7 สิงหาคมที่ผ่านมา ‘ทะลุวัง’ ไปเยือนเพื่อไทยเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการจับมือกับภูมิใจไทย …การเคลื่อนไหวครั้งนี้นำมาซึ่งเสียงสนับสนุนและเสียงต่อต้าน เพราะบางส่วนมองว่าเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่บางส่วนมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
หนึ่งในประเด็นที่ถูกถกเถียงมากที่สุด คือ ประเด็นการเคลื่อนไหวของ หยก—ธนลภย์ เยาวชนวัย 15 ปี มีคนจำนวนหนึ่งกังวลว่าหยกในฐานะเยาวชนอาจไม่เหมาะเป็นด่านหน้าของม็อบเพราะเสี่ยงรับแรงกระแทกที่อันตรายต่อทั้งกายและใจ อย่างไรก็ดี อีกกลุ่มก็เชื่อว่าเด็กควรมีสิทธิในการแสดงความเห็นทางการเมือง
ข้อถกเถียงนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เหล่านักกิจกรรม (และอดีตสมาชิก) กลุ่มทะลุวังออกมาแสดงความคิดเห็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ The MATTER จึงสรุปประเด็นที่เกิดขึ้นให้ทุกคนอ่านกัน
1. อย่างที่เล่าไป กลุ่มทะลุวังบุกที่ทำการพรรคเพื่อไทยเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการจับมือกันระหว่างเพื่อไทยและภูมิใจไทย ในวันนั้นมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างนักกิจกรรมและเจ้าหน้าที่
2. มีภาพและคลิปวิดีโอปรากฎท่าทีของหยก ซึ่งท่าทีเหล่านั้นทำให้สังคมจำนวนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามว่า ในฐานะเยาวชน เธอไม่ควรเป็นด่านหน้าของการเคลื่อนไหว แต่ควรได้รับการปกป้องคุ้มครองจากสังคมที่พร้อมทิ่มแทงเด็กมากกว่านี้หรือไม่
3. จากประเด็นที่เกิดขึ้น พลอย—เบญจมาภรณ์ นิวาส ผู้ลี้ภัย ม.112 อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง จึงออกมาโพสต์เล่าเรื่องราวของตนที่เคยเป็นเด็กในการดูแลของ บุ้ง—เนติพร สเน่ห์สังคม สมาชิกกลุ่มทะลุวัง และอ้างว่าเคยถูกบุ้ง “บังคับให้ออกไปทำอะไรแรงๆ” ในการเคลื่อนไหว
4. พลอยเล่าว่าเคยอาศัยอยู่กับบุ้ง 3 ปี เพราะโดนคดี ม.112 มีปัญหากับที่บ้านและต้องมีผู้ปกครอง บุ้งจึงรับหน้าที่ผู้ปกครองแทน ซึ่งระหว่างอยู่ด้วยกัน พลอยอ้างว่าตนถูกบังคับบงการ (manipulate) และขูดรีดผลประโยชน์จากการเคลื่อนไหวในฐานะเยาวชน
พลอยอ้างด้วยว่า บุ้งมักจะใช้ผลงานการเคลื่อนไหวไปขอทุนเพื่อเคลื่อนไหว แต่เงินทุนกลับส่งไม่ถึงตนเอง
“บุ้งชอบให้เด็กออกมาเคลื่อนไหว เทคแอคชั่นแรงๆ โดยบุ้งบอกกับเราว่าเรายังเด็ก ต่อให้โดนคดีก็ยังไม่โดนหนักเพราะยังมีศาลเยาวชน และเด็กถ้าเจอความรุนแรงเช่น ตำรวจจับ บลาๆ จะเป็นข่าวง่าย ขอทุนง่าย ไวรัลง่ายกว่า แล้วบุ้งอ้างว่าจะซัพพอร์ตน้องๆ อยู่ข้างหลังแทน” พลอย ระบุผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว
5. โดยสรุปคือ พลอยโพสต์อ้างว่าโดนบังคับบงการในขบวนการเคลื่อนไหว ทั้งยังเชื่อว่าตนถูกขูดรีดใช้ประโยชน์จากความเป็นเด็ก อย่างไรก็ดี พลอยย้ำว่า เด็กคือเหยื่อของเรื่องนี้ และสังคมควรหยุดโจมตีหยกที่เจอความรุนแรงมาโดยตลอด
6. เนื่องจากพลอยเคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักเรียนเลวมาก่อน จึงทำให้รู้จัก มิน—ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ นักกิจกรรมกลุ่มนักเรียนเลว ซึ่งมินออกมาโพสต์ผ่านทวิตเตอร์ว่า พลอยกับบุ้งเคยอยู่กลุ่มนักเรียนเลวมาก่อน พร้อมอ้างด้วยว่า “บางเหตุการณ์ที่พลอยเล่า มีลักษณะคล้ายกันกับที่เคยเกิดขึ้นในนักเรียนเลวมาแล้ว”
7. เรื่องราวที่ถูกเล่าอ้างโดยกลุ่มนักกิจกรรม ทำเอาหลายคนกังวลถึงสวัสดิภาพของหยกในฐานะเยาวชนที่เคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุวัง แต่ไม่กี่ชั่วโมงจากนั้น หยกตอบกลับข้อความของพลอยผ่านทวิตเตอร์ว่า “เลิกใช้คำว่าเหยื่อค่ะ มันดูเสร่อ เป็นไปคนเดียว ทรอม่าอ่อนแอไปคนเดียวเถอะค่ะ”
