กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุจากที่จะได้ ‘ทุกคน’ (ยกเว้นผู้ที่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นจากรัฐ) แก้ไขเป็นต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพเท่านั้น จนเกิดเป็นคำถามตามมาว่าทำไมระบบสวัสดิการของผู้สูงอายุถึงไม่ได้เป็นแบบถ้วนหน้า แต่กลับเปลี่ยนเป็นระบบสวัสดิการที่เป็นแบบ ‘สวัสดิการอนาถา’ แทน
ระเบียบดังกล่าวประกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมและมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ดังนั้น ในวันนี้ (15 สิงหาคม) The MATTER จึงอยากชวนทุกคนไปดูรายละเอียดของระเบียบดังกล่าวกัน
1. ใครบ้างที่มีสิทธิได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ?
– ผู้ที่มีสัญชาติไทย
– อายุ 60 ปี บริบูรณ์
– ยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามท่ีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
2. ขั้นตอนการขอรับสิทธิมีอะไรบ้าง?
– องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งไปยังผู้สูงอายุที่มีสิทธิ
– ถ้าผู้สูงอายุประสงค์จะรับเบี้ย ก็ให้แนบเอกสารเพื่อยืนยันสิทธิไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามภูมิลำเนา
– เอกสารที่ต้องใช้ได้แก่ แบบยืนยันสิทธิการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร สำหรับกรณีที่จะรับเบี้ยผ่านธนาคาร
– ในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถแจ้งความประสงค์การรับเงินเบี้ยด้วยตนเองได้ อาจมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้บุคคลอื่นเป็นผู้ไปแจ้งความประสงค์รับเงินเบี้ยยังชีพแทนได้
3. หน่วยงานไหนจะเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ว่าใครเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ?
– คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุจะเป็นผู้กำหนด แล้วกระทรวงมหาดไทยก็ต้องออกระเบียบให้ตรงกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว หลังจากนั้น ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงจะเป็นผู้จ่ายให้กับผู้สูงอายุ
– แต่ในช่วงนี้ ที่ยังไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าว ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้คุณสมบัติผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์เดิม ก็คือตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไปก่อน
4. คนที่ได้รับเบี้ยอยู่แล้วจะหมดสิทธิไหม?
– ไม่หมดสิทธิ โดยผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ก่อนที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ก็ยังมีสิทธิรับเบี้ยต่อไป
5. จะได้เงินเท่าไร?
– อายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท
– อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท
– อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท
– อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
หลังจากที่ระเบียบดังกล่าวประกาศออกมาแล้ว นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ก็ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่ากรณีดังกล่าวจะกระทบกับคนอายุต่ำกว่า 60 ปีทั้งหมด เนื่องจากตัวเลขผู้สูงอายุในไทย ณ สิ้นปี 2565 จากฐานข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีอยู่กว่า 12.6 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพราว 11 ล้านคน นอกนั้นเป็นผู้สูงอายุในกลุ่มข้าราชการเกษียณอายุที่รับเงินบำนาญจากรัฐ
นิติรัตน์ ยังระบุอีกว่าการมีเกณฑ์ที่ต้องจ่ายให้กับผู้ไม่มีรายได้ หรือรายได้ไม่เพียงพอ ก็ต้องใช้งบประมาณเพื่อทำระบบคัดกรองผู้มีสิทธิอีก และจากระบบการจ่ายสวัสดิการรัฐที่ผ่านมา ก็พบว่ายังมีผู้ที่เข้าไม่ถึง
“ตัวระบบพิสูจน์ความจน เมื่อมีเงื่อนไขต่างๆ เกิดขึ้น จะยิ่งทำให้คนจนเข้าไม่ถึง… อย่างเงินอุดหนุนเด็ก งานวิจัยระบุชัดเจนว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนเข้าไม่ถึงสิทธินี้ถึง 30% และระบบถ้วนหน้าซึ่งเป็นสิทธิเสมอกันจะทำให้เด็กเหล่านี้เข้าถึงโดยอัตโนมัติ แม้ว่าจะต้องมีการลงทะเบียน แต่เมื่อมันไม่ต้องมีการพิสูจน์ มันจะต้องเป็นสิทธิที่เข้าถึงเลย” นิติรัตน์กล่าว
อย่างไรก็ดี เมื่อช่วยบ่ายวันนี้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีฯ ในฐานะคณะประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ระบุว่าทางคณะกรรมการฯ ยังไม่มีกำหนดนโยบายปรับลดเงิน ทั้งยังยืนยันว่ายังไม่มีมติปรับลดจำนวนผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน
อ่านระเบียบระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ: ratchakitcha.soc.go.th
อ้างอิงจาก