อำนาจชี้ขาดของประธานสภากลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้ง หลังเมื่อวานนี้ (19 กรกฎาคม) วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้ที่ประชุมลงมติเพื่อหาข้อยุติการตีความว่าสามารถเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล ขึ้นเป็นนายกฯ อีกครั้งได้หรือไม่ ซึ่งมติก็ออกมาว่าไม่สามารถเสนอชื่อของพิธาซ้ำได้
ในวันนี้ (20 กรกฎาคม) The MATTER จึงต่อสายหา มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว
“ประธานสภาสามารถวินิจฉัยได้เลยตามข้อบังคับ” อาจารย์มุนินทร์ยืนยัน
อาจารย์มุนินทร์ อธิบายว่าเมื่อมีปัญหาในทางข้อกฎหมาย หากปัญหาข้อใดมีการโต้แย้งกันสูง นักกฎหมายเห็นแตกต่างกันหลายกลุ่ม ทั้งยังมีวิธีการตีความได้หลายแบบ การเลือกวิธีการให้ที่ประชุมลงมติเหมือนเมื่อวานก็จะมีความเหมาะสมมากกว่า กลับกัน หากปัญหากฎหมายใดที่เป็นเรื่องที่มีข้อโต้แย้งกันน้อยมาก ประธานรัฐสภาก็สามารถวินิจฉัยเองได้เลย เพราะเป็นอำนาจของประธานสภาอยู่แล้ว
ดังนั้น หากจะถามว่าการให้ที่ประชุมลงมติเหมือนเมื่อวานนี้ผิดไหม อาจารย์มุนินทร์ก็มองว่า ‘วิธีการในการตีความ’ ที่ประธานรัฐสภาใช้เมื่อวานนี้ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่มันเหมาะสมน้อยกว่า เพราะเป็นประเด็นที่ประธานสภาสามารถวินิจฉัยได้เอง เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ชัดเจนและมีนักกฎหมายหลายคนที่เห็นตรงกันว่าการเสนอชื่อนายกฯ เป็นเรื่องของวาระที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ใช่ญัตติ
อีกทั้ง อาจารย์มุนินทร์ยังมองว่าประเด็นดังกล่าวมันไม่ควรจะเป็นปัญหาใหญ่ และไม่ควรจะทำให้มันกลายเป็นปัญหาทางการเมืองโดยใช้เสียงข้างมาก เพราะว่าเรื่องนี้มีความชัดเจนในหลักการของกฎหมายอยู่แล้วว่าควรตีความว่าอย่างไร พอเลือกวิธีการตีความโดยให้สมาชิกรัฐสภาลงมติ “มันก็กลายเป็นว่าใครรวบรวมพวกได้มากกว่ากัน”
อาจารย์มุนินทร์ยังกล่าวถึงผลการลงมติในที่ประชุมเมื่อวานอีกว่า “มันส่งผลกระทบในทางกฎหมาย ก็คือเป็นการตีความที่ไม่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมาย…ไม่ถูกต้องตามหลักการกฎหมาย” อีกทั้งอาจารย์ยังมองว่าเป็น ‘การลงมติตีความข้อบังคับ’ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 272
นั่นจึงสรุปได้ว่า ‘วิธีการ’ ที่ประธานสภาใช้ให้สมาชิกลงมตินั้น เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ ‘มติ’ ของที่ประชุมสภาที่ออกมาเมื่อวานนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าภายหลังมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วมีคำวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญจริง มตินั้นก็จะเป็นโมฆะ หรือไม่มีผลผูกพันอะไร
อย่างไรก็ดี อาจารย์มุนินทร์ก็ชี้ให้เห็นอีกว่า มติเมื่อวานไม่ได้มีผลทางกฎหมายเด็ดขาด แต่เป็นการหารือว่าควรจะตีความอย่างไร ดังนั้นแม้จะมีการลงมติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ประธานสภาก็ยังสามารถนำประเด็นดังกล่าวมาตีความใหม่ได้ในครั้งต่อไป เพราะมันไม่มีกฎหมายที่ห้ามเอาไว้
นอกจากนี้ อาจารย์มุนินทร์ยังระบุอีกว่า ประธานสภาสามารถวินิจฉัยกรณีดังกล่าวอีกรอบ โดยใช้ข้อยกเว้นในส่วนข้อบังคับที่ 41 [ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป] และให้ถือว่าการเสนอชื่อนายกฯ เป็นญัตติไปก่อน เพราะเมื่อวานมีมติของที่ประชุมไปแล้วว่าให้ถือว่าการเสนอชื่อโหวตนายกฯ เป็นญัตติ หรือถ้าประธานจะกลับมาวินิจฉัยใหม่ว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นญัตติเลยก็ได้
ส่วนกรณีที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบางส่วนกังวลเรื่อง ถ้าประธานสภาใช้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดไปเลยว่าสามารถเสนอชื่อให้โหวตนายกฯ ซ้ำอีกรอบแล้วอาจโดนฟ้อง หรืออาจหลุดจากตำแหน่ง อาจารย์มุนินทร์ก็ยืนยันว่า “ไม่โดนเด้ง เพราะมันเป็นเรื่องปัญหาต้องตีความ ซึ่งมีวิธีการตีความได้ 2 แบบ ก็คือตีความเอง กับการตีความโดยปรึกษาสมาชิกรัฐสภา โดยการตีความเป็นเรื่องดุลยพินิจที่ประธานรัฐสภาสามารถอ้างได้ว่าเขาก็ใช้ดุลยพินิจของเขาแล้ว”