และเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีสาขาเคมีจากมหาวิทยาลัยชิคาโกเมื่ออายุ 19 ปี และเมื่ออายุ 23 ปี ลีโอนาก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านสเปกโทรสโกปีระดับโมเลกุล
พอจบการศึกษาปริญญาเอก ลีโอนาก็ได้เข้าร่วมทีมของเอนรีโก แฟร์มี (Enrico Fermi) ในมหาวิทยาลัยชิคาโก เพื่อสร้างเครื่องตรวจจับโบรอนฟลูออไรด์สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องแรกของโลก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Chicago Pile 1 รวมถึงทำงานเพื่อสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่แบบยั่งยืน (self-sustaining chain reaction) ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการสร้างระเบิดปรมาณู
ผลจากการทำงานใกล้ชิดสารกัมมันตภาพรังสี ทำให้ร่างกายของลีโอนาดูดซับรังสีไว้มากจนจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของระดับปกติ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าอาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของเธอและเซลล์ไข่ของเธอได้
ต่อมา ลีโอนาแต่งงานกับนักฟิสิกส์ชื่อจอห์น มาร์แชล (John Marshall) และตั้งครรภ์ในปี 1943 เธอตัดสินใจเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับไม่ให้หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ Chicago Pile โดยมีแฟร์มีเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด เธอสวมชุดเอี๊ยมหลวมๆ เข้าไปในอาคารปฏิกรณ์ อาเจียนช่วงเช้าในห้องน้ำหญิง แต่ก็ยังมุ่งมั่นทำงานต่อไป แล้วก็ให้กำเนิดลูกชายที่โรงพยาบาลในปี 1944
งานของเธอในปฏิบัติการ Chicago Pile ถือเป็นการปูทางไปสู่การสร้างระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ใช้ในทิ้งบอมบ์ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ – ตามความเห็นของลีโอนาที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อในภายหลัง เธอมองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น เพื่อ ‘ยุติ’ สงคราม
ความเชี่ยวชาญของลีโอนาในการออกแบบเสาเข็มนิวเคลียร์ทำให้เธอได้รับมอบหมายงานให้ดูแลการดำเนินงานและการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สำหรับผลิตพลูโทเนียมในเมืองแฮนฟอร์ด รัฐวอชิงตัน นอกจากนี้ ลีโอนายังได้รับทุนที่สถาบันการศึกษานิวเคลียร์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งปัจจุบันคือสถาบันเอนรีโก แฟร์มี (Enrico Fermi Institute) และสถาบันเพื่อการศึกษาขั้นสูงในพรินซ์ตัน รวมถึงได้สอนในมหาวิทยาลัยหลายอีกหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยนิวยอร์กและ UCLA
ลีโอนาให้กำเนิดลูกชายอีกคนหนึ่งกับสามีคนแรก ก่อนทั้งคู่จะหย่าร้างกัน แล้วในปี 1966 เธอก็แต่งงานใหม่กับ วิลลาร์ด ลิบบี (Willard Libby) เพื่อนนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานร่วมกันในโครงการแมนฮัตตัน
ท้ายที่สุด ลีโอนาเสียชีวิตในปี 1986 ขณะอายุ 67 ปี โดยก่อนสิ้นลมหายใจ ลีโอนาได้ตีพิมพ์เอกสารทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 200 ฉบับ ฉบับสุดท้ายคือเรื่องการสำรวจวัตถุกึ่งดาวฤกษ์ – ใจกลางดาราจักรขนาดยักษ์ที่สว่างไสวซึ่งขับเคลื่อนโดยหลุมดำมวลมหาศาล – แสงของแสงนั้นจะทำให้อะตอมที่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ดูเหมือนแสงวาบเล็กๆ ในจักรวาล
