“ถึงเวลาสื่อสารให้ประชาชนและรัฐบาลชุดใหม่เข้าใจถึงระเบิดเวลาลูกใหญ่ ประกันสังคมอาจถังแตกในอีก 30 ปีนี้ อาจล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า”
“หมายถึงว่าคนที่อายุ 24 ปีนี้ ทำงานส่งเงินเข้าประกันสังคมตลอดชีวิต เมื่อเกษียณอาจไม่ได้เงินเลยสักบาท” คือข้อความที่ถูกอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรต่อการบริหารกองทุน ‘ประกันสังคม’
แด่ผู้คนที่โดนหักเงินเข้าประกันสังคมในทุกๆ เดือน เมื่อวานนี้ (20 กรกฎาคม) ที่ประชุมสภาอภิปรายถึงปัญหาของสำนักงานประกันสังคม เช่น ปล่อยให้เกิดหนี้สูญทุกปีโดยไม่แก้ปัญหาเชิงรุก และปล่อยให้กองทุนประกันสังคมทำกำไรน้อย
ชุติมา คชพันธ์ ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายว่า กองทุนประกันสังคมปล่อยให้เกิดหนี้สูญทุกปี เช่น ปี 2563 มีหนี้สูญ 37 ล้านบาท หนี้สงสัยจะสูญ 450 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 มีหนี้สูญ 80 ล้านบาท หนี้สงสัยจะสูญ 281 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นตัวเลขของบริษัทเอกชน จะถือว่าอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง
เมื่อสืบค้น ชุติมาจึงพบว่า หนี้สูญคือหนี้ที่เรียกเก็บจากนายจ้างไม่ได้ และหนี้สูญสะสมจะทำให้เกิดปัญหาตามมา และประชาชนผู้ประกันตนก็อาจใช้สิทธิในประกันได้ล่าช้าขึ้น “คำถามคือในเมื่อรู้ว่าเรียกเก็บไม่ได้ ทำไมถึงปล่อยแบบนี้มาตลอดหลายปี” ชุติมา กล่าว
ซึ่งวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายชี้ว่า ประกันสังคมคือระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่รอล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือก็คือ คนวัย 24 ปีนี้ที่ทำงานส่งเงินเข้าประกันสังคมตลอดชีวิต อาจไม่ได้เงินสักบาทเมื่อเกษียณ นอกจากนี้ คนอายุมากกว่านั้นก็อาจได้เงินเกษียณไม่ครบเช่นกัน
สอดคล้องกับที่ ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.เพื่อไทยชี้ว่า กองทุนประกันสังคมว่าจ้างบริษัหลักทรัพย์จัดการลงทุน แต่ในปี 2562-2564 กลับได้กำไรเฉลี่ยปีละ 1.66% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นที่เติบโต 2.5%
เธอย้ำว่า หากยังบริหารแบบเดิม ผสมกับความท้าทายที่เจอจากการใช้เงินมหาศาลในยุคโควิด-19 และการเข้าสู่สังคมสูงวัย อาจยิ่งเสถียรภาพน้อยลง และมีโอกาสที่ผลตอบแทนในอนาคตจะยิ่งขาดทุนและไม่พอจ่ายในอนาคต
ซึ่งศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.ก้าวไกล ตั้งคำถาม 5 ข้อทิ้งท้ายถึงการบริหารสำนักงานประกันสังคม ว่า
- มีหลักเกณฑ์อะไร ทำไมถึงลงทุนหุ้น BCP หรือหุ้นบางจากอย่างเฉพาะเจาะจงและลงทุนด้วยเงินจำนวนมากอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งที่ก็ไม่ได้โดดเด่น รวมถึงหุ้นอื่นๆ
- ทำไมต้องเกลี่ยเงินให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเพื่อบริหารเงินกองทุน 7 ราย 10 กอง กองละเท่าๆ กัน
- ที่มาของผู้บริหารเงินกองทุนคืออะไร เชี่ยวชาญด้านการเงิน การคลัง การลงทุนขนาดไหน
- มีเกณฑ์วัดผลงาน คุณภาพ และประสิทธิภาพในการบริหารเงินกองทุนหรือไม่ เป้าหมายคืออะไร หากต่ำกว่าเกณฑ์มีการรับผิดชอบจากฝ่ายบริหารไหม
- ในวันที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ผู้บริหารและกองทุนมีวิสัยทัศน์จัดการสถานการณ์ยังไงให้รายได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ทางโฆษกกระทรวงแรงงานเพิ่งเปิดเผยวันนี้ (21 กรกฎาคม) ว่า ขอบคุณพรรคการเมืองที่เป็นห่วง แต่ยืนยันว่ากองทุนประกันสังคมยังมีเสถียรภาพ มั่นคง สร้างผลตอบแทนต่อเนื่องเพียงพอ มั่นใจได้เลยว่ากองทุนจะไม่ล้มละลายในอนาคต และจะสามารถจ่ายสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในทุกกรณีได้แน่นอน
– อ่านคำชี้แจงจากโฆษกแรงงานเต็มๆ ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/2552110/
อ้างอิงจาก
https://www.youtube.com/watch?v=nJqlCVIG4jo