ประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลและการโหวตนายกฯ ยังคงเป็นไปอย่างดุเดือด หลังจากที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกลได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ทำให้ยังไม่ได้เป็นนายกฯ ทั้งยังมีมติจากที่ประชุมรัฐสภาครั้งล่าสุดอีกว่าไม่สามารถเสนอชื่อพิธาซ้ำได้ จนนำมาสู่ข้อถกเถียงของสังคมว่า แล้ว 8 พรรคการเมืองที่เซ็น MOU ด้วยกัน ควรรอ 10 เดือนเพื่อตั้งรัฐบาล หรือควรถอยเพื่อรีบตั้งรัฐบาลให้ประเทศเดินหน้าต่อ?
The MATTER ได้ต่อสายหา 3 นักวิชาการ ได้แก่ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ, อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และ อ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว เพื่อชวนมาวิเคราะห์ถึงประเด็นดังกล่าวกัน
ก่อนจะไปไกลกว่านี้ ขอเล่าก่อนว่า หลังจากที่ที่ประชุมรัฐสภามีมติออกมาว่าไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเตนายกฯ ซ้ำได้ ก้าวไกลก็ออกแถลงส่งไม้ต่อให้กับเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งในสภามาเป็นอันดับถัดไป เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ซึ่งทางก้าวไกลก็ยืนยันว่าจะเป็นผู้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทยในการโหวตนายกฯ ครั้งต่อไป
อย่างไรก็ดี หลังจากที่เพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแล้ว ก็มีการพูดคุยกับ ‘พรรคขั้วรัฐบาลเดิม’ เพื่อหาเสียงสนับสนุนให้ 8 พรรคร่วม แต่ผลปรากฏว่าไม่มีพรรคไหนที่พร้อมสนับสนุนหรือร่วมรัฐบาลกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จนบางส่วนมีความเห็นว่าก้าวไกลควรลดเพดานเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ก็ควรถอยออกมาเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีความเห็นที่มองว่าทั้ง 8 พรรคควรจะจับมือต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรอเวลาให้ สว.ชุดนี้หมดวาระแล้วจึงค่อยจัดตั้งรัฐบาล
แล้วจากความเห็นดังกล่าวนี้ นักวิชาการทั้ง 3 คนคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง?
1. เริ่มกันที่ อ.ประจักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มองว่า สถานการณ์ที่มีประชาชนออกมาบอกว่ารอได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ส่วนตัวก็มองว่าระยะเวลา 10 เดือนมันนานไปกับการปล่อยให้ประเทศมีสุญญากาศทางการเมือง เพราะการรอ 10 เดือนหมายความว่า ประเทศไทยก็จะต้องมีรัฐบาลรักษาการนานถึง 10 เดือนในสถานการณ์ที่ผลการเลือกตั้งออกมาชัดเจน แล้วก็มีการรวมเสียงรัฐบาลได้แล้วเช่นนี้
ส่วนที่ อ.ประจักษ์บอกว่าน่าสนใจก็เพราะว่า สถานการณ์นี้ แสดงให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมาก ไม่ต้องการให้ฝ่ายขั้วอำนาจเก่ากลับมาเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม และไม่ต้องการรัฐบาลผสมข้ามขั้ว จนถึงขนาดยอมเลือกช้อยส์ที่ไม่ได้ดีเท่าไรนัก นั่นก็คือการรอ 10 เดือน
ในประเด็นสุญญากาศทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น อ.ประจักษ์ก็วิเคราะห์ว่า เนื่องจากรัฐบาลรักษาการไม่ได้มีอำนาจเต็ม จะผลักดันนโยบายอะไรก็ไม่ได้ ซึ่งหมายความว่าแทบบริหารประเทศไม่ได้เลย ประเทศไทยจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เหมือนมี 2 รัฐบาล ก็คือรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา และรัฐบาลของพิธาที่ยังไม่ใช่รัฐบาลตามกฏหมายแต่คนก็จะรู้สึกว่าพิธาคือนายกฯ ของประเทศ