เอลิซาเบธ ริดเดิล เกรฟส์ (Elizabeth Riddle Graves)
หนึ่งในนักฟิสิกส์ไม่กี่คนในโครงการแมนฮัตตันที่ใช้เครื่องเร่งความเร็ว Cockcroft-Walton ในการทดลอง Trinity Test ได้
หลังจากจบปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยชิคาโก เอลิซาเบธ ริดเดิล เกรฟส์ (Elizabeth Riddle Graves) ก็ได้พบรักกับ อัลวิน เกรฟส์ (Alvin Graves) สามีของเธอซึ่งเป็นนักฟิสิกส์เหมือนกัน โดยตลอดช่วงเวลาที่เธออยู่ชิคาโก เกรฟส์เฝ้าทดลองและวิจัยเรื่องการกระเจิงของนิวตรอนอยู่เสมอ
ไม่เพียงเท่านั้น เกรฟส์ยังทำงานร่วมกับเอนรีโก แฟร์มี (Enrico Fermi) ในการศึกษาปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ (nuclear chain reaction) ซึ่งงานวิจัยของเธอก็มีส่วนช่วยในการทดลอง Chicago Pile-1 ด้วย
จนในปี 1943 เธอและสามีย้ายมาที่ลอสอะลามอส (Los Alamos) เพื่อทำงานในโครงการแมนฮัตตัน หน้าที่หลักของเกรฟส์คือการเลือกตัวสะท้อนแสงนิวตรอนซึ่งจะล้อมรอบแกนของระเบิด อีกทั้งเธอเป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์เพียงไม่กี่คน ที่สามารถใช้เครื่องเร่งความเร็ว Cockcroft-Walton ซึ่งเป็นเครื่องมือจำเป็นสำหรับการทดลองได้ด้วย
มีรายงานว่า เกรฟส์ร่วมการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ ที่เรียกว่า Trinity Test ขณะตั้งครรภ์ 7 เดือน ทั้งยังทำการทดลองสำคัญต่างๆ มากมายขณะที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์
นอกจากผลงานทางด้านฟิสิกส์แล้ว เอลิซาเบธ ริดเดิลยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักกวีและนักร้องด้วย เพื่อนร่วมงานของเธอเล่าว่า นักฟิสิกส์คนนี้เป็นคนมีอารมณ์ขัน เป็นนักคิด และมุ่งมั่นทำงานอยู่เสมอ
หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เกรฟส์ยังมุ่งมั่นทำงานวิจัยเรื่องฟิสิกส์นิวเคลียร์ที่ลอสอะลามอสต่อไป
บลองเช่ เจ. ลอว์เรนซ์ (Blanche J. Lawrence)
นักชีวเคมีหญิงชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ผู้ศึกษาเรื่องพลูโตเนียมใน Met Lab ส่วนหนึ่งของโครงการแมนฮัตตัน
โอกาสของผู้หญิงในการเข้ามาทำงานซึ่งถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจว่ายากแล้ว … แต่การเป็นผู้หญิงผิวดำยิ่งยากกว่า
ข้อมูลของเธอมีไม่มากนัก แต่เท่าที่พอค้นหาได้ บลองเช่ เจ. ลอว์เรนซ์ (Blanche J. Lawrence) จบการศึกษาจาก Tuskegee University ราวปี 1943 โดยสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เธอเป็นสมาชิกของชมรมพลศึกษาและกลุ่มนาฏศิลป์สร้างสรรค์
เมื่อเรียนจบ เธอก็เริ่มทำงานเป็นช่างเทคนิคที่แผนกสุขภาพของห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาของ University of Chicago หรือที่รู้จักกันในชื่อ Met Lab ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและใช้พลูโตเนียม ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางเคมีที่เพิ่งค้นพบใหม่ในช่วงเวลานั้น – อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแมนฮัตตัน
ลอว์เรนซ์ก้าวหน้าในฐานะช่างเทคนิคอย่างรวดเร็ว เพราะในอีก 5 ปีต่อมา เธอกลายเป็นนักชีวเคมีรุ่นเยาว์ที่ห้องปฏิบัติการดังกล่าว
