“เขาสามารถบินออกจากประเทศและไม่ต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่ตามมา ในขณะที่พวกเรากลับต้องเผชิญเสียเอง”
เมื่อชุมชน LGBTQIAN+ ในมาเลเซียออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของ แมตตี้ ฮีลีย์ (Matty Healy) ฟรอนต์แมนวง The 1975 เนื่องจากทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมยิ่งโกรธแค้นและต่อต้านกลุ่มคนเพศหลากหลายมากขึ้น
เล่าก่อนว่า สิ่งที่แมตตี้ทำในขณะขึ้นแสดงโชว์ในเทศกาลเพลง Good Vibes ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 21 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็คือการประณามและวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายต่อต้านกลุ่มคนเพศหลากหลายของมาเลเซียด้วยคำพูดที่ค่อนข้างหยาบคาย พร้อมทั้งถือขวดไวน์และถ่มน้ำลายบนเวทีในระหว่างที่พูด รวมถึงจูบเพื่อนร่วมวงบนเวทีอีกด้วย
หลังผ่านไปประมาณ 30 นาที สมาชิกทุกคนในวงก็เดินลงจากเวที โดยแมตตี้ประกาศว่า “พวกเราถูกแบนแล้ว” อย่างไรก็ตาม การแสดงออกของเขาสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มเพศหลากหลายในมาเลเซียอย่างมาก จนทำให้เทศกาลเพลงในครั้งนี้ต้องถูกยกเลิกก่อนกำหนด
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมกลุ่มคนเพศหลากหลายในมาเลเซียถึงไม่พอใจการกระทำของแมตตี้?
คำตอบก็คือ ถ้ามองในเลนส์ของคนนอก เราคงจะสนับสนุนแมตตี้ เพราะสิ่งที่เขาทำก็คือการเรียกร้องสิทธิให้กลุ่มคนเพศหลากหลาย แต่เราต้องตระหนักว่าในแต่ละสังคมนั่นมีความแตกต่างกัน อย่างมาเลเซียยังถือเป็นประเทศที่ไม่ค่อยเปิดกว้างเรื่องเพศ
โดยมีหลักฐานที่สำคัญก็คือ ‘กฎหมาย’ ที่ถูกสร้างมาเพื่อลิดรอนสิทธิคนเพศหลากหลายโดยเฉพาะ ซึ่งบางกฎหมายมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี หรือถ้าให้พูดง่ายๆ ก็คือการเป็นคนในกลุ่มเพศหลากหลายอาจถูกจัดให้เป็นอาชญากรเลยก็ว่าได้
“การทำแบบนี้ต่อหน้าคนจำนวนมากที่ส่วนใหญ่แล้วไม่รู้ว่ามีผู้คนกำลังต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มคนเพศหลากหลายอยู่ ถือว่าเป็นสิ่งที่อันตรายมาก” เดีย เรซกี้ โรไฮซาด (Dhia Rezki Rohaizad) รองประธานเจจะกะ (Jejaka) กลุ่มสนับสนุน LGBTQIAN+ ในมาเลเซียกล่าว
และอีกไม่นานนับจากนี้ จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในมาเลเซีย ซึ่งการกระทำของแมตตี้ส่งผลให้การรณรงค์เรื่องสิทธิของกลุ่มคนเพศหลากหลายถูกต่อต้านจากผู้คนเป็นอย่างมาก ทั้งถูกด่าและเหยียด ดังนั้นในขณะนี้พวกเขาต้องอยู่ในความหวาดระแวงแทบจะตลอดเวลา แม้จะอยู่ในสถานที่ที่คิดว่าปลอดภัย อย่างสถานบันเทิงยามค่ำคืนก็ตาม
“ฉันไม่สามารถโฆษณาการแสดงของฉันในเมืองกัวลาลัมเปอร์ได้อีกต่อไป ..ศิลปินต่างชาติคนใดก็ตามที่เดินทางมาที่นี่และต้องการจะสนับสนุนสิทธิพวกเรา เริ่มต้นพวกคุณต้องเข้าใจก่อนว่าจะต้องทำอย่างไร ด้วยการสอบถามและทำความเข้าใจกับพวกเราก่อน”
พร้อมกับเสริมว่า “สิ่งที่ได้ผลในตะวันตกอาจใช้ไม่ได้ที่นี่ การกระทำของพวกคุณอาจจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดี” คาร์เมน โรส (Carmen Rose) ศิลปินแดร็กควีนกล่าว
“เขาสามารถบินออกจากประเทศและไม่ต้องเผชิญกับผลที่ตามมา ในขณะที่คนของเราต้องพบกับความรุนแรงของสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นแทนเสียเอง” โรสกล่าวถึงแมตตี้เป็นการปิดท้าย
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของมาเลเซียระบุว่า แม้ว่าเราจะสนับสนุนความเท่าเทียมและเสรีภาพในการแสดงออก แต่สิทธิเหล่านี้ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบและอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่ถูกกำหนดโดยกฎหมายท้องถิ่นและการพิจารณาทางวัฒนธรรมด้วย ซึ่งการแถลงการณ์ดังกล่าวทำให้หลายคนกังวลว่า การจัดเทศกาลดนตรีในมาเลเซียอาจจะจัดยากขึ้น
อ้างอิงจาก