“ประเทศมันก็จะชะงัก แต่ก็ไม่ใช่รัฐล้มเหลว ไม่ได้จะมีสงครามกลางเมือง กลไกลราชการก็ทำงานปกติ เหมือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก่อนยุบสภา แล้วจะเป็นอย่างนั้นไป 10 เดือน” อ.ประจักษ์กล่าว
อ.ประจักษ์ยังอธิบายเพิ่มอีกว่า ส่วนตัวก็คิดว่าข้อเสนอให้ 8 พรรคจับมือกันแล้วรอต่อไปเป็นข้อเสนอที่ไม่เลว เพราะถ้า 8 พรรคจับมือกัน ไม่แตกกัน โอกาสที่จะได้รัฐบาลที่ตรงตามเจตนารมของประชาชน ก็เป็นไปได้
“ถ้าไม่แตกกัน แรงกดดันจะไปอยุ่ที่ สว. แต่ถ้าแตกกันเมื่อไร กลายเป็นว่า เพื่อไทยไปจับมือกับพรรคอื่น…แรงกดดันและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จะไปตกอยู่กับเพื่อไทย แทนที่จะไปตกอยู่กับ สว. …[เพราะ] จริงๆ จำเลยของสังคมต้องเป็น สว.” อ.ประจักษ์จึงมองว่า ถ้า 8 พรรคการเมืองอ่านการเมืองออก ก็จะต้องจับมือกัน สร้างแรงกดดันให้ สว. และนี่ก็จะเป็น ‘สงครามของความชอบธรรม’ โดยถ้าสู้กันด้วยความชอบธรรม อย่างไร สว.ก็แพ้อยู่แล้ว
แล้ว 10 เดือนไม่นานไปหรือ? คำถามนี้ อ.ประจักษ์ระบุว่า ต่อให้ 8 พรรคประกาศว่าจะรอ 10 เดือน แต่ในความเป็นจริง พอผ่านไปสัก 1-2 เดือน แรงกดดันทุกอย่าง จากทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และต่างชาติมัน ก็ต้องไปตกอยู่ที่ สว.อยู่ดี
สำหรับข้อกังวลที่ว่า ถ้าจับมือกันอยู่อย่างนี้ คนเดือดร้อนจะเป็นประชาชนหรือไม่ อ.ประจักษ์ก็กล่าวว่า “แต่ถ้าตั้งรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม แล้วไม่สง่างาม มันก็อาจนำไปสู่การประท้วง และความขัดแย้งรอบใหม่ เศรษฐกิจก็ไม่สามารถเดินหน้า [ประเทศ] มันคงก็ไม่เดินหน้า”
2. ในส่วนของ อ.พิชญ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่า มันไม่มีระยะเวลา 10 เดือนจริงๆ เพราะสุดท้ายกระบวนการต่างๆ ในการเลือกนายกฯ ก็จะถูกยืดออกไปจนไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร
แล้วอีกหนึ่งคำถามที่อาจารย์ชวนคิดต่อก็คือ ถ้ารอ 10 เดือนจริงๆ แล้วก้าวไกลจะอยู่ถึง 10 เดือนหรือไม่ จะต้องรอไปเพื่อก้าวไกลหรือรอเพื่อใคร “10 เดือนไม่มีรัฐบาล จะบริหารประเทศอย่างไร ทั้งเรื่องงบประมาณ รัฐสภาก็ทำอะไรไม่ได้ คำถามคือ 10 เดือนนี้ใครจะได้ประโยชน์”
อ.พิชญ์ยังชวนมองอีกว่า ถ้ารอไป 10 เดือน อาจเกิดสถานการณ์ที่ฝ่ายรัฐบาลขั้วเดิมจัดสามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ไม่แน่นอนอีกว่า 8 พรรคที่เซ็น MOU ตอนนี้จะสามารถโหวตคว่ำรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้หรือไม่
“พรรคคุณ [ก้าวไกล] ไม่ใช่พรรคเดียวที่เป็นประชาธิปไตย ทุกพรรคก็มีประชาชนเลือก ก็มีประชาธิปไตยหลายเวอร์ชั่น” ซึ่งอาจารย์ก็ย้ำว่าที่กล่าวไปนี้ เขาไม่ได้เห็นด้วยกับการที่เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล แต่พอเป็นคำถามว่าเป็นไปได้ไหมที่จะรอ 10 เดือน ก็ต้องตั้งคำถามกลัยว่า อะไรคือแรงจูงใจของเพื่อไทยให้รอ เช่นในมุมของเพื่อไทย ถ้าต้องรอ 10 เดือน ก็ต้องเป็นลูกน้องก้าวไกล แต่ถ้าเขาจัดตั้งรัฐบาล ทำนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ ประชาชนก็อาจจะหันมาเลือกเขาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ได้
“ตอนนี้สังคมมันพิสูจน์แล้วว่าอำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งมันไม่เพียงพอ เพราะข้ออ้างที่ถูกใช้ก็คือเรื่องการแก้ 112 แล้วมีพรรคเดียวหลักๆ ที่เอา [ก้าวไกล]” อ.พิชญ์ระบุ
ส่วนคำถามที่ว่า ถ้ารอต่อไปเรื่อยๆ แล้วแรงกดดันจะไปอยู่ที่ สว.จนสุดท้ายเขาก็ต้องยอมโหวตให้หรือไม่ อ.พิชญ์ก็มองว่าแรงกดดันที่มีให้กับ สว.ไม่ได้มีแค่เฉพาะฝ่ายที่สนับสนุน 8 พรรคเท่านั้น
“ไม่คิดว่าฝ่ายที่ตั้ง สว.เขาจะมีแรงกดดันเหรอ คือ สว.เขาไม่ได้อยู่ด้วยความคิดง่ายๆ ว่าเขาต้องการความชอบธรรมจากประชาชน เพราะเขาไม่ได้มาจากประชาชน เขามาจากคนที่ตั้งเขา [เพราะ] ถ้าเขามาจากประชาชน ก็จริงว่าเขาอาจจะคิดถึงประชาชน แต่อันนี้เขาไม่ได้คิดถึงประชาชน เขาคิดถึงแต่คนที่ตั้งเขามา…หลังเหลือกตั้งมาเขาสลดไหมล่ะ เขารู้สึกหวาดหลัวกับแรงกดดันประชาชนไหม”
เมื่อถามถึงเกมการเมืองของฝ่าย 8 พรรคที่เซ็น MOU อ.พิชญ์ก็ยังวิเคราะห์ไว้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือการทำให้ก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคหลักที่สุด ให้ยอมปิดปากเรื่องมาตรา 112 แล้วยอมให้เอาพรรคอื่นเข้ามาร่วมอีกพรรค เพื่อให้เสียงมันพอ ซึ่งในกรณีหลังนี้ อาจารย์ก็มองว่าก็ต้องกล้ายอมรับกันก่อนว่ามันเป็นรัฐบาลผสม ก้าวไกลไม่ใช่เสียงข้างมากเด็ดขาด และการดำรงอยู่ของก้าวไกลก็ต้องอ้างอิงกับพรรคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
“ผมคิดว่าเกมที่เล่นกันอยู่ตอนนี้ก็คือการบีบให้ก้าวไกลออกไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ประเด็นคือก้าวไกลก็รู้แล้ว แต่บางกลุ่มก็บอกว่าพร้อมที่จะสู้ต่อไปเรื่อยๆ”
3. มาที่ความเห็นของ อ.โอฬาร จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาที่มองว่า การจับมือกันต่อไปแแล้วรอ 10 เดือน หรือการที่ 8 พรรคปล่อยมือออกจากกันก็ไม่มีคำตอบที่ผิดหรือถูก เพราะกระบวนการในทางการเมืองจะให้รออีก 10 ปี ก็ทำทำได้ หากมองในมุมที่ว่าเป็นการเอาชนะกันในทางการเมือง เพื่อให้อำนาจมาอยู่ในมือของประชาชน รวมไปกฎหมายก็ไม่ได้มีการบัญญัติระยะเวลาเอาไว้อยู่แล้วว่าต้องได้นายกฯ ตอนไหน แล้วสามารถโหวตได้กี่ครั้ง
ในขณะเดียวกัน อ.โอฬารก็มองว่าไม่สามารถมองเพียงแค่ในมุมการเอาชนะทางการเมืองอย่างเดียวได้ เพราะยังจำเป็นต้องพิจารณาในมิติอื่นๆ ทั้งเศรษฐกิจ-สังคม ว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น อาจารย์จึงมองว่าอยากจะให้พรรคการเมืองหาช่วงเวลาที่สมดุลด้วยเช่นกัน
“การยื้อไปนานๆ ก็กลัวว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจ สังคม ก็คือเราไม่อยากให้เอาปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเป็นตัวชี้ขาด อยากให้มองอย่างรอบด้าน…ไม่ยืดเยื้อเกินไปจนทำให้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจสังคม ไม่ยืดเยื้อเกินไปที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ความตึงเครียดและนำไปสู่สงครามประชาชน” อ.โอฬารกล่าว
นอกจากประเด็นเรื่องการรอ 10 เดือน หรือทั้ง 8 พรรคควรแยกย้ายแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่นักวิชาการทั้ง 3 คนเห็นตรงกันก็คือ สถานการณ์การเมืองไทยต่อจากนี้ยังคงต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากเมื่อวานนี้ (24 กรกฎาคม) ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงมติของที่ประชุมรัฐสภาว่า การเสนอชื่อพิธาซ้ำ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนทำให้ในวันนี้ มีประกาศเลื่อนการโหวตนายกฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ออกไปก่อนอีกเช่นกัน