ต้องย้ำอีกครั้งว่า ลอว์เรนซ์เป็นหนึ่งในผู้หญิงแอฟริกัน-อเมริกันเพียงไม่กี่คนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น เพราะชาวแอฟริกันอเมริกันส่วนใหญ่จะได้รับโอกาสให้ทำงานเป็นภารโรงและกรรมกรเท่านั้น
และหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอก็ยังคงทำงานที่ Met Lab ต่อ
โจน ฮินตัน (Joan Hinton)
นักฟิสิกส์ผู้มีส่วนในการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่ผันตัวนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพหลังสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดที่ญี่ปุ่น
แม้จะเป็นนักฟิสิกส์ชาวสหรัฐฯ แต่ถ้าเสิร์ชชื่อ โจน ฮินตัน ในกูเกิ้ล ชื่อประเทศที่จะขึ้นมาเคียงข้างเธอคือ ‘จีน’
แต่ก่อนที่จะอธิบายเรื่องนั้น เราขอเริ่มเล่าเรื่องของเธอจากประวัติของฮินตันซึ่งเกิดในครอบครัวที่พ่อเป็นผู้คิดค้นจังเกิ้ลยิม ส่วนแม่เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน The Putney School โดยที่ฮินตันเองก็เคยเป็นนักเล่นสกีระดับโลกที่ได้รับเลือกให้แข่งขันในกีฬาโอลิมปิกปี 1940 (แต่เป็นปีที่โอลิมปิกถูกยกเลิก)
อย่างไรก็ดี ฮินตันมาเรียนต่อด้านฟิสิกส์และจบการศึกษารับปริญญาเอกจากUniversity of Wisconsin โดยช่วงก่อนเรียนจบ เธอยังได้รับคัดเลือกให้ไปทำงานกับเอนรีโก แฟร์มี (Enrico Fermi) ที่ลอสอะลามอส (Los Alamos) ด้วย นั่นทำให้เธอได้ก้าวเข้าสู่โครงการแมนฮัตตัน
งานของฮินตันที่ลอสอะลามอสคือการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งเธอต้องทำงานร่วมกับเอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ (Edward Teller) ด้วย
แล้วในเดือนกรกฎาคม ปี 1945 ซึ่งมีการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ภายใต้การทำสอบที่เรียกว่า ‘Trinity Test’ ฮินตันและเพื่อนร่วมงานของเธอถูกสั่งห้ามร่วมการทดสอบดังกล่าว เนื่องจาก ‘สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอสำหรับผู้หญิง’ แต่พวกเธอก็ขัดขืนคำสั่งของกองทัพด้วยการแอบสังเกตการณ์การทดสอบนั้นจากเนินเขาเล็กๆ ที่อยู่ห่างออกไป 40กิโลเมตร โดยเธอบรรยายเปรียบเทียบความรู้สึกที่เห็นการทดสอบนั้นว่าเป็น ‘มหาสมุทรแห่งแสง’
“เรารู้สึกถึงความร้อนที่เข้ากระแทกผิวหน้า จากนั้นเราก็เห็นสิ่งที่เหมือนกับ ‘มหาสมุทรแห่งแสง’ … มันค่อย ๆ ถูกดูดเข้าไปในแสงสีม่วงอันน่าสะพรึงกลัวที่พุ่งขึ้นเรื่อย ๆ เข้าไปในเมฆรูปเห็ด มันดูสวยงามเมื่อต้องแสงตะวันยามเช้า” คำสัมภาษณ์ที่เธอกล่าวกับ South China Morning Post เมื่อปี 2008
อย่างไรก็ดี ความสวยงามนั้นต้องเลือนหายไปเมื่อระเบิดนิวเคลียร์ถูกทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ ซึ่งเดิมทีฮินตันเข้าใจว่าระเบิดนั้นจะไม่ถูกใช้ในสงครามจริง แต่จะใช้เพื่อการสาธิตให้ญี่ปุ่นยอมจำนนเท่านั้น
เมื่อฮิโรชิมะและนางาซากิถูกแผดเผา ฮินตันก็ผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ และสื่อสารต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า “ลองส่งกล่องแก้วขนาดเล็กที่เต็มไปด้วยทรินิไทต์ ตัวอย่างทรายหลอมเลว และกระดาษโน้ตเล็กๆ ไปถามนายกเทศมนตรีในเมืองสำคัญๆ ของสหรัฐฯ สิว่า ‘ต้องการให้เมืองของพวกเขาประสบชะตากรรมเดียวกัน [กับฮิโรชิมะและนางาซากิ] ไหม’”
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮินตันไม่อาจทนต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้อีก ประกอบกับโลกเริ่มเข้าสู่สงครามเย็น เธอจึงออกจากสหรัฐฯ เพื่อไปประเทศจีนในปี 1948 และกลายเป็นผู้นับถือลัทธิเหมา พร้อมทำงานเป็นนักการศึกษา นักแปล และใช้เวลาหลายปีทำงานในฟาร์มโคนม
นอกจากนี้ ในงานประชุมสันติภาพเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี 1952 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ฮินตันยังกล่าวแสดงความเสียใจที่เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการแมนฮันตัน พร้อมอธิบายความรู้สึกของเธอว่าเหมือนกับ “ช่วยสร้างจักรยาน ทั้งๆ ที่ฉันไม่สามารถควบคุมได้ว่าจักรยานนั้นจะไปทางไหน”
ฟรอย แอกเนส ลี (Floy Agnes Lee)
นักโลหิตวิทยาผู้วิเคราะห์และศึกษาเลือดของนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ในโครงการแมนฮัตตัน
อีกหนึ่งบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในโครงการแมนฮัตตัน คือฟรอย แอกเนส ลี (Floy Agnes Lee) ผู้จบการศึกษาจาก University of New Mexico ในปี 1945 ซึ่งในระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัยอยู่นั้น เธอฝึกขับเครื่องบิน โดยมีเป้าหมายว่าจะเข้าร่วมกองทัพอากาศหญิง (WASP: Women Airforce Service Pilots) แต่โปรแกรมก็ถูกยกเลิกก่อนที่เธอจะได้เข้าร่วม
อย่างไรก็ดี ลีได้ไปทำงานในโครงการแมนฮัตตันที่ห้องปฏิบัติการลอสอะลามอส (Los Alamos) แทน โดยมีหน้าที่เป็นนักโลหิตวิทยาที่จะคอยเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลเลือดของเหล่านักวิทยาศาสตร์ในโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งรวมถึงหลุยส์ สล็อติน (Louis Slotin) และอัลวิน เกรฟส์ (Alvin Graves) หลังจากอุบัติเหตุร้ายแรงซึ่งทำให้สล็อตินได้รับปริมาณรังสีที่อันตรายถึงชีวิต
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ลีเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ University of Chicago พร้อมกับทำงานต่อในฐานะนักโลหิตวิทยาที่ Argonne National Laboratory ทั้งยังเป็นเลี้ยงลูกสาวด้วยตัวคนเดียว หลังจากสามีของเธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และในท้ายที่สุด เธอก็ใช้เวลา 14 ปี เรียนจบปริญญาเอกได้
หลังจากนั้นเธอได้ทำงานที่ Jet Propulsion Lab ในแคลิฟอร์เนีย และกลับไปทำงานที่ห้องปฏิบัติการลอสอะลามอส ตลอดการทำงานอันยาวนาน ลีทุ่มเท่ทำวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และผลกระทบของรังสีต่อโครโมโซม ก่อนที่เธอจะเกษียณ และเสียชีวิตในปี 2018ด้วยอายุ 95 ปี
ชาร์ลอตต์ เซอร์เบอร์ (Charlotte Serber)
หัวหน้าบรรณารักษ์ผู้ดูแลการจัดการเอกสารลับทั้งหมดในโครงการแมนฮัตตัน ผู้ถูกยกย่องโดยออพเพนไฮเมอร์
ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นบทบรรณารักษ์ที่ลอสอะลามอส (Los Alamos)ชาร์ลอตต์ เซอร์เบอร์ (Charlotte Serber) ทำหน้าที่จัดระเบียบและรักษาความปลอดภัยต่อเอกสารลับสุดยอดต่างๆ ในโครงการแมนฮัตตัน โดยภายในห้องสมุดมีห้องเก็บเอกสาร ห้องนิรภัย และเครื่องสำเนาเอกสาร
แม้จะเป็นศูนย์การผลิตและจัดเก็บเอกสารโครงการลับอย่างเป็นทางการ แต่ตามคำบอกเล่าของเซอร์เบอร์ ห้องสมุดยังเป็นศูนย์กลางของเรื่องซุบซิบและพื้นที่แฮงค์เอาท์ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น เซอร์เบอร์ยังเป็นผู้สร้างระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อให้มั่นใจว่าเอกสารลับจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมในห้องแล็บ ด้วยการเดินทัวร์ทุกคืนเพื่อตรวจสอบว่ามีเอกสารใดหลงเหลืออยู่ในสายตาหรือไม่ หากเอกสารขาดหายไป พนักงานที่รับผิดชอบจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อรับเอกสารหรือถูกบังคับให้เป็นผู้ตรวจสอบกะกลางคืนสำหรับกะถัดไป
เซอร์เบอร์เองก็เป็นอีกหนึ่งคนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการทดสอบ Trinity Test ด้วยระเบียบเดียวกันนั่นคือ “สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอสำหรับผู้หญิง”
แล้วเธอมาเป็นบรรณารักษ์ให้กับโครงการนี้ได้อย่างไร ต้องเล่าย้อนกลับไปว่า เซอร์เบอร์เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และหลังเรียนจบ เธอก็แต่งงานกับโรเบิร์ต เซอร์เบอร์ (Robert Serber) แต่ทำงานเป็นนักข่าวอิสระให้กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น Boston Globe
แม้ว่าตอนแรกทั้งคู่วางแผนที่จะย้ายไปพรินส์ตัน เพราะโรเบิร์ตต้องไปเรียนต่อปริญญาเอกที่นั่น แต่พวกเขาก็เปลี่ยนใจและย้ายไปเบิร์กลีย์แทน เพื่อให้โรเบิร์ตสามารถทำงานกับออพเพนไฮเมอร์ได้ ซึ่งหลังจากโรเบิร์ตได้รับปริญญาเอก ทั้งคู่ย้ายไปอิลลินอยส์เพื่อหางานใหม่ ทั้งสองอยู่ที่นั่นจนโรเบิร์ตถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการแมนฮัตตัน และทำให้เธอได้มาร่วมงานนี้ด้วย
หลังจบงานที่ลอสอะลามอส เซอร์เบอร์กลับมาอยู่ที่เบิร์กลีย์ และพยายามสมัครทำงานเป็นบรรณารักษ์ของห้องปฏิบัติการรังสีเบิร์กลีย์ แต่กลับไม่ถูกรับเลือกเพราะไม่ได้รับการรับรองความประพฤติ (security clearance) ซึ่งคาดกันว่าเป็นเพราะประวัติทางการเมืองของครอบครัวเธอ โดยสามีของเซอร์เบอร์มองว่า เพราะพ่อของเธอเป็นอดีตนักสังคมนิยมในสงครามสเปน และพี่ชายก็มีความเป็น ‘ฝ่ายซ้ายมาก’ จึงอาจเป็นเหตุให้เซอร์เบอร์ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ได้
ท้ายที่สุดเซอร์เบอร์ได้ย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก และทำงานเป็นผู้ช่วยฝ่ายผลิตของโรงละครบรอดเวย์แทน
ส่วนที่บอกว่าเธอเป็นคนที่ออพเพนไฮเมอร์ชื่นชม ก็มีหลักฐานจากข้อความในจดหมายขอบคุณจากออพเพนไฮเมอร์ถึงเซอร์เบอร์ว่า “ไม่มีชั่วโมงใดที่มนุษย์คนใดในห้องทดลองทำงานผิดพลาดล่าช้าแม้แต่ชั่วโมงเดียว ทั้งในห้องสมุดหรือในเอกสารลับ ต้องเพิ่มข้อเท็จจริงนี้ไปในความสำเร็จอันน่าประหลาดใจในการควบคุมและจัดการข้อมูลลับจำนวนมหาศาล ซึ่งการลื่นล้มเพียงครั้งเดียวอาจไม่เพียงทำให้เราลำบากอย่างถึงที่สุดเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นอันตรายต่อความสำเร็จของงานของเราอีกด้วย”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ร่วมทำงานในหลากหลายหน้าที่เพื่อผลักดันให้โครงการแมนฮัตตันสำเร็จได้ แม้ว่าจะไม่ได้มีตัวตนอยู่ในหนังเรื่อง Oppenheimer ก็ตาม
อ้างอิงจาก
ahf.nuclearmuseum.org (2) (3) (4)