เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้รับการยืนยันจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เธอเสียชีวิตลงแล้วในวันนี้ (14 พฤษภาคม) เมื่อเวลา 11.30 น. หลังทีมแพทย์พยายามช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจ ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันเดียวกัน
โดยกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวกรณีการเสียชีวิตของ บุ้ง ว่าเธอมีอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ซึ่งทางทีมแพทย์ได้ทำการกู้ชีพพร้อมนวดหัวใจ จากนั้นส่งตัวไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เพื่อพยายามกู้ชีวิตผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ ตั้งแต่เวลา 06.20 – 11.22 น. แต่ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา
อาการของเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บุ้งมีอาการซูบผอม น้ำหนักตัวลดไปกว่า 10 กิโลกรัม ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย ท้องเสีย และตัวบวม
อย่างไรก็ดี บุ้งถูกศาลอาญาถอนประกันในคดี ม.112 กรณีทำโพลเรื่องขบวนเสด็จ และถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2567 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 110 วัน หรือ 4 เดือนที่เธอถูกคุมขัง
บุ้งเริ่มอดอาหารและน้ำ เมื่อ 27 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และยุติการคุมขังผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง แต่ที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องไม่เคยได้รับการตอบรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ บุ้งแสดงเจตนาไม่รับการรักษาใดๆ เพื่อยื้อชีวิต พร้อมบริจาคร่างกาย หากเสียชีวิต
1. บุ้งเป็นใคร เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างไร
บุ้ง เป็นนักกิจกรรมวัย 28 ปี ที่ขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองมาหลายปี ตั้งแต่การประท้วงเรื่องการศึกษาของกลุ่มนักเรียนเลว มาจนถึงการผลักดันข้อเรียกร้อง ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ของกลุ่มทะลุวังจวบจนปัจจุบัน
ในช่วงวัยเด็กบุ้งเติบโตขึ้นมาในครอบครัวตุลาการ พ่อเป็นผู้พิพากษา พี่สาวเป็นทนายความ ขณะบุ้งเรียนอยู่ชั้น ม.ปลาย เธอเคยเข้าร่วมม็อบ กปปส. และค่อนข้างเห็นด้วยกับเหตุการณ์การการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน
แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไป เธอเติบโตขึ้นจนรับรู้ข้อเท็จจริงว่า หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุล้อมปราบคนเสื้อแดง เขาคนนั้นเป็นเพียง ‘คนไร้บ้าน’ ที่ถูกสไนเปอร์ยิง
“รู้สึกว่าตัวเองตาสว่าง แล้วก็รู้สึกผิดมากต่อคนเสื้อแดง ตอนนั้นพอวันรุ่งขึ้นมีการจัดกิจกรรม Big Cleaning Day เราก็รับรู้ในแบบที่รัฐบาลต้องการให้เรารู้” บุ้งให้สัมภาษณ์กับศูนย์ทนายฯ พร้อมสะอึกและร้องไห้
นับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนความคิดและมุมมองทางเมืองทั้งชีวิตที่ผ่านมา และนำทางเธอเข้าสู่สนามการเคลื่อนไหวการเมือง
“เรารู้สึกผิดมาตลอด คิดว่าจะต้องออกมาทำอะไรสักอย่างเพื่อพวกเขา บุ้งคิดว่ากลับกันถ้าเป็นเราที่สูญเสีย เป็นคนที่เรารักถูกยิงตายอยู่ตรงนั้น เราจะหาหลักฐานมาเรียกร้องหาความยุติธรรมให้คนเขาไม่ได้เลย มันจะรู้สึกแย่ขนาดไหน” บุ้ง กล่าว
2. เริ่มที่การเคลื่อนไหวเพื่อ ‘การศึกษา’
บุ้งเริ่มต้นเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษาตั้งแต่กลางปี 2563 ด้วยเหตุผลที่ว่า เธอเป็นติวเตอร์และรู้สึกว่าระบบการศึกษาในประเทศไทยล้าหลังหลายอย่าง ทั้งหลักสูตรการสอนที่มันไม่อัปเดตให้ทันสมัย ตีกรอบความคิดของเด็กนักเรียนให้อยู่แต่ในโอวาท ไม่ให้มีความคิดเป็นของตัวเอง
3. ทำ ‘โพล’ เพื่อตั้งคำถามเรื่องสถาบันกษัตริย์
ช่วงพฤศจิกายน 2563 บุ้งได้พูดคุยกับ ทนาย อานนท์ นำภา โดยหนึ่งในหัวข้อในวันนั้น คือ ‘การตั้งคำถามจะเป็นอะไรที่สามารถทำได้โดยที่ไม่ผิดมาตรา 112’ เธอเลยอยากเคลื่อนไหวด้วยการตั้งคำถามที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคม จนกระทั่งได้มาทำกับทะลุวัง จึงได้ทำโพล ‘คุณยินดียกบ้านของคุณให้กับราชวงศ์หรือไม่’ ร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่บุ้งเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เธอถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองถึง 3 คดี ได้แก่ คดีมาตรา 112 จากการทำโพลของทะลุวัง 2 คดี
หนึ่งในนั้นคือ กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จฯ ที่ทำให้เธอถูกส่งไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อ 3 พฤษภาคม 2565 แต่ศาลไม่ให้ประกันตัวบุ้งจึงเริ่มต้นอดอาหารประท้วงไม่ต่างกับปัจจุบัน กระทั่งผ่านไป 94 วัน ศาลจึงมีคำสั่งให้ประกันตัว
4. การประท้วงอดอาหารเพื่อความยุติธรรมอีกครั้ง
ทว่า 26 มกราคม 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว กรณีชุมนุมที่กระทรวงวัฒนธรรม ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าเธอพ่นสีใส่ธงสัญลักษณ์เบื้องสูง และมีคดีละเมิดอำนาจศาล ศาลจึงสั่งลงโทษจำคุก 1 เดือน
โดยบุ้งกล่าวว่า จะไม่ยื่นประกันตัวใหม่หรือขออุทธรณ์ ก่อนถูกนำตัวส่งไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง และวันต่อมาเธอเริ่มประท้วงอดอาหารและน้ำ กระทั้งปัจจุบัน หรือเป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ของการอดอาหารและปฏิเสธการรักษาใดๆ นำไปสู่การเสียชีวิตของเธอ
อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีข้อห่วงใยในเรื่องนี้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม จึงเห็นควรให้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ทำการชันสูตร เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง ซึ่งจะต้องรอผลการชันสูตร นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการฯตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว
ทั้งนี้ รายงานจากศูนย์ทนายฯ เมื่อเดือนมีนาคม ระบุว่า ในปี 2567 มีผู้ต้องขังคดีการเมืองที่อดอาหารประท้วงในเรือนจำ อย่างน้อย 3 คน ได้แก่ บุ้ง เนติพร, ตะวัน ทานตะวัน และแฟรงค์ ณัฐนนท์ โดย บัสบาส มงคล ยุติอดอาหารไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา
“มันไม่ใช่ความผิดของคนที่ประกาศอดอาหาร แต่มันเป็นความผิดของกระบวนการยุติธรรมที่บีบให้เขารู้สึกว่าไม่มีทางเลือก และนี่เป็นทางเลือกสุดท้ายของเขาที่จะต่อต้านความไม่เป็นธรรม” บุ้งกล่าว
อ้างอิงจาก