เชื่อว่าหลายคนที่ไปดูบาร์บี้ (Barbie) มาแล้ว คงจะเห็นว่าบาร์บี้มักจะอยู่ท่ามกลางสีชมพูเสมอ ไม่ว่าจะเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และบ้านล้วนชุ่มไปด้วยสีชมพูที่ดูแปลกตา ไม่ค่อยดูเป็นธรรมชาติ จนสีชมพูเฉดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของบาร์บี้ไปโดยปริยาย แต่สีชมพูอันสดใสนี้ถูกจัดเป็นหนึ่งในสีที่เก่าแก่ที่สุดที่ของโลกหรือมีมาก่อนบาร์บี้ถึง 1.1 พันล้านปีก่อน
แล้วทำไมสีชมพูในบาร์บี้มันถึงดูเหมือนหลุดมาจากโลกแฟนซีล่ะ?
คำตอบก็คือ เพราะเฉดสีชมพูดังกล่าวไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเส้นสเปกตรัมที่มักจะปรากฎให้เราเห็นในธรรมชาติ เช่น สีของรุ้ง แต่มันมักปรากฏในดอกไม้บางชนิดเท่านั้น “ซึ่งสีชมพูของดอกไม้เกิดจากสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่สร้างเม็ดสีแดง แต่เมื่อสารนี้มียีนน้อยลง สีก็จะเข้มน้อยลงและกลายเป็นสีชมพูในที่สุด..” เอลิซาเบธ เวลส์ (Elizabeth Well) นักพฤกษศาสตร์ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) สารสีเหลือง ส้ม และแดง ที่สามารถทำให้สัตว์บางชนิดหรือสถานที่ธรรมบางแห่งเป็นสีชมพูได้ เพราะมันจะอยู่ในสาหร่ายขนาดเล็ก ซึ่งสัตว์ที่กิน ได้แก่ กุ้ง นกฟลามิงโก เพนกวิน (ไม่มีเพนกวินตัวไหนสีชมพู แต่อุจจาระเป็นสีชมพูแทน) หรือแม้แต่หาดทรายสีชมพูของเบอร์มิวดา
ดังนั้นในขณะที่ตุ๊กตาบาร์บี้มีอายุประมาณ 60 ปี สีชมพูที่เป็นเอกลักษณ์ของเธอกลับมีอายุย้อนไปถึง 1.1 พันล้านปีก่อน จึงส่งผลให้สีชมพูเป็นสีที่เก่าแก่ที่สุดสีหนึ่งตามบันทึกทางธรณีวิทยา ซึ่งการศึกษาในปี 2018 ระบุว่า
“สีชมพูสว่างเป็นสีแรกของสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยปรากฏอยู่ในหินโบราณใต้ทะเลทรายซาฮาร่าและหินดินดานสีดำในทะเลในมอริเตเนีย แอฟริกาตะวันตกออกมาได้ แม้ว่าสีของสารเหล่านี้จะเป็นสีดำหรือมีสีที่เข้มขึ้น เพราะการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่นักวิทยาศาสตร์สามารถสกัดสีชมพูสดใสออกมาได้ ไม่เพียงเท่านี้ ยังพบเม็ดสีชมพูจากซากฟอสซิลไซยาโนแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่เคยครองมหาสมุทรในสมัยดึกดำบรรพ์อีกด้วย”
อย่างไรก็ดี ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นของสีชมพูกับวัฒนธรรมของมนุษย์ ต้องย้อนไปถึง 9,000 ปีที่แล้ว เมื่อนักล่า (เพศชาย) ที่ดุร้ายในเปรูมักจะนิยมสวมผ้าหนังที่มีเฉดสีชมพู ต่อมาชาวอียิปต์ก็สกัดสีชมพูจากสตรอว์เบอร์รีบดและผักโขมเพื่อใช้เป็นเครื่องสำอาง
ทั้งนี้ สีอันสดใสนี้ยังเชื่อมโยงกับลัทธิล่าอาณานิคมอีกด้วย เนื่องจากความต้องการสีชมพูที่มากขึ้นของกลุ่มคนที่มั่งคั่งได้ผลักดันให้พ่อค้าชาวยุโรปบังคับให้ทาสบราซิลสกัดสีนี้จากต้นบราซิลจนต้นไม้ชนิดนี้เกือบจะสูญพันธุ์
ไม่เพียงเท่านี้ ในช่วงแรกๆ สีชมพูยังไม่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือแบ่งแยกบทบาททางเพศ (Gender Role) จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มเกิดการกำหนดว่าผู้ชายและผู้หญิงต้องเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ผู้คนเลิกผูกติดสีกับเพศ และสีชมพูยังถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องสิทธิของ LGBTQIAN+ อีกด้วย ดังนั้นสีชมพูจึงเชื่อมโยงกับเราทั้งเรื่องลัทธิล่าอาณานิคม ความงาม อำนาจ และเพศสภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และภาพยนตร์บาร์บี้ก็ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของสีชมพูที่เป็นมากกว่าสีโปรดของผู้หญิง
อ้างอิงจาก