“เรามาทำงานแบบใช้แรงมันเหนื่อย เราไม่อยากให้ลูกเหนื่อยเหมือนเรา เลยอยากให้ลูกเรียนหนังสือ” แรงงานข้ามชาติคนหนึ่งกล่าว
อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 เข้าร้องขอความเป็นธรรมกับสภาทนายความ กรณีถูกดำเนินคดีฐานให้เด็กชาติพันธุ์เข้ามาเรียนหนังสือภายในประเทศ โดยเธอยืนยันว่ามีเจตนาดี ต้องการให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ไร้สัญชาติได้เรียนหนังสือ และเธอได้ทำตามระเบียบการยื่นขอรหัส G หรือนักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทยแล้วด้วย
เมื่อวานนี้ (2 กรกฎาคม) ที่สภาทนายความทั้งนายกสภาทนาย เลขาธิการฯ ทนายความฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย หัวหน้าคลินิกทางกฎหมายมูลนิธิกระจกเงา และกัลยา ทาสม ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จังหวัดอ่างทองแถลงร่วมกันว่า
“คณะครู เจ้าหน้าที่ของโรงเรียน และผู้ใหญ่บ้านรวม 5 คน ถูกตำรวจ สภ.ป่าโมก ดำเนินคดีฐานพาบุคคลต่างด้าว หลบหนีเข้าเมือง และข้อหาให้ที่พักพิง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท พวกเขาจึงต้องร้องขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
อย่างไรก็ตาม มีเด็กต่างด้าวที่ผู้ปกครองนำมาส่งเรียนแก่โรงเรียนดังกล่าวจำนวน 126 คน อายุระหว่าง 6 – 12 ปี ซึ่งทางโรงเรียนทำมานานแล้วอย่างเปิดเผย แต่เพิ่งมาโดนเนินคดีทั้ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พร้อมยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีค้ามนุษย์เป็นบรรทัดฐาน ทว่าพวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือทั้งคดีอาญาและคดีปกครอง แต่ในขณะนี้พวกเขากำลังถูกเล่นงานทางวินัยร้ายแรง
พอมาถึงจุดนี้เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ไร้สัญชาติสามารถเรียนหนังสือในประเทศไทยได้หรือเปล่า?
คำตอบ คือ ได้ เนื่องจากตามกฎหมายแล้ว ประเทศไทยรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานให้เด็กที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยรวมถึงไม่มีหลักฐานการแสดงตน สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาของไทยได้ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ที่ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเดิมจำกัดไว้ให้เฉพาะบางกลุ่ม
อย่างไรก็ดี มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานให้ข้อมูลว่า โรงเรียนที่เคยรับเด็กข้ามชาติจะทราบดีว่าเด็กสามารถเรียนได้ แต่หากเป็นโรงเรียนที่ไม่เคยรับจะไม่ทราบขั้นตอน ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสที่สูญเสียไปของเด็กที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติ
“จะมีคำถามว่า แล้วเรียนยังไง ไม่มีบัตร ต้องใช้เลขอะไร เราเลยได้แนะนำไปว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีเอกสารแบบฟอร์ม G เพื่อให้กรอกเด็กไม่มีสถานะ” ดาหวัน ขอนทอง หัวหน้าฝ่ายการศึกษา มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานระบุ
ซึ่งก็สอดคล้องกับคำให้การของผอ.โรงเรียนไทยรัฐฯ ที่กล่าวว่า เธอได้ทำตามระเบียบการยื่นขอรหัส G แล้ว
“เราให้การศึกษากับเด็กทุกคนไม่ว่าจะถือเอกสารอะไร ชาติพันธุ์อะไร ทำแบบนี้มา 40 ปีแล้ว เพราะถ้าไม่ให้เรียนจะเกิดปัญหาสังคมตามมา เกิดอาชญากรรมยาเสพติด เราเคยช่วยเหลือเด็กพวกนี้ กระทรวงศึกษาลืมอะไรรึเปล่า คดีนี้เกิดขึ้นจึงขอสภาทนายช่วยเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก” ศิวนุข สร้อยทอง จากมูลนิธิกระจกเงากล่าว