หยกใช้พื้นที่เฟซบุ๊กส่วนตัวยืนยันว่า บุ้งคือคนที่สนับสนุนเธอ ดูแลเธอเป็นอย่างดี เสนอให้พักการทำกิจกรรมตลอด และเป็นเธอเองที่ขอไปอาศัยอยู่ด้วย
“ทุกการตัดสินใจของชีวิตเรา เราเลือกเอง เราเดินเอง ไม่มีใครมากำหนดให้ เราไม่ใช่เหยื่อ และไม่ต้องการสถานะนั้น อย่าใช้คำว่าเหยื่อสิ้นเปลื้อง” หยก ระบุ
8. นอกจากนี้ มีนักกิจกรรมรายอื่นๆ ออกมาแสดงข้อคิดเห็นเชิงสนับสนุนบุ้งด้วย เช่น ใบปอ—ณัชนิช ดวงมุสิทธิ์ สมาชิกทะลุวังและนักกิจกรรมที่เคยอดอาหารร่วมกับบุ้งระหว่างถูกคุมขัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า บุ้งไม่เคยบังคับและบงการใคร เพราะบุ้งเชื่อว่าทุกคนมีสติปัญญาเป็นของตัวเอง
ขณะที่ อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรมกลุ่มนักเรียนเลว ที่เคลื่อนไหวกับบุ้งและหยกอยู่บ่อยครั้ง โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เคยเคลื่อนไหวกับบุ้ง แต่ไม่เคยถูกบังคับให้ทำกิจกรรม
9. ระหว่างการถกเถียง มีคนกลับมาตั้งคำถามถึงบุพการีของหยกอีกครั้ง ซึ่ง นิธิวัต วรรณศิริ หรือ ‘จอม’ สมาชิกวงไฟเย็น ผู้ลี้ภัยคดี ม.112 ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงแม่ของหยก โดยยืนยันว่า แม่หยกไม่ได้หายไป แต่ต้องการเคารพแนวทางการต่อสู้ของลูกที่ปฏิเสธการขอยื่นประกันตัว
จอมอ้างว่า แม่คุยกับหยกตั้งแต่วันแรกที่ถูกปล่อยจากเรือนจำ แต่ในวันนั้นบุ้งพาหยกกลับที่พัก และมีการพยายามแนะนำให้หยกแอบคัดทะเบียนบ้านออกจากบ้านแม่ไปอยู่บ้านของบุ้ง ซึ่งจอมอ้างว่า แม่ของหยกไม่รู้จักบุ้งมาก่อน
จอมอ้างเพิ่มเติมด้วยว่า ที่บุ้งบอกกับสื่อว่าติดต่อแม่หยกไม่ได้–ไม่มีผู้ปกครอง–ครอบครัวหยกใช้ความรุนแรง คือเรื่องไม่จริง โดยให้เหตุผลว่าแม่ของหยกยังอยู่บ้านเดิม และแม่ลูกยังติดต่อกัน อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการจากแม่ของหยก หรือกระทั่งตัวหยกเอง
10. นักกิจกรรมคนล่าสุดที่ออกมาแสดงความคิดเห็น คือ เมลิญณ์—สุพิชฌาย์ ชัยลอม หรือ ‘เมนู’ อดีตสมาชิกทะลุวังผู้ลี้ภัยคดี ม.112 พร้อมกับพลอย โดยเธอย้ำว่า นอกจากเรื่องสวัสดิภาพเยาวชนในขบวนแล้ว อีกประเด็นที่ควรตั้งคำถามต่อกลุ่มทะลุวัง คือ การมีสมาชิกที่มีประวัติข่มขืนในขบวนเคลื่อนไหว, การโพสต์ข้อความเหยียดกลุ่มออทิสติก, และการโจมตีคนที่ไม่มีอำนาจอย่าง รปภ. และนักข่าว
เมลิญณ์ด้วยว่าบอกว่า เธอไม่สามารถเป็นกลางได้เพราะเป็นคู่กรณีโดยตรงกับบุ้งมาก่อน แต่ก็ขอให้นักกิจกรรมผู้เรียกร้องประชาธิปไตยตระหนักว่าตัวเองก็เป็นมนุษย์ มีความผิดพลาด อย่ากลัวเสียภาพลักษณ์ และเริ่มเยียวยา–ปรับปรุงต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวเสียที
11. ยังไม่มีแถลงหรือประกาศข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการจากกลุ่มทะลุวังแต่อย่างใด และนอกเหนือจากประเด็นสวัสดิภาพของเยาวชนในขบวนแล้ว การเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังมักถูกวิจารณ์จากสังคมอยู่บ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทาง หนูหริ่ง—สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรม จึงแสดงความคิดเห็นว่า ทะลุวังควรทบทวนวิธีการเคลื่อนไหวเพื่อดึงดูดสังคมและสร้างแนวร่วม ถึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตั้งใจไว้ได้
ท้ายที่สุดแล้ว เหตุการณ์นี้นำพาสังคมเราให้ได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันถึงประเด็นสิทธิ สวัสดิภาพ และความรุนแรงที่เกิดต่อของเยาวชนในขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ แต่กลับยังไม่ถูกพูดถึงเท่าที่ควร
อ้างอิงจาก
https://twitter.com/youaretofuu/status/1688808173652914176?s=20
https://twitter.com/ItsMinute/status/1688857826163306496
https://twitter.com/YokThanalop/status/1688840177